การฟื้นตัวของตลาดหุ้นและการดีดขึ้นของราคาน้ำมันล่าสุดน่าจะเป็นเรื่องชั่วคราวและแสดงถึงความผันผวนของตลาดการเงินโลก

25 Jan 2016
เนื่องจากผลกระทบของปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและวิกฤติฟองสบู่ตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ และการปรับตัวลงของราคาสินทรัพย์ทางการเงิน ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงดำเนินต่อไปอีกนานพอสมควร คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนปีนี้น่าจะต่ำกว่า 5% (ต่ำกว่าที่ IMF หรือทางการจีนคาดการณ์ไว้ที่ 6-6.5%)

ผลกระทบจากปัจจัยจีนบวกกับแรงกดดันทางการค้าจากชาติตะวันตกที่อ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนและประเด็นการใช้แรงงานทาส การทบทวนจีเอสพีของสหรัฐฯอาจทำให้ภาคส่งออกของไทยมีอัตราการขยายตัวส่งออกติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่สี่ อย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวลงของค่าเงินบาทจะช่วยกระตุ้นการส่งออกได้บ้าง

คาดผลกระทบรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจการค้าการผลิตของโลกและไทยหากฟองสบู่ในตลาดการเงินพัฒนาสู่วิกฤตการณ์ในภาคเศรษฐกิจจริง ผ่านการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนในตลาดการเงินและภาคสถาบันการเงิน การลดค่าเงินหยวนและปัญหาเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อไทยมากผ่านหลายช่องทาง

เศรษฐกิจจีนจะเข้าสู่ภาวะขาลงชัดเจน สถาบันการเงินและตลาดเงินในญี่ปุ่น ยุโรป เอเชียและสหรัฐอเมริกาไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ ปัญหาธุรกรรมธนาคารเงา Shadow Banking ในจีนโดยเฉพาะตราสาร CDOs จะนำมาสู่ปัญหาวิกฤตการณ์สินเชื่อซับไพร์มของสหรัฐฯปี 2552 แต่จะมีระดับความรุนแรงน้อยกว่า

หากเศรษฐกิจจีนในภาพรวมชะลอตัวลงต่ำว่า 6% ในปีนี้ รัฐบาลไทยต้องใช้มาตรการแก้ไขโดยเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเต็มที่ เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเต็มที่ และ ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำกว่า 1% จึงจะประคับคองไม่ให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ให้จับตาการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของค่าเงินริงกิตของมาเลเซียและค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียรอบใหม่หลังจากเคยเกิดขึ้นปลายไตรมาสสามและต้นไตรมาสสี่ปีที่แล้ว

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้ประเมินการฟื้นตัวของตลาดหุ้นและการดีดขึ้นของราคาน้ำมันล่าสุดว่า น่าจะเป็นเรื่องชั่วคราวและแสดงถึงความผันผวนของตลาดการเงินโลก เนื่องจากผลกระทบของปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและวิกฤติฟองสบู่ตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ การปรับตัวลงของราคาสินทรัพย์ทางการเงิน ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงดำเนินต่อไปอีกนานพอสมควร โดยตนคาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนปีนี้น่าจะต่ำกว่า 5% (ต่ำกว่าที่ IMF หรือทางการจีนคาดการณ์ไว้ที่ 6-6.5%)

ผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน วิกฤติฟองสบู่ในจีน และการลดค่าเงินหยวนหรือริหมินปี้ของจีนจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกซับซ้อนกว่าที่คาดการณ์กัน การเคลื่อนไหวลดค่าเงินอย่างฉับพลันสะท้อนวิกฤตการณ์ฟองสบู่จีนอาจรุนแรงกว่าที่คิดและเพิ่มความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นมากขึ้นแต่อาจทำให้มีการปรับสมดุลในระยะยาว ขณะที่จีนพยายามดิ้นรนเพื่อรักษาระดับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ การตัดสินใจใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการลดค่าเงินแล้วเข้าแทรกแซงเมื่อเงินหยวนอ่อนค่ามากเกินไปเปิดช่องให้เกิดการเก็งกำไรเกินขนานโดยกองทุนเก็งกำไรได้ ปัจจัยนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งด้านบวกและด้านลบ ผลกระทบจากปัจจัยจีนบวกกับแรงกดดันทางการค้าจากชาติตะวันตกที่อ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนและประเด็นการใช้แรงงานทาส การทบทวนจีเอสพีของสหรัฐฯอาจทำให้ภาคส่งออกของไทยมีอัตราการขยายตัวการส่งออกติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่สี่ การติดลบต่อเนื่องสี่ปีนี้สะท้อนถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างของภาคการผลิตเพื่อการส่งออกของไทยที่ไม่สามารถยกระดับตัวเองไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้นด้วยนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวลงของค่าเงินบาทจะช่วยกระตุ้นการส่งออกได้บ้าง การลดค่าเงินเป็นเพียงสัญญาณช่วงแรกของวิกฤติฟองสบู่จีนที่มีลักษณะบางอย่างคล้ายวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเอเชียปี พ.ศ. 2540 และจะมีประเทศอาเซียนอีกสองประเทศที่อาจมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ คือ อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย

ต้องเตรียมรับมือวิกฤตการณ์เศรษฐกิจจีนจากฟองสบู่แตกในตลาดการเงินและอสังหาริมทรัพย์ให้ดี เงินทุนเก็งกำไรระยะสั้นส่วนหนึ่งอาจไหลเข้าตลาดไทยและอาเซียนบ้าง คาดผลกระทบรุนแรงขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจการค้าการผลิตของโลกและไทยหากฟองสบู่ในตลาดการเงินจีนพัฒนาสู่วิกฤตการณ์ในภาคเศรษฐกิจจริง ผ่านการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนในตลาดการเงิน ปัญหาเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อไทยมากกว่าเศรษฐกิจยูโรโซนมากมายหลายเท่าโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปัญหาหนี้สินกรีซ ตลาดหุ้นจีนที่ปรับตัวลงกว่า 30% ในช่วงเวลาเพียง 3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้เป็นสัญญาณว่าปัญหาฟองสบู่มีความรุนแรง แม้นทางการจีนอัดฉีดเงินจำนวนเข้ามาเพื่อประคองตลาดแต่จะไม่ยั่งยืน อาจต้องค่อยๆปล่อยให้ราคาสะท้อนภาวะตลาดและเศรษฐกิจ ภาวะทรุดตัวลงของตลาดการเงินเกิดขึ้นจากปัจจัยทางเศรษฐกิจล้วนๆหรือเป็นการผสมโรงเพื่อโจมตีตลาดการเงินเพื่อเป้าหมายบางประการยังไม่อาจแสวงหาข้อเท็จจริงได้ในขณะนี้ สัญญาณของฟองสบู่ในจีนได้ปรากฏชัดมาหลายปีแล้ว และมาตรการที่รัฐบาลจีนใช้อยู่เวลานี้เป็นเพียงมาตรการพยุงราคาสินทรัพย์ทางการเงินได้ระยะหนึ่งเท่านั้น มาตรการการปฏิรูปตลาดทุนและเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเปิดเสรีเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้หากจีนยังคงยึดมั่นในเส้นทางการพัฒนาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีมากขึ้น

โครงสร้างนักลงทุนในตลาดหุ้นจีนมีสัดส่วนของรายย่อยชนชั้นกลางจำนวนมากทำให้การปรับตัวลงของราคาหุ้นส่งผลกระทบต่อประชาชนมาก นอกจากนี้ ยังพบว่า กองทุนภายใต้การบริหารของ บลจ ไทยที่ลงทุนในตลาดหุ้นจีนประมาณ 17 กองทุนมีผลตอบแทนลดลงอย่างชัดเจนโดยเฉพาะผู้เข้าลงทุนในช่วงต้นปีที่แล้วในช่วงที่ดัชนีตลาดหุ้นอยู่ขึ้นไปสูงสุด การลงทุนของกลุ่มทุนจีนสู่ไทยจะชะลอตัวลงเพราะกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาลงโครงการใหญ่เป็นกลุ่มทุนที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้วิ

