บีโอไอรุกแผนส่งเสริมลงทุนไทยในต่างประเทศ เล็ง MOU 4 ประเทศกลุ่มตลาดใหม่เอื้อนักลงทุน

29 Feb 2016
บีโอไอเดินหน้าแผนส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ เน้นสร้างเครือข่าย-ความร่วมมือกลุ่มประเทศเป้าหมาย เผย ปี 2559 เตรียมจับมือ 4 ประเทศกลุ่มตลาดใหม่ ลงนามเอ็มโอยู อำนวยความสะดวกนักลงทุน พร้อมร่วมมือ 5 ประเทศ ในกลุ่มซีแอลเอ็มวี และอินโดนีเซีย จัดกิจกรรมใหญ่ ทีโอไอฟอรั่ม ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ชี้ผลสำเร็จของหลักสูตรสร้างนักลงทุนไทย หลังจัดมา 9 รุ่น สามารถผลิตนักลงทุนลงทุนในต่างประเทศแล้ว 333 ราย
บีโอไอรุกแผนส่งเสริมลงทุนไทยในต่างประเทศ เล็ง MOU 4 ประเทศกลุ่มตลาดใหม่เอื้อนักลงทุน

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงทิศทางการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ ปี 2559 ว่า บีโอไอ จะเร่งเดินหน้าดำเนินตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งด้านการให้ความช่วยเหลือนักลงทุน การให้ข้อมูล เชิงลึกในรายอุตสาหกรรมทุกด้านที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ การจัดฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักลงทุนไทย และการจัดบริการให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาให้กับนักลงทุนโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ รวมถึงการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือในระดับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในประเทศเป้าหมาย

ทั้งนี้บีโอไอได้กำหนดประเทศและกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยมีศักยภาพสำหรับนักลงทุนในการเข้าไปดำเนินธุรกิจ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. ประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ) จะเน้นให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตร ชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ อาหารทะเลแปรรูป วัสดุก่อสร้าง 2. กลุ่มอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน เน้นไปที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ จักรยานยนต์ อาหารทะเลแปรรูป ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปิโตรเคมี และ 3.ประเทศตลาดใหม่ ได้แก่ ยูกันดา ศรีลังกา มองโกเลีย อุซเบกิสถาน เน้นไปที่อุตสาหกรรม ประมง สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง เหมืองแร่พลังงานทดแทน และเกษตรและเกษตรแปรรูป

"บีโอไอ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนมาตั้งแต่ปี 2539 ถึงปัจจุบันซึ่งนอกจากการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศด้วยการให้ข้อมูลเชิงลึก และกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการแล้ว ยังได้ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนในการตัดสินใจเข้าไปดำเนินกิจการ อีกด้วย" นางหิรัญญา กล่าว

นางสาวชลลดา อารีรัชชกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ บีโอไอ กล่าวว่า ปีนี้ บีโอไอจะเพิ่มมิติในการส่งเสริมการลงทุนที่จะให้ข้อมูล และอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนให้ครอบคลุมแบบเจาะลึกมากขึ้น ทั้งประเภทกิจการเป้าหมายสำหรับนักธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนในแต่ละประเทศ รวมถึงจัดกิจกรรมนำคณะนักธุรกิจเดินทางไปศึกษาโอกาสลู่ทางการลงทุน และสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศรวม 24 ครั้ง รวมถึงการจัดสัมมนาเผยแพร่การลงทุน 2 ครั้งทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค

นอกจากนี้จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการส่งเสริมการลงทุนใน 4 ประเทศกลุ่มตลาดใหม่ เพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (เอ็มโอยู) ส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทย นอกจากนี้ยังจะจัดให้มีสัมมนาครั้งใหญ่ในระดับหน่วยงานระดับประเทศภายใต้ชื่อ "ทีโอไอ ฟอรัม" (TOI FORUM) ครั้งที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งเบื้องต้นได้รับความร่วมมือจาก 5 ประเทศ ในกลุ่มซีแอลเอ็มวี และอินโดนีเซีย จัดเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนเพื่อร่วมให้ข้อมูล และศักยภาพของแต่ละประเทศ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ในด้านความรู้และข้อมูลที่แท้จริงให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประกอบการตัดสินใจเข้าไปลงทุนต่อไป

นางสาวชลลดา กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงาน ตามหลักสูตร " สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ " ที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จด้วยดี โดยมีผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้วทั้งสิ้น 9 รุ่น รวมจำนวน 333 ราย พบว่ามีนักลงทุนที่ผ่านการฝึกอบรม และมีโครงการจะเข้าไปลงทุนหรือร่วมทุนในต่างประเทศแล้ว 36 ราย กระจายการลงทุนอยู่ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารสำเร็จรูป ประมง ธุรกิจบริการ โรงไฟฟ้า และพลังงานทดแทน เป็นต้น โดยประเทศที่นักลงทุนได้ตัดสินใจเข้าไปลงทุน อาทิ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว เมียนมา กัมพูชา ศรีลังกา และสิงคโปร์ เป็นต้น