IFA ไฟเขียว UWC ซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล 2 โรง 17.4 MW เป๋าตุงปีละ 340 ลบ. ตุนพอร์ทไฟฟ้าในมือกว่า 48 MW

21 Jan 2016
'เอื้อวิทยา' เดินหน้าซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 2 แห่ง กำลังการผลิต 17.4 MW หลัง IFA แนะผู้ถือหุ้นลงทุน คาดขายไฟได้ Q2 และQ3 ปีนี้ ตั้งเป้าบุ๊ครายได้ 340 ลบ.ต่อปี กำไรกว่า 60 ลบ.ดันพอร์ทไฟฟ้าเพิ่มเป็น 48 MW
IFA ไฟเขียว UWC ซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล 2 โรง 17.4 MW เป๋าตุงปีละ 340 ลบ. ตุนพอร์ทไฟฟ้าในมือกว่า 48 MW

นายพีรทัศน์ ธนรัชต์วัฒนา กรรมการผู้จัดการสายปฏิบัติการโรงไฟฟ้า บริษัท เอื้อวิทยา จำกัด(มหาชน) หรือ UWC เปิดเผยว่า ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ หรือ IFA ได้มีรายงานสรุปความเห็นกับผู้ถือหุ้นให้อนุมัติเข้าลงทุน โรงไฟฟ้าชีวมวล 2 แห่งในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ โรงไฟฟ้า แอ๊ดวานซ์ ไบโอพาวเวอร์ (ADVANCE) และโรงไฟฟ้า สตึกไบโอแมส (SATUK) กำลังการผลิตติดตั้งรวม 17.4 เมกะวัตต์ โดยจะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 26 มกราคม 2559 เพื่ออนุมัติการลงทุนโครงการนี้ ซึ่งทำให้ UWC จะมีกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าในกลุ่มรวมกว่า 48 เมกะวัตต์ โดยนับรวมโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เฟส 2 ที่เพิ่งได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มล่าสุด

นายพีรทัศน์ กล่าวต่อว่า โดยการเข้าลงทุนทั้ง 2 โครงการมีมูลค่าการลงทุนรวม 923 ล้านบาท โดย UWC จะเข้าถือหุ้น 99.99% คาดว่าจะสร้างรายได้จากการขายไฟได้ประมาณ 340 ล้านบาทต่อปี และมีประมาณการกำไรก่อนหักดอกเบี้ย และภาษี หรือ EBIT กว่า 60 ล้านบาทต่อปี โดย ADVANCE มีแผนจะขายไฟเข้าระบบในไตรมาส 2 และ SATUK ในไตรมาส 3 ของปีนี้ รวมถึงโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงยังมีช่วงเวลาที่ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ไปจนถึงปี 2564 และ 2560 ตามลำดับ โดยการลงทุนในโครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรายได้จากธุรกิจพลังงานในปี 2559 ที่ UWC มีแผนเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการขายไฟฟ้าเป็น 60% ขณะที่สัดส่วนรายได้ในการผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงจะอยู่ที่ 40%

ในขณะที่การเข้าไปซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล และปรับปรุงโรงไฟฟ้า TRCCE ที่จังหวัดนครราชสีมา กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เมื่อปลายปี 2558 โดยได้เริ่มผลิต และขายไฟให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2558 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีรายได้จากการขายไฟกว่าปีละ 200 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯได้ดำเนินการปรับปรุงระบบการผลิตไฟฟ้าที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มีต้นทุนสูง ให้เหลือการใช้แกลบเพียง 10% เท่านั้น เพื่อลดต้นทุนและปรับปรุงระบบให้สามารถใช้เชื้อเพลิงแบบผสมผสานที่มีต้นทุนต่ำลง รวมถึงการบริหารโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้านี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง

"เราได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จจากการเข้าไปซื้อโรงไฟฟ้าที่จังหวัดนครราชสีมา จากการบริหาร และจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการลงทุนในโรงไฟฟ้าอีก 2 โรงล่าสุด จะมีการขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 มกราคมนี้ ซึ่งจะดำเนินการตามขั้นตอนในการเข้าซื้อหุ้นตามสัญญาซื้อขายหุ้น และทางทีมวิศวกรรมก็จะเริ่มเข้าไปดำเนินการตามแผนงานปรับปรุงโรงไฟฟ้า เพื่อให้การดำเนินงานของทั้ง 2 โรงนี้ ประสบความสำเร็จด้วยเช่นเดียวกัน" นายพีรทัศน์กล่าว