“สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา” ต้นแบบการจัดการน้ำเพื่อความสุขของทุกคน

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          เพราะน้ำคือชีวิต แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ใครหลายคนเลือกที่จะทำลายแหล่งน้ำด้วยการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อจะพบว่าเมื่อป่าหาย สายน้ำก็แห้งเหือดลง พร้อมๆ กับรอยยิ้มที่จางหายไปของคนในพื้นที่ชุมชนเขายายดา ตำบลตะพง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เคยประสบกับภาวะที่ป่าหายสายน้ำแห้งมาก่อน แต่นั่นคือเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ก่อนที่ชุมชนจะตระหนัก และหันกลับมาร่วมกันพลิกฟื้นผืนป่าและสายน้ำ ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ผ่านทาง โครงการ "เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต"
          9 ปีผ่านไป จากป่าเสื่อมโทรมเขาหัวโล้น ชุมชนเขายายดาและภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันพัฒนา ป่าต้นน้ำด้วยจิตสำนึกและเครื่องมือต่างๆ โดยเฉพาะฝายชะลอน้ำ ทำให้ถึงวันนี้ พื้นที่เขายายดาได้กลายเป็นแหล่งต้นน้ำที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทุกสรรพชีวิต และพร้อมที่จะเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้แก่สาธารณชนทั่วไปในรูปของแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อันเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำอย่างครอบคลุมทั้งระบบ ที่สอดประสานอย่างกลมกลืนไปกับวิถีของชุมชน
          เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2559 เอสซีจี ชุมชนเขายายดา และภาคีเครือข่าย จึงได้ร่วมใจกัน จัดงานเปิดตัว "สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา" ขึ้น ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยหินดาด อันเป็นพื้นที่ต้นน้ำของชุมชนเขายายดา โดยมีหน่วยงานและประชาชนหลายภาคส่วนให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็น จำนวนมาก อาทิ ชุมชนฝายลำปาง ชุมชนฝายกาญจนบุรี ชุมชนฝายสระบุรี ชมรมจรรยาบรรณ หอการค้าไทย ชุมชนมาบตาพุด กลุ่มแฟนเพจ "SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต" สื่อมวลชน และพี่น้องชาว เอสซีจี เป็นต้น 
          กิจกรรมในช่วงเช้า เอสซีจีและชุมชนเขายายดาชวนผู้ร่วมงานทุกท่านลงมือสร้างฝายชะลอน้ำจำนวน 15 ฝายบริเวณน้ำตกเขายายดา โดยมีแกนนำชุมชนเขายายดาเป็นผู้ให้ความรู้ และแนะนำเทคนิคการสร้างฝาย แม้จะมีสายฝนหล่นสายนับแต่เช้ามืด แต่บรรยากาศของการทำฝายก็เป็นไปด้วยความกระตือรือร้นสนุกสนานและอบอวลไปด้วยรอยยิ้มของคนสร้างฝายทุกคน 
          เข้าสู่ช่วงบ่าย หลังจากรับชมการแสดงของน้องๆ เยาวชนจากโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระศรีนครินทร์ จังหวัดระยอง ในชื่อชุดการแสดง "หัตถศิลป์ ถิ่นระยอง" แล้ว คุณชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ เอสซีจี รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต พื้นที่เขายายดา ก็ได้ขึ้นกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงาน ก่อนที่ คุณสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง จะขึ้นกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานทุกท่านในฐานะเจ้าบ้าน และ คุณอาสา สารสิน ประธานคณะกรรมการกิจการเพื่อสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ให้เกียรติเป็นประธานขึ้นกล่าวเปิดงาน