กฤตการณ์ฟองสบู่ในจีนครั้งนี้เป็นภาวะปรกติที่มักเกิดขึ้นในระบบทุนนิยมตามวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) และสิ่งนี้สะท้อนว่า ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมกลไกตลาดและระบอบอำนาจนิยมภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์นั้นไม่สอดคล้องกัน ก่อให้เกิดวิกฤติและปัญหาเรื่องเสถียรภาพได้ การแสวงหากำไรอย่างเสรี กลไกตลาดไปด้วยกันไม่ได้กับระบบการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ กลไกตลาดไปกันได้ดีกับระบบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย ระบบรวมศูนย์อำนาจภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ต้องควบคู่ไปกับระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางและการวางแผนการผลิตเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพียงปัจเจกชนรายใดรายหนึ่ง วิกฤติครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่า ทุนนิยมโดยรัฐสังคมนิยมแบบจีนมีจุดแข็งจุดอ่อนตรงไหน และ วิกฤติครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในจีนหลังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในยุคสี่ทันสมัย (เติ้ง เสี่ยว ผิง)ช่วงทศวรรษ 1980 และ ยุคอภิวัฒน์ใหญ่จีนโดยพรรคคอมมิวนิสต์ (เหมา เจ๋อ ตุง) เมื่อ ค.ศ. 1949 ดร. อนุสรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวอีกว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมภาคอสังหาริมทรัพย์ 20% ของจีดีพีจีน มีโอกาสที่จะเกิดภาวะฟองสบู่แตก ภาคการเงินของจีนจำเป็นต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่เนื่องจากมีธุรกรรมนอกระบบจำนวนมาก มี off-balance sheets activities/transactions จำนวนมาก นอกจากนี้ Shadow Banking (ธนาคารเงา) ยังคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 43% ของจีดีพี ปัญหาธุรกรรมธนาคารเงา Shadow Banking ในจีนโดยเฉพาะตราสาร CDOs จะนำมาสู่ปัญหาวิกฤตการณ์สินเชื่อซับไพร์มของสหรัฐฯปี 2552 แต่จะมีระดับความรุนแรงน้อยกว่า ธุรกิจธนาคารเงาไม่มีการกำกับดูแลจากธนาคารกลางเข้มงวดเท่าธนาคารพาณิชย์ ตัวอย่างของ Shadow Banking ที่เกิดขึ้นในจีน กรณีกองทรัสต์ออกตราสารทางการเงินที่มีสินทรัพย์หรือลูกหนี้สินเชื่อหนุนหลังขายให้กับนักลงทุนรายย่อยและสถาบันซึ่งได้ผลตอบแทนสูงมาก โดยเฉพาะหนี้พวกนี้เป็นสินเชื่อหรือการลงทุนให้กู้แก่กิจการอสังหาริมทรัพย์ โครงการหรือบริษัทของรัฐบาลท้องถิ่น (ซึ่งหลายโครงการก็มีการทุจริตคอร์รัปชันมากภายใต้การบริหารงานแบบอำนาจนิยมไร้การตรวจสอบ) โครงการกิจการพลังงานขนาดใหญ่ เป็นต้น แหล่งรายได้ของกองทรัสต์ที่ออกตราสารแบบ CDOs (Collateralized Debt Obligations) มาจากคุณภาพในการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าว ซึ่งเวลานี้คุณภาพของสินเชื่อเหล่านี้เสื่อมลงเรื่อยๆ อันเป็นผลจากเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนปัจจุบันต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี การปรับตัวลดลงของสินทรัพย์ทางการเงิน การปล่อยสินเชื่ออย่างไม่ระมัดระวังและการใช้ใช้นโยบายผ่อนคลายมายาวนานจนก่อให้เกิดการเก็งกำไรจำนวนมาก และ ไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง Shadow Banking แม้นมีประโยชน์ต่อระบบการเงินและการพัฒนาเศรษฐกิจแต่ต้องมีการกำกับดูแลที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน (Systematic Risk) จากธนาคารเงา ธนาคารเงามีความเชื่อมโยงกับธนาคารพาณิชย์ เช่น เป็นคู่สัญญากับธนาคารพาณิชย์เพื่อถ่ายโอนความเสี่ยงผ่านการทำธุรกรรม Securitization จึงต้องกำกับธนาคารเงาในเรื่องประเภทสินทรัพย์ที่ถือครอง เกณฑ์สภาพคล่องและการเปิดเผยข้อมูลการลงทุน

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ในฐานะอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่า ธุรกรรมของระบบสถาบันการเงินไทยมีการปล่อยกู้และปล่อยกู้ร่วมกับสถาบันการเงินของจีนค่อนข้างมาก ธุรกรรมปล่อยสินเชื่อครอบคลุมทั้งกิจการของธุรกิจไทยในจีน ธุรกิจจีนในไทย ธุรกิจส่งออกนำเข้าระหว่างสองประเทศ และเอสเอ็มอีของจีน ประเมินมูลค่าธุรกรรมเบื้องต้นไม่น่าจะต่ำกว่า 2 ล้านล้านหยวน หากระบบสถาบันการเงินของจีนอ่อนแอลงย่อมส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของไทยอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แม้นว่า เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงและฐานะการเงินทั้งระบบของสถาบันการเงินไทยจะแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความเสี่ยงต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกอีกประการหนึ่ง ก็คือ จีนเข้าไปลงทุนและถือหุ้นในหลายกิจการในสหรัฐอเมริกา จีนถือพันธบัตรสหรัฐอเมริกา ถือเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯจำนวนมากในทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน และเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐฯหากจีนมีปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินและจำเป็นต้องขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และ ดอลลาร์ออกมาในตลาดการเงินโลกจำนวนมากในเวลาอันสั้นจะส่งผลต่อความผันผวนเศรษฐกิจการเงินโลกได้และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มูลค่าพันธบัตรลดลงและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ โครงการลงทุนต่างๆที่ไทยได้ร่วมกับจีนอาจมีการชะลอตัว ผลกระทบทางด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวต่อไทยมีพอสมควร ทางด้านการค้าระหว่างประเทศ ตลาดจีนคิดเป็นสัดส่วน 11-12% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด (โดยมูลค่าส่งออกไทยไปจีนปีที่แล้วไตรมาสแรกติดลบ 14.4% ไตรมาสสอง 1% ไตรมาสสาม -1.0% เดือนกันยายนมูลค่าส่งออกไทยไปจีนกลับมาติดลบมากกว่า 5%) อัตราการขยายตัวของการนำเข้าของจีนจะไม่สูงเหมือนในอดีตเพราะจีนมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหันมาผลิตสินค้าในห่วงโซ่ภายในประเทศมากขึ้นหรือ เป็น Horizontal Integration มากขึ้นนั่นเอง นโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนที่หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการผลิตจีนจึงพึ่งพาการน้าเข้าสินค้าขั้นกลางน้อยลง มีการเปลี่ยนแปลงรสนิยมการบริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของผู้บริโภคในตลาดโลกจาก Notebook ไปเป็น Tablet และ Smartphone ส่งผลให้การส่งออก HDD ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกส้าคัญของไทยในกลุ่ม Re-Processing For Export หดตัวมาก ส่วนการลงทุนของจีนในไทยไม่ได้ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนมากนักเพราะการลงทุนส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนระยะยาวและเป็นโครงการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ ที่มีผลกระทบอยู่บ้างคือการลงทุนในตลาดการเงินและการถือหุ้นที่เป็น Foreign Portfolio Investment รายได้การท่องเที่ยวจีนเข้าสู่ไทยคิดเป็น 19% ของรายได้นักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด โดยภาคการท่องเที่ยวไม่น่ามีผลกระทบมากนัก หากเศรษฐกิจจีนในภาพรวมชะลอตัวลงต่ำว่า 6.5% ในปีนี้ รัฐบาลต้องใช้มาตรการแก้ไขโดยเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเต็มที่ เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเต็มที่ และ ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำกว่า 1% จึงจะประคับคองไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด นอกจากนี้ต้องระวังผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการไม่ระมัดระวังในการปฎิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล เพราะสิ่งนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการคว่ำบาตรหรือกดดันต่อเศรษฐกิจไทยโดยอ้างเหตุผลเรื่องสิทธิมนุษยชน เราสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ได้ด้วยการดำเนินนโยบายสิทธิมนุษยชนอย่างระมัดระวัง ทั้งประเด็นสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ และ เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย เช่น กรณีโรฮิงยา กรณีอุยกูร์ เป็นต้น

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า จีนเกินดุลชำระเงิน เกินดุลการค้าจำนวนมากต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารกลางของจีนต้องซื้อเงินดอลลาร์และขายเงินหยวน ทำให้เงินหยวนเพิ่มขึ้นในระบบอย่างต่อเนื่องแม้นธนาคารกลางจะดูดซับออกแต่ไม่เพียงพอจึงทำให้เกิดการสะสมของฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจการเงินอย่างต่อเนื่อง เมื่อเผชิญกับภาวะช็อคในระบบเศรษฐกิจจึงหลีกเลี่ยงความผันผวนอย่างรุนแรงทั้งขึ้นและลง (Boom and Bust Cycle) ยาก การที่ทางการจีนต้องการให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักของโลกในอนาคตทำให้มีความจำเป็นต้องเปิดเสรีภาคการเงินมากขึ้น และทำให้ "เงินหยวน" เคลื่อนไหวในตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ความสามารถในการควบคุม "เงินหยวน" โดยธนาคารกลางจีนลดลง ขณะเดียวกัน "เงินหยวน" กลายเป็นเป้าหมายของกองทุนเก็งกำไรค่าเงินที่หาประโยชน์ในลักษณะ Arbritrage Opportunity ระหว่างตลาด onshore และ offshore ของเงินหยวน และมีแนวโน้มที่เงินหยวนอาจอ่อนค่าลงได้อีกจากเงินทุนเก็งกำไรระยะสั้นไหลออก (Short-term Speculative Capital Outflow) สิ่งนี้จะมีผลต่อทิศทางของค่าเงินสกุลเงินเอเชียและเงินบาทอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้นอกเหนือจากปัจจัยภายในของแต่ละประเทศ โดยให้จับตาการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของค่าเงินริงกิตของมาเลเซียและค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียรอบใหม่หลังจากเคยเกิดขึ้นปลายไตรมาสสามและต้นไตรมาสสี่ปีที่แล้ว การอ่อนตัวรอบนี้จะมีกระแสเก็งกำไรและเงินไหลออกมากกว่ารอบที่แล้วจากผลกระทบของการอ่อนตัวของราคาน้ำมัน วิกฤติฟองสบู่จีนและการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