ฮาวาสริเวอร์ออคิดยืนยันสินค้าไทยมีความได้เปรียบและมีโอกาสโตในตลาด CLMV ผู้บริโภคใน CLMV ให้ความเชื่อมั่นในคุณภาพและภาพลักษณ์ของสินค้าไทยสูงสุด

22 Aug 2016
ฮาวาสริเวอร์ออคิดเปิดเผยผลจากการวิจัย เกี่ยวกับระดับความเชื่อมั่นของแหล่งที่มา ภาพลักษณ์ และคุณภาพของสินค้า ที่ผู้บริโภคในกลุ่มประเทศ CLMV มีต่อสินค้าไทยเทียบกับต่างประเทศ หลังจากได้รายงานผลการศึกษาในเมียนมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบผู้บริโภคในกลุ่ม CLMV ทั้ง 4 ประเทศ ให้ความเชื่อมั่นในแหล่งที่มา คุณภาพและภาพลักษณ์ของสินค้าไทยอยู่ระดับสูงสุด เร่งผู้ประกอบการใช้ความได้เปรียบนี้บุกตลาด CLMV
ฮาวาสริเวอร์ออคิดยืนยันสินค้าไทยมีความได้เปรียบและมีโอกาสโตในตลาด CLMV ผู้บริโภคใน CLMV ให้ความเชื่อมั่นในคุณภาพและภาพลักษณ์ของสินค้าไทยสูงสุด

นายสันติพงศ์ พิมลแสงสุริยา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทฮาวาสริเวอร์ออคิด ผู้ให้บริการธุรกิจสื่อสารการตลาดในCLMV เปิดเผยผลการวิจัยผู้บริโภคในกลุ่ม CLMV ทั้ง 4 ประเทศว่ากลุ่มบริษัทฮาวาสริเวอร์ออคิด ได้ทำการวิจัยเมื่อไตรมาส 2ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาหาข้อมูล consumer insight ในตลาด CLMV เกี่ยวกับระดับความเชื่อมั่นของแหล่งที่มา ภาพลักษณ์ และคุณภาพของสินค้าไทยและสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าจากสิงค์โปร, จีน, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, เกาหลี, ยุโรป,ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จากกลุ่มตัวอย่างรวม 2,016 คน จาก 4 กลุ่มประเทศใน CLMV ประเทศละ 504 คน โดยในภาพรวม สินค้าไทยได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคอยู่ในระดับสูงในทุกด้าน

จากการวิจัยพบว่าผู้บริโภคในกลุ่ม CLMV ทั้ง 4 ประเทศ มีความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาของสินค้า ดังนี้ ผู้บริโภคในกัมพูชาและลาวให้ความเชื่อมั่นกับสินค้าที่มาจากไทยสูงสุดเท่ากับสินค้าที่มาจากญี่ปุ่น เช่นเดียวกับผู้บริโภคในเมียนมาที่ให้ความเชื่อมั่นกับสินค้าที่มาจากไทยสูงสุดเท่ากับสินค้าที่มาจากยุโรป ในขณะที่ผู้บริโภคในเวียดนาม ให้ความเชื่อมั่นกับสินค้าที่มาจากไทยเป็นอันดับสองรองจากสินค้าจากญี่ปุ่นด้านความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้า พบว่าสินค้าไทยได้รับความเชื่อมั่นอยู่ในระดับสูง 8 ถึง 9 คะแนนจาก 10 คะแนนเต็ม โดยในกัมพูชา ลาว และเมียนมา ผู้บริโภคให้ระดับความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทยสูงเทียบเท่ากับคุณภาพของสินค้าที่มาจากญี่ปุ่น ส่วนในเวียดนาม สินค้าไทยได้รับการให้คะแนนความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าเป็นอันดับสองรองจากสินค้าที่มาจาก ญี่ปุ่น, อเมริกา, Australia และนิวซีแลนด์ โดยให้คะแนนคุณภาพของสินค้าไทยเท่ากับสินค้าที่มากจากเกาหลี และยุโรป

ทางด้านความเชื่อมั่นในภาพลักษณ์ของสินค้า จากการวิจัยพบว่า ผู้บริโภคใน CLMV ให้ระดับความเชื่อมั่นในภาพลักษณ์ของสินค้าไทยสูงสุด และให้ระดับความเชื่อมั่นเท่ากับสินค้าที่มากจากญี่ปุ่น โดยในกัมพูชา ผู้บริโภคให้ระดับความเชื่อมั่นของสินค้าไทยเท่ากับญี่ปุ่นและเกาหลี ในเวียดนาม ผู้บริโภคให้ระดับความเชื่อมั่นในสินค้าไทยเท่ากับญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

นายสันติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าจากความได้เปรียบในด้านความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคในตลาด CLMV มีต่อสินค้าไทย ทำให้ไม่มีประเทศใดมีความได้เปรียบเท่ากับไทย เพราะนอกจากความได้เปรียบด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีให้กับสินค้าจากไทยแล้ว ไทยยังได้เปรียบทั้งทางด้านภูมิประเทศที่ติดกับประเทศในกลุ่ม CLMV ทำให้สามารถทำการค้าขายและการขนส่งสินค้าข้ามเขตชายแดนได้ รวมถึงมีความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเข้าไปทำตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ควรทำธุรกิจแบบเข้าไปแบบหวังผลระยะสั้น เนื่องจากจะส่งผลกับความน่าเชื่อถือของสินค้าไทยในระยะยาว

"การรู้จักตลาดและผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการเข้าไปทำตลาดใน CLMV เราแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยทำวิจัยและวางแผนธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนกิจการอย่างมีกลยุทธ์ รวมถึงจะต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเข้าไปในตลาดในระยะยาว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแผนงานให้ทันท่วงที เนื่องจากตลาด CLMV เป็นตลาดที่เปลี่ยนแปลงไวมาก"นายสันติพงศ์ กล่าวเสริม