รมว.พม. เปิดเผยผลการจัดระดับรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา ประจำปี ๒๕๕๙ ยกอันดับประเทศไทยดีขึ้นเป็นระดับ ๒ ที่ต้องจับตามอง พร้อมมุ่งมั่นขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง

11 Jul 2016
ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ เวลา ๐๙.๐๐ น. (เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. ของประเทศไทย) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIP Report ประจำปี ๒๕๕๙ อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว โดยยกอันดับ ของประเทศไทยดีขึ้นเป็นระดับ ๒ ที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) เนื่องจากเล็งเห็นถึงความพยายามอย่างเต็มที่ของประเทศไทยในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ในรายงานของสหรัฐอเมริกา ยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินงานใน ๓ มิติ ได้แก่ ๑) ด้านการดำเนินคดี ระบุว่ารัฐบาลไทยได้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

โดยเพิ่มบทลงโทษที่สูงขึ้น มีความพยายามเพิ่มขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายพิจารณาได้จากสถิติการดำเนินคดีที่มีจำนวนมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี ๒๕๕๗ การเพิ่มศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ๒) ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ รัฐบาลยังคงมีความพยายามในการคัดแยกและคุ้มครองผู้เสียหาย โดยมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และล่ามอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีข้อจำกัด

ในการคัดแยก เช่น ไม่มีพื้นที่สำหรับคัดแยกเป็นการส่วนตัวและในบางพื้นที่ยังขาดแคลนล่าม และ ๓) ด้านการป้องกัน มีการจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน มีระบบป้องกันและควบคุมการเข้าออกของประชากรกลุ่มเสี่ยง การจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย และประกาศใช้ พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘

"อย่างไรก็ตาม ตนมีความยินดีที่สหรัฐอเมริกา เล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นและความพยายามของรัฐบาลไทยในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ อีกทั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้ขอบคุณผู้ปฏิบัติงานทุกคน ที่ได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นนโยบายลำดับต้นต่อไป โดยจะร่วมมือกับนานาประเทศและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ตามหลักมาตรฐานสากล 5P เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ถึงที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง และให้การคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ อย่างเท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย