ธรรมศาสตร์ จับมือ ผู้ผลิตนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น เสริมความแกร่งศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นำ “รถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้า” มาทดสอบเพื่อวิจัย

11 Feb 2016
ธรรมศาสตร์ จับมือ ผู้ผลิตนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น เสริมความแกร่งศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นำ "รถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้า" มาทดสอบเพื่อวิจัยและพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์
ธรรมศาสตร์ จับมือ ผู้ผลิตนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น เสริมความแกร่งศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นำ “รถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้า” มาทดสอบเพื่อวิจัย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) จับมือ บริษัท FOMM Corporation ประเทศญี่ปุ่น และ บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ผลักดันศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดทดสอบ"รถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้า" รถยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็ก 4 ที่นั่ง ที่มีการออกแบบตัวถังรถให้กันน้ำสามารถวิ่งได้ในสภาพน้ำท่วมขัง ตลอดจนสะดวกต่อการถอดเปลี่ยนและชาร์จได้ด้วยไฟบ้านทั่วไป เพื่อเป็นกรณีศึกษาในการวิจัยต่อยอดและพัฒนาทดสอบสมรรถนะ พร้อมวิเคราะห์ความต้องการของตลาดสำหรับการออกแบบการผลิต ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว อยู่ภายใต้โครงการ "เครือข่ายศูนย์ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนในประเทศไทย สาขาสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร" โดยมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้มีศักยภาพเชิงนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น สอดรับกับนโยบายของภาครัฐในการเสริมแกร่งอุตสาหกรรมหลักของไทยให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศอย่างก้าวกระโดด พร้อมรองรับความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่การเป็น "ฮับ" การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำแห่งอาเซียน ทั้งนี้ พิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะผู้บริหารภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมจำนวนมาก

ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งเน้นการศึกษาวิจัย และผลิตบุคลากรคุณภาพป้อนอุตสาหกรรมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมอันเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย โดยล่าสุด มธ.ได้จับมือกับ FOMM Corporation เปิดทดสอบ "รถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้า" ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกของไทย พร้อมเตรียมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในเชิงองค์ความรู้ เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว อยู่ภายใต้โครงการ "เครือข่ายศูนย์ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนในประเทศไทย สาขาสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร" จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเครือข่ายร่วมในการให้บริการและสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยมุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษากับภาคเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศ ในด้านการพัฒนากำลังคนและสินค้านวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ศาสตราจารย์ ดร. สมนึก ตั้งเติมสิริกุล ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) กล่าวเสริมว่า สำหรับการดำเนินเครือข่ายความร่วมมือดังกล่าว ทาง FOMM Corporation บริษัทผู้บุกเบิกผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น ได้ส่งมอบ "รถยนต์พลังงานไฟฟ้าต้นแบบ" จำนวนหนึ่งคันเพื่อใช้ในโครงการความร่วมมือทดสอบสมรรถนะและการใช้งานภายใต้สภาพแวดล้อมของไทยซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเครือข่ายฯ ในการพัฒนางานวิจัย และบุคคลากรร่วมกับภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรมโดยนักศึกษา นักวิจัยและคณาจารย์ของสถาบัน จะได้ร่วมทดสอบสมรรถนะภายในมหาวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัยและวิเคราะห์ความต้องการของตลาด ตลอดจนประเมินแนวทางการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ที่สูงขึ้น เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน ผ่านการปรับโครงสร้างให้มีพื้นฐานที่เหมาะสม อาทิ การบริการสถานที่ชาร์จแบตเตอรี ระยะทางที่เหมาะสมในการจัดวางสถานี พฤติกรรมการขับขี่ที่ประหยัดพลังงานและปลอดภัย ระบบติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ขับขี่กับยานยนต์ และระบบอำนวยความสะดวกต่อผู้ขับขี่

นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ยังกล่าวอีกว่า บางจากฯ มีสถานีบริการน้ำมันกระจายอยู่กว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ จึงมีความพร้อมที่จะจัดเตรียมให้สถานีบริการน้ำมันบางจากเป็นจุดให้บริการชาร์จไฟและถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ รวมทั้งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงขนาดย่อม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ทั้งนี้ การร่วมมือกับ FOMM Corporation และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะนำพาประเทศไทยสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและอนาคตที่ดีของคนไทย

­Mr. Hideo Tsurumaki ประธานกรรมการบริหาร บริษัท FOMM Corporation นำเสนอจุดเด่นของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ได้พัฒนาปรับปรุงขึ้นมาเป็นรุ่นที่สามแล้ว โดยเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขนาด 4 ที่นั่ง ที่เล็กที่สุดคันแรกของโลก (เปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2557) มีการออกแบบตัวถังรถให้กันน้ำ (Bath Tub Design) และมีขอบล้อที่มีลักษณะเป็นใบพัด ทำให้สามารถลอยตัวและขับเคลื่อนได้ในน้ำ แบตเตอรี่ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักได้ถูกออกแบบให้เป็นรูปแบบของคาสเซ็ท (Cassette) ทำให้สะดวกต่อการถอดเปลี่ยนและชาร์จได้ด้วยไฟบ้านทั่วไป ภายในติดตั้งด้วยระบบทำความเย็นกำลังสูงและประหยัดพลังงาน และมีระบบส่งกำลังแบบเฉพาะโดยมีมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนภายในล้อ (In-Wheel Motor Design)

ทั้งนี้ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าถือเป็นกลุ่มสินค้านวัตกรรมอนาคตไกลที่มีโอกาสในการเติบโตสูงจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าตลาดโลกจะมีความต้องการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าประมาณ 541,000 คัน ในปี พ.ศ.2562 (จากความต้องการประมาณ 40,000 คัน ในปี พ.ศ.2554) สำหรับประเทศไทยที่มีความพร้อมทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในระดับแนวหน้าของอาเซียน อันสะท้อนผ่านโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern seaboard) นั้นถือได้ว่ามีศักยภาพทั้งในด้านบุคลากรและแหล่งวัตถุดิบที่จะสามารถต่อยอดประเทศไทยไปสู่การเป็น "ฮับ" ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำแห่งอาเซียนได้ อย่างไรก็ตาม รถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้นยังเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาและพัฒนา โดยความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยนำมาซึ่งองค์ความรู้ที่ทันสมัย ตลอดจนช่วยยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในเชิงนวัตกรรม อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมแกร่งอุตสาหกรรมหลักของไทยให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศอย่างก้าวกระโดด สอดคล้องกับนโยบายที่ภาครัฐกำลังขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน

พิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคณะผู้บริหารภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมจำนวนมาก

ธรรมศาสตร์ จับมือ ผู้ผลิตนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น เสริมความแกร่งศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นำ “รถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้า” มาทดสอบเพื่อวิจัย ธรรมศาสตร์ จับมือ ผู้ผลิตนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น เสริมความแกร่งศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นำ “รถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้า” มาทดสอบเพื่อวิจัย ธรรมศาสตร์ จับมือ ผู้ผลิตนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น เสริมความแกร่งศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นำ “รถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้า” มาทดสอบเพื่อวิจัย