          "ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่ชุมชนเขายายดาได้ร่วมโครงการเอสซีจี รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต เห็นผลชัดเจนว่า ฝายชะลอน้ำช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับเขายายดาได้อย่างมาก ช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ดูแล สวนผลไม้ซึ่งเป็นอาชีพหลักได้อย่างทั่วถึง ยังผลให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น นอกจากนี้ ชุมชนยังตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาพื้นที่ป่าและแหล่งน้ำของบ้านเกิด ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้และเกิดมี องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับเยาวชนและผู้ที่สนใจ ให้เข้ามาเรียนรู้ระบบนิเวศและวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์ของชุมชนรอบเขายายดา อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน" คุณอาสา กล่าว          
          ก่อนที่คุณชลณัฐ จะกล่าวว่า "เอสซีจี เคมิคอลส์ เราให้ความสำคัญกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจการ โดยส่งเสริมชุมชนโดยรอบสู่การเป็นชุมชนเชิงนิเวศ โดยมีโครงการเอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต เป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยส่งเสริมชุมชนให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน และมีวิถีชีวิตบนความพอเพียง โดยพื้นที่เขายายดานั้น ชุมชนได้ร่วมกับสถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกและเอสซีจี สร้างฝายชะลอน้ำแบบผสมผสานรอบเขายายดามาตั้งแต่ปี 2550 โดยเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมและดำเนินการเอง ส่งผลให้สภาพป่าเริ่มฟื้นตัว มีผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้น จนปัจจุบันมีการสร้างฝายไปแล้วกว่า 5,400 ฝาย และพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้แก่ชุมชนอื่นๆ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา แหล่งเรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งใหม่ขึ้นในวันนี้"
          ถัดจากนั้นเป็น การปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "การบริหารจัดการน้ำ จากภูผาสู่มหานที กับวิถีชุมชนยั่งยืน" โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งนอกเหนือจากการบรรยายถึงวิธีการบริหารจัดการน้ำตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใช้เครื่องมือต่างๆ นับแต่ภูเขา ต้นน้ำ ผ่านพื้นที่ราบชุมชนและเรือกสวน ไปยังปลายน้ำ ออกสู่ท้องทะเลแล้ว ดร.สุเมธ ยังได้บรรยายถึงความรู้สึกที่มีต่อพื้นที่เขายายดา ในฐานะที่ได้ร่วมโครงการมาตั้งแต่เมื่อ 9 ปีก่อน
          "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสรับสั่งว่า น้ำคือชีวิต ทุกภาคส่วนต่างต้องใช้น้ำ ถ้าไม่มีน้ำแล้วชีวิตจะอยู่ไม่ได้ เมื่อ 9 ปีก่อน เอสซีจีตัดสินใจตอบแทนชุมชนและแผ่นดินโดยเลือกพื้นที่เขายายดา ตอนนั้นคนที่มาร่วมกันทำก็ยังไม่เข้าใจ และยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าจะทำได้ แต่ผลสะท้อนมันเกิดขึ้นแล้ว ผ่านมา 9 ปีชุมชนทำได้ 5,400 ฝาย มีคนในพื้นที่เข้าร่วม 600-700 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพอเรารู้รักสามัคคี ทำอะไรก็สำเร็จ มาถึงปี 2555 ผมกลับมาที่นี่อีกครั้งหนึ่ง ความเขียวชอุ่มด้านบนและความชุ่มชื้นด้านล่างพื้นดินเริ่มเกิดขึ้น ชั้นน้ำใต้ดินแผ่ขยายออกไปไกลมาก มาถึงวันนี้คุณภาพชีวิตของคนก็ดีขึ้นด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงในแง่ดีหมด น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ภูเขาเขียวชอุ่ม น้ำข้างล่างใส แสดงว่าป่าข้างบนสมบูรณ์แล้ว นี่คือความสำเร็จ" ดร.สุเมธ กล่าว
          ระยะเวลา 9 ปี ชุมชนเขายายดา เอสซีจี และเครือข่ายทำอะไร จึงสามารถเปลี่ยนป่าเสื่อมโทรมเขาหัวโล้น ให้กลายมาเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ และยกระดับขึ้นมาเป็นสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา ได้
ผู้เข้าร่วมงานได้พบคำตอบข้างต้นจากช่วงของ การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ "กว่าจะเป็น...แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเขายายดา" โดยผู้รับผิดชอบโครงการ ชุมชน และภาคีที่เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ต้นทาง ให้เกียรติมาร่วมพูดคุยบอกเล่าเส้นทางของการพัฒนาที่ผ่านมา จนมาถึง ณ วันนี้
          เขายายดามีพื้นที่ทั้งสิ้น 28,937 ไร่ ในอดีตถือเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์จนเปรียบได้กับซูเปอร์มาเก็ตของชุมชน แต่หลังจากมีการสัมปทานป่าไม้ เขายายดาได้ถูกบุกรุกเข้าแผ้วถางทำลายจนความอุดมสมบูรณ์เสื่อมถอยลง ป่าที่เคยเขียวขจีถูกหักโค่น สายน้ำก็เหือดแห้ง เดือดร้อนถึงชุมชนที่ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงเกษตรกรและชาวสวนที่ขาดแคลนน้ำถึงขั้นต้องซื้อน้ำจากภายนอกเพื่อมาใช้ทำการเกษตร
          ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล ที่ปรึกษาโครงการ แหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศเขายายดา บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เล่าถึงการเข้ามาของเอสซีจี ที่เริ่มจากการชวนชุมชน 10 หมู่บ้าน ใน 6 ตำบลของอำเภอตะพง อันได้แก่ ตำบลนาตาขวัญ ตำบลบ้านแลง ตำบลตะพง ตำบลเพ ตำบลกะเฉด และตำบลสำนักทอง มาร่วมแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ ด้วยการสร้างฝายเพื่อกักเก็บน้ำและฟื้นฟูป่าด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่ม รวมไปถึงการสร้างคนไปพร้อมๆ กัน ด้วยการหนุนเสริมให้คนในชุมชนเกิดความรักความสามัคคี เกิดจิตสำนึก มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นเรื่องการอนุรักษ์ และมีกระบวนการอันนำไปสู่การสร้างทักษะการคิดแก้ไขปัญหาในชุมชนบนฐานของการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ ซึ่งนำมาสู่การมุ่งสร้างเศรษฐกิจชุมชน โดยการสร้างมูลค่าจากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ในรูปของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสาน เช่น การเปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ การสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ การจัดตั้งกองทุนชุมชน รวมไปถึงการสร้างกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการเข้าถึงและดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม 
          "เราคิดบนฐานที่ว่า ชุมชนจะต้องอยู่ด้วยตัวเองได้ เราจึงทำหลายๆ เรื่องนอกจากเรื่องฝายและป่า เช่น ชวนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาช่วยสร้างนักวิจัยชุมชน ให้ชุมชนสามารถวิเคราะห์เชื่อมโยงปัจจัยปัญหาเพื่อแก้ไขได้ มีกองทุน มีการส่งต่อให้เยาวชน เริ่มจากการให้เด็กเข้ามาเรียนรู้ แล้วสนุกไปพร้อมๆ กับได้ความรู้ เราจึงพัฒนาเป็นหลักสูตร ผลักดันเข้าสู่โรงเรียน 2 ระดับ คือ ระดับประถมมีการเรียนการสอนเรื่องนี้ในโรงเรียนวัดยายดา กับระดับมัธยมคือโรงเรียนวัดตะพงนอก รวมไปถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีออกสู่สาธารณะ โดยการถอดบทเรียนจากการทำงานร่วมกับชุมชน เปิดเป็นสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา" ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าว
          โดยในกระบวนการพัฒนานั้น ได้มีภาคีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกับชุมชนเขายายดาและเอสซีจี หนึ่งในนั้นคือ สถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่เป็นภาคีด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่า ต้นน้ำตลอดมา
          คุณประเดิมชัย แสงคู่วงษ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมและพัฒนาชุมชนต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในฐานะผู้แทนสถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก กล่าวว่า "การฟื้นฟูป่าต้นน้ำเป็นสิ่งที่เราทำกันมาไม่น้อยกว่า 60 ปี เรามีศาสตร์ต่างๆ ในการจัดการให้ป่าต้นน้ำที่เสื่อมสภาพจากการถูกทำลายฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วล้วนเป็นศาสตร์ของพระเจ้าอยู่หัว ทั้งการเก็บน้ำไว้ในดินโดยใช้ฝายชะลอน้ำ และการเก็บดินไว้กับที่โดยใช้หญ้าแฝก ซึ่งด้วยการมีส่วนร่วมของทั้งชุมชนและภาคีเครือข่าย ถึงตอนนี้ป่าเขายายดาจึงเขียวชอุ่มขึ้น น้ำใสสะอาด เป็นสิ่งที่พิสูจน์ชัดว่า พวกเราทำกันมาถูกทางแล้ว"
          อีกหนึ่งภาคส่วนที่ร่วมขับเคลื่อนงานในพื้นที่ ก็คือ จังหวัดระยอง โดย คุณสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองเป็น 1 ใน 11 จังหวัดนำร่องที่รัฐบาลกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันพัฒนาสู่ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศภายในปี 2561 การที่เอสซีจีเข้ามาร่วมกับชุมชนเขายายดา พัฒนาพื้นที่จนสามารถยกระดับขึ้นเป็นสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งใหม่ของจังหวัดระยอง จึงถือเป็นความร่วมมือที่ช่วยส่งเสริมเป้าหมายของจังหวัดได้อย่างดียิ่ง
          "เทือกเขายายดาในวันนี้ เป็นผลจากการปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนเขายายดาน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงมาพัฒนาบ้านเกิด โดยใช้การมีส่วนร่วมของชุมชนและเครือข่าย ผมขอชื่นชมพี่น้องชุมชนรอบเขายายดาที่ร่วมมือร่วมใจกันจนสามารถยกระดับพื้นที่ขึ้นเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของจังหวัดระยอง ที่จะนำไปสู่การสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนและภาพรวมของจังหวัด ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์ความรู้ของชุมชนจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านที่ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชุมชนและท้องถิ่นอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี"
เหนืออื่นใด สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา จะไม่สามารถถือกำเนิดขึ้นได้เลย หากปราศจากภาคส่วนที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ คนในชุมชนที่ลุกขึ้นมากอบกู้ผืนป่าและสายน้ำในบ้านเกิดของตนเอง
          คุณบุญชื่น โพธิ์แก้ว เจ้าของสวนยายดา (เจ๊บุญชื่น) กล่าวว่า "เอสซีจีเข้ามาสนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นและพลิกชีวิตโดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวมาปรับใช้ ทั้งการอนุรักษ์ป่าและน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของเกษตรกร การมีป่าต้นน้ำ มีน้ำ มีค่ามหาศาลต่อคนในชุมชน หรือการปลูกพืชแบบผสมผสาน อย่างที่สวนมีสโลแกนการปลูกพืชว่า ปลูกไว้อย่างรกรุงรัง แต่ได้สตางค์ทุกต้น คือปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก เหลือจึงแบ่งขายและปันให้เพื่อนบ้าน พร้อมทั้งพัฒนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เราก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งเกิดจาก ความร่วมมือกัน" คุณบุญชื่น กล่าว
          ผู้ใหญ่นิมิต สกุลพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 และแกนนำนักสร้างฝาย ช่วยยืนยันสำทับถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่เน้นการพึ่งพาตนเอง จนทำให้ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ป่าและน้ำเช่นทุกวันนี้
          "เราทำฝายกันมา 9 ปี ไม่เคยทิ้งหายไปไหน การทำมีทั้งสร้างและซ่อม ทั้งสร้างถาวรและแบบธรรมชาติที่ใช้กรวดหินดินทราย วัสดุจากธรรมชาติ มีการติดตามประเมินผล มีการใช้สื่อหอกระจายข่าวในการสร้างจิตสำนึกแก่ชุมชนอย่างต่อเนื่องทุกวัน จากเดิมช่วงแรกๆ ที่ชุมชนก็ไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ ถึงวันนี้ ทุกคนต่างเห็นผลที่เกิดขึ้นกันแล้ว" ผู้ใหญ่นิมิต กล่าว 
          เช่นเดียวกับ คุณวิลัย โพธิ์แก้ว แกนนำชุมชนนักสร้างฝาย ที่ยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ที่กลับคืนมาสู่ชุมชน เหมือนเมื่อครั้งอดีตกาล
"จากป่าเสื่อมโทรม เอสซีจีมาร่วมกับชุมชน สร้างฝายทั้งบนเขาและรอบเขา ทำให้แม้หน้าแล้งก็ยังมีความชุ่มชื้น ชาวสวนก็ไม่ขาดน้ำ ป่ากลายเป็นบ้านให้สัตว์ป่านับ 100 ชนิด ทั้งเก้ง เสือ กระรอก นก เรียกว่าประโยชน์เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ 2 หมื่นไร่ของเขายายดา และทุกคนก็มีความสุข" คุณวิลัย กล่าว
          เวลาล่วงผ่านมาถึงกิจกรรมสุดท้ายของวัน นั่นคือ การเปิดแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ณ สถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยผู้บริหารเอสซีจี และแขกผู้มีเกียรติได้ร่วมกันเปิดแหล่งเรียนรู้ซึ่งถือเป็นสถานีย่อยที่ 1 ของสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา อย่างเป็นทางการ พร้อมร่วมกันปลูกต้นยางนาและแฝก เป็นอันสิ้นสุดกิจกรรมการเปิดสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา ในวันนี้
อนึ่ง สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา ประกอบด้วยสถานีย่อย 8 สถานี ได้แก่
          1. สถานีห้องเรียนต้นน้ำ สถานีเรียนรู้เชิงนิเวศ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติสุดท้าทายและได้ความรู้ ภายในสถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก
          2. สถานีฝายชะลอน้ำกู้วิกฤติ ร่วมเรียนรู้การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำที่ช่วยสร้างความสมบูรณ์ให้กับผืนป่าในพื้นที่ของ 6 ตำบล 10 หมู่บ้าน
          3. สถานีสวนเกษตรผสมผสาน เยี่ยมชมสวนเกษตรกรของชุมชน ทั้งพืชผักผลไม้ที่ปลูกบนฐานคิด "ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เหลือแล้วจึงนำไปขาย" ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
          4. สถานีบ้านอบอุ่นที่เขายายดา แวะพักค้างคืนที่โฮมสเตย์เพื่อเรียนรู้วิถีชุมชนที่อบอุ่นและเป็นกันเอง พร้อมสัมผัสกับธรรมชาติท่ามกลางเขายายดาที่นับได้ว่าเป็นปอดของจังหวัดระยอง
          5. สถานีเส้นทางปั่น...กินลมชมธรรมชาติ เพลิดเพลินและออกกำลังกายไปกับเส้นทางจักรยานปั่นชมธรรมชาติรอบเขายายดา ซึ่งเป็นโปรแกรมร่วมกับการพักค้างคืนที่โฮมสเตย์
          6. สถานีนักคิด นักวิจัยชุมชน ศึกษาเรียนรู้การทำงานวิจัยท้องถิ่นของนักวิจัยชาวบ้าน เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรดิน น้ำ และป่าในพื้นที่ โดยใช้ประวัติศาสตร์ชุมชนเป็นตัวกำหนดโจทย์วิจัย ผสมผสานกับการใช้ความรู้และประสบการณ์ของคนในพื้นที่ ช่วยกันวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาที่พบ โดยเฉพาะงานวิจัยเด่นเรื่อง "การจัดการทรัพยากรน้ำในสวนผลไม้" 
          7. สถานีรู้คิด ร่วมทำเพื่อชุมชนสีเขียว ร่วมศึกษาต้นแบบกองทุนเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ที่ส่งเสริมให้สมาชิกของชุมชนใช้สำหรับดูแลฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน
          8. สถานีหนังสือเรียน ตำราจากธรรมชาติ ศึกษาการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง "แหล่งเรียนรู้เขายายดา" สำหรับใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนในพื้นที่เขายายดา เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนหวงแหนทรัพยากรดิน น้ำ และป่า เสริมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชน
          ตลอดเวลา 9 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพื้นที่เขายายดามากมาย แต่ภาพที่ชัดเจนที่สุด ณ เวลานี้ คือ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติหวนกลับคืนมาสู่ผืนป่า สายน้ำกลับคืนสู่ลำเนาคุณภาพชีวิตที่ดีได้เกิดขึ้นในทุกบ้าน เช่นเดียวกับรอยยิ้มที่กลับมาเบ่งบานบนใบหน้าของทุกคนในชุมชนเป็นความสุขที่เกิดจากความรู้รักสามัคคีและการทำงานหนัก ด้วยจิตสำนึกของการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และถึงวันนี้ ชาวชุมชนเขายายดาและเอสซีจีพร้อมแล้วที่ส่งมอบความสุขให้แก่ทุกคนในประเทศ ด้วยสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งความสุขของทุกคน
          "วันนี้คนในชุมชนมีความสุข เราจึงอยากมอบความรู้และความสุขนี้ให้กับชุมชนอื่นๆ พี่น้องในชุมชนของเราทุกคนพร้อมต้อนรับทุกท่านที่มาเยือนด้วยความเต็มใจค่ะ" คุณบุญชื่น กล่าวด้วยรอยยิ้ม
“สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา” ต้นแบบการจัดการน้ำเพื่อความสุขของทุกคน
 
“สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา” ต้นแบบการจัดการน้ำเพื่อความสุขของทุกคน
 
“สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา” ต้นแบบการจัดการน้ำเพื่อความสุขของทุกคน
“สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา” ต้นแบบการจัดการน้ำเพื่อความสุขของทุกคน

ข่าวพลิกฟื้นผืนป่า+ปูนซิเมนต์ไทยวันนี้

"พฤกษา" พลิกฟื้นผืนป่า 1 แสนต้น ในโครงการ "ร่วมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์" สร้างสรรค์สังคม "อยู่ดี มีสุข" สานต่อแนวคิด ESG

พฤกษา รวมพลังพันธมิตรและพนักงานจิตอาสาร่วมทำความดี Impact for Good ร่วมกันปลูกป่า 100,000 ต้น ในโครงการร่วมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ บนเนื้อที่ 370 ไร่ ในพื้นที่ ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ตอกย้ำ Purpose "Live well Stay well อยู่ดี มีสุข" และสานต่อแนวคิด ESG ที่ผสานด้านสภาพแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการร่วมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ เกิดขึ้นจาก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบ... สวพส. พลิกฟื้นผืนป่า สืบสาน รักษา ต่อยอด สู่การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน — เมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ โดย สถาบันวิจัยแล...

แก๊งพรีเซ็นเตอร์โครงการ "7 สี ปันรักให้โล... แก๊งพรีเซ็นเตอร์ “7 สี ปันรักให้โลก” แท็กทีมแฟน ๆ จิตอาสา รวมพลังพลิกฟื้นผืนป่า 60 ไร่ — แก๊งพรีเซ็นเตอร์โครงการ "7 สี ปันรักให้โลก" โบว์-เมลดา สุศรี, มุก...

จากปัญหาพื้นที่ป่าบริเวณลำน้ำยม ในช่วงฤดู... ภาพข่าว: ปลูกป่าประชารัฐฟื้นฟูต้นน้ำยม แก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างเป็นระบบ — จากปัญหาพื้นที่ป่าบริเวณลำน้ำยม ในช่วงฤดูฝนน้ำท่วม ฤดูแล้งปริมาณน้ำไม่เพียง...

ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงของคนรักต้นไม้ ต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ยุครัฐบาลบิ๊กตู่

ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชนและ ผอ.สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจเรื่อง เสียงของคนรักต้นไม้...

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพ... ภาพข่าว: นศ.รามฯ คว้ารางวัลชนะเลิศ เยาวชนอาสาสืบสานพระราชดำริ — ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง แสดงความยินดีกับน...

กรมป่าไม้ จัดงาน 'พลิกฟื้นผืนป่า ประชารัฐ... กรมป่าไม้ จัดงาน 'พลิกฟื้นผืนป่า ประชารัฐพิทักษ์ป่าน่าน' — กรมป่าไม้ จัดงาน 'พลิกฟื้นผืนป่า ประชารัฐพิทักษ์ป่าน่าน' ร่วมปลูกป่าแบบ 'วนประชารัฐ' ในพื้นที่ก...

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน กรมป่าไม้ จัดงาน ... พลิกฟื้นผืนป่าประชารัฐน่านส่งเสริมการปลูก “วนประชารัฐ” — เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน กรมป่าไม้ จัดงาน "พลิกฟื้นผืนป่าประชารัฐน่าน" ร่วมปลูกป่าชดเชยพื้นที่ป่าเ...