บทความพิเศษ เรื่อง แนวทางของพ่อ พอเพียง มั่นคงมั่งคั่ง พลังแผ่นดิน

14 Dec 2016
"มนุษย์เรานั้นมีร่างกายเพียง กว้างคืบ ยาววา หนาศอกโดยประมาณนั้น สามารถสร้างความสุขได้อย่างแท้จริงทุกวินาทีได้โดยไม่ต้องใช้ "เงิน" เป็นตัวตั้ง แต่เพียงอย่างเดียว" พื้นฐานของการที่จะมีความสุขนั้นก็คือ จะต้องเพียบพร้อมไปด้วยปัจจัย 4 ได้แก่ ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหาร และยารักษาโรค เพื่อเป็นปัจจัยให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและมีความสุข แต่ชีวิตของผู้คนชนส่วนใหญ่ ก็มักจะไหลเลี้ยวลด คดโค้ง ดิ้นรน ขวนขวาย ออกนอกลู่นอกทางไปเสียไกล เพื่อไปค้นหาคำตอบให้กับชีวิตตนเอง ว่าพอจะมีความสามารถที่จะพอทำให้ชีวิตมีความสุขและมีความทัดเทียมทางสังคมกับคนอื่นได้หรือไม่ ซึ่งก็มีทั้งประสบความสำเร็จ และล้มเหลว คละเคล้ากันไป แต่ส่วนใหญ่ ก็จะล้มเหลว!!! โดยเฉพาะแนวทาง "ทุนนิยม (Capitalism)" ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนวทางทฤษฎีใหม่ "เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy)" ของพ่อหลวงปวงชนชาวไทย ทฤษฎีนี้สามารถช่วยให้ประชาชนคนไทยทุกคนประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก และได้ผลลัพธ์ด้วยการมี "ความสุขอย่างแท้จริง"
บทความพิเศษ เรื่อง แนวทางของพ่อ พอเพียง มั่นคงมั่งคั่ง พลังแผ่นดิน

แนวทาง "เศรษฐกิจพอเพียง" ไม่ว่าจะมีพื้นที่มากหรือน้อยก็สามารถทำได้ โดยแบ่งพื้นที่ประมาณ 1-2 ไร่ และทำการจัดสรรปันส่วนตามแนวทางที่พ่อหลวงให้ไว้ คือ แบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน ส่วนที่ 1 ใช้พื้นที่ 30% สร้างสระน้ำประจำไร่นาประจำฟาร์ม เพื่อให้มีแหล่งกักเก็บน้ำไว้เพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี เลี้ยงกุ้ง หอย ปู ปลา ไว้เป็นแหล่งโปรตีน ส่วนที่ 2 ใช้ปลูกข้าวเป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืนอีก 30 % เพราะข้าวคืออาหารหลักของคนไทย ส่วนที่ 3 แบ่งพื้นที่อีก 30 % ซึ่งอาจจะใช้พื้นที่นี้ในรูปแบบของคันนาขนาดใหญ่แทนพื้นที่สี่เหลี่ยมก็ได้ โดยดัดแปลงคันนาให้กว้างสัก 2 – 3 เมตรไว้สำหรับปลูกพืช ผัก สมุนไพร เพื่อบริโภคในครัวเรือน หรือจะปลูกต้นตะแบก เหียง เต็ง รัง ยางนา เป็นไม้เศรษฐกิจ ไม้ใช้สอย รวมถึงไม้ผลสำหรับบริโภค เพราะที่โคนต้นไม้เหล่านี้สามารถเพาะเห็ดตับเต่า เห็ดเผาะ เห็ดถอบ เห็ดระโงก เพื่อสร้างรายได้เสริมอีกทาง น้ำมันจากต้นยางนาก็สามารถทำเชื้อเพลิงให้กับเครื่องจักรกลเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้ดีมาก หรือใช้ทำขี้ใต้จุดคบเพลิง ทำน้ำมันตะเกียงให้แสงสว่าง ฯลฯ พื้นที่ส่วนที่ 4 อีก 10 % ใช้สร้างที่อยู่อาศัย เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ วัว ควาย ไว้เป็นแรงงาน เป็นปุ๋ย และใช้เป็นอาหารได้อีกทางหนึ่ง

เมื่อปฏิบัติได้จนมีความชำนาญและทำจนได้ผลแล้ว ก็จะค่อยๆ ก้าวจากขั้น "ไม่ค่อยจะมีกิน" มาสู่ขั้นของการ "พออยู่พอกิน" และพัฒนาไปสู่ขั้นของการ "พอมีอันจะกิน" ได้ไม่ยาก เมื่อตนเองและครอบครัวเริ่มมีอันจะกิน ก็เริ่มมีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันของชีวิตที่ดีขