พม. เดินหน้าจัดระเบียบขอทาน ครั้งที่ ๗ พบส่วนใหญ่เป็นคนพิการ พร้อมทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ และสร้างความเข้าใจ (ร่าง) พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. ....

22 Mar 2016
วันนี้ (๑๘ มี.ค. ๕๙) เวลา ๑๗.๔๕ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) ได้ขับเคลื่อนการดำเนินการจัดระเบียบขอทานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ ๗ - ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ได้จัดระเบียบขอทานเป็นครั้งที่ ๗ พร้อมทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Mini Research) เพื่อสร้างความรู้ และเตรียมความพร้อมการบังคับใช้ (ร่าง) พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. .... ฉบับใหม่

นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดระเบียบขอทาน ครั้งที่ ๗ พบว่า มีขอทานทั้งหมดจำนวนทั้งสิ้น ๓๑๑ ราย ส่วนใหญ่เป็นขอทานคนไทย ๒๑๗ ราย และขอทานต่างด้าว ๙๔ ราย ซึ่งจังหวัดที่พบขอทานมากที่สุด ๓ อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน ๓๕ ราย จังหวัดชลบุรี จำนวน ๒๘ ราย และจังหวัดสุรินทร์ ๑๑ ราย โดยลักษณะของขอทานที่พบมากที่สุดเป็นผู้พิการ ๑๔๐ ราย คิดเป็นร้อยละ ๔๕ นอกจากนี้ยังพบขอทานเป็นผู้สูงอายุ ๒๖ ราย คิดเป็นร้อยละ ๘.๓๖ และเป็นขอทานที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ๒๕ ราย คิดเป็นร้อยละ ๘.๐๓ โดยในจำนวนนี้เป็นขอทานเด็กที่มากับแม่ที่เป็นคนไทย ๑๔ ราย และมากับแม่ที่เป็นต่างด้าว ๗ ราย อีกทั้งเป็นขอทานเด็กที่มาขอทานโดยลำพัง ๔ ราย สำหรับจุดที่พบขอทานมากที่สุด ๓ อันดับแรก คือ ตลาด ๒๐๕ ราย คิดเป็นร้อยละ ๖๖ แหล่งชุมชน ๔๓ ราย คิดเป็นร้อยละ ๑๔ และแหล่งท่องเที่ยว ๒๕ ราย คิดเป็นร้อยละ ๘ ขณะที่รายได้โดยเฉลี่ยของคนขอทานที่พบส่วนใหญ่ ไม่เกิน ๓๐๐ บาทต่อวัน ส่วนสาเหตุสำคัญของการมาขอทานส่วนใหญ่มาจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ (ยากจน) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการจัดระเบียบขอทานครั้งนี้ ยังไม่พบกรณีเข้าข่ายการค้ามนุษย์

"กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการขอทานอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน เพื่อให้คนขอทาน ได้รับการพัฒนาศักยภาพ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ และไม่กลับมากระทำการขอทานซ้ำ ซึ่งทำให้บุคคลเหล่านี้ได้รับการยอมรับในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมในสังคม พร้อมทั้ง สร้างการรับรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคม ตามแนวทาง "ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน" และรณรงค์เรื่องหยุดการขอทานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากพบเห็นคนไร้ที่พึ่ง ขอทาน สามารถแจ้ง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร. ๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง" นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย