ผลิตไฟฟ้านวนคร เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ RATCH-NNCL-GPSC จับมือขยายเฟส 2 อีก 60 เมกะวัตต์ รองรับลูกค้าในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร คาดแล้วเสร็จในปี 2562

06 Jun 2016
บริษัท ผลิตไฟฟ้านวนคร จำกัด (NNEG) แจ้งเดินเครื่องผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า เชิงพาณิชย์วันนี้เป็นวันแรก NNEG เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ประเภทสัญญา Firm ระบบโคเจนเนอเรชั่น มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 125 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง
ผลิตไฟฟ้านวนคร เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ RATCH-NNCL-GPSC จับมือขยายเฟส 2 อีก 60 เมกะวัตต์ รองรับลูกค้าในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร คาดแล้วเสร็จในปี 2562

NNEG เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง 3 ฝ่าย คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ถือหุ้น 40% บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นฝ่ายละ 30% โดยได้พัฒนาโครงการแล้วเสร็จ จนสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์สำเร็จในวันนี้ ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 90 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี และ NNEG จะจำหน่ายกระแสไฟฟ้า 35 เมกะวัตต์และ ไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร

นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด กล่าวว่า โครงการผลิตไฟฟ้านวนคร จะมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าและ ไอน้ำ ซึ่งเป็นข้อดีของระบบการผลิตไฟฟ้าแบบโคเจนเนอเรชั่นที่สามารถนำก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้าร่วมกับผลิตไอน้ำเพื่อจำหน่ายให้กับ กฟผ. และโรงงานอุตสาหกรรมภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร โดยบริษัท ฯ จะรับรู้รายได้จากโครงการในครึ่งปีหลังของปี 2559 และกำลังผลิตในกลุ่มบริษัทฯ ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์จะเพิ่มขึ้นเป็น 6,419 เมกะวัตต์ (จากกำลังผลิตที่ลงทุนแล้วทั้งหมด 6,885 เมกะวัตต์) นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีศักยภาพที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำของลูกค้าในเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมนวนครที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาโครงการระยะที่ 2 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562

ด้านนายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัท ผลิตไฟฟ้านวนคร จำกัด หรือ NNEG เกิดขึ้นมาจากองค์ประกอบที่ลงตัวของ 3 ฝ่ายที่มาร่วมทุนด้วยกัน คือ บริษัท นวนคร จำกัด มหาชน ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่กว่า 6,500 ไร่ ของเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี อันเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 200 โรงงาน และมีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 400 เมกะวัตต์ การจับมือร่วมกันกับราชบุรีโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจการผลิตไฟฟ้าชั้นนำของประเทศ และ GPSC ซึ่งอยู่ในกลุ่มของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าหลายแห่งด้วยกัน จึงทำให้ NNEG มีศักยภาพสูง ทั้งนี้ NNEG ได้เริ่มศึกษาการลงทุนโครงการระยะที่ 2 โดยจับมือกับกลุ่มผู้ร่วมทุนเดิมทั้งหมด โครงการระยะที่ 2 จะสามารถผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 60 เมกะวัตต์และผลิตไอน้ำเพิ่มขึ้นอีก 30 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งนอกจากจะทำให้ NNEG มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วยังทำให้ระบบการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำมีประสิทธิภาพและความเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนครที่จะได้ใช้ไฟฟ้าและไอน้ำที่มีต้นทุนที่ต่ำลงพร้อมทั้งมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน

ดร.เติมชัย บุนนาค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท. กล่าวถึงความพร้อมของ NNEG ที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ในฐานะผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 30% ว่า NNEG เป็นหนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างตามสัดส่วนการลงทุนจากทั้งหมด 584 เมกะวัตต์ ระหว่างปี 2559-2562 ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด โดยจะส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทฯ ดีขึ้น จากส่วนแบ่งกำไรจาก NNEG หลังจากที่ NNEG มีการรับรู้รายได้จากการเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ทั้งนี้ จากสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง เรามีความพร้อมในการขยายการลงทุน NNEG เฟส 2 ร่วมกับผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามกลยุทธ์ การเติบโตจากการพัฒนาและร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ประเภทต่างๆ ในประเทศและภูมิภาคใกล้เคียงของ GPSC โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 1,922 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 1,582 ตันต่อชั่วโมง

โครงการผลิตไฟฟ้านวนคร ขนาดกำลังผลิตติดตั้งจำนวน 139.13 เมกะวัตต์ พัฒนาขึ้นตามความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ภายใต้กรอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 2,000 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 200 แห่ง และมีความต้องการใช้ไฟฟ้ากว่า 400 เมกะวัตต์ โดยที่โรงงานอุตสาหกรรมประเภทอาหาร เครื่องดื่ม ยา และเหล็ก มีความต้องการใช้ไอน้ำในกระบวนการผลิตในปริมาณมาก โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะผลิตไฟฟ้าเสริมความมั่นคงให้กับระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างเสถียรภาพด้านไฟฟ้า และไอน้ำ ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญให้กับโรงงานอุตสาหกรรมด้วย

สำหรับ โครงการผลิตไฟฟ้านวนคร เฟส 2 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 60 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง โดยมุ่งเน้นรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำของโรงงานอุตสาหกรรมในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม นวนครที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โครงการระยะที่ 2 นี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562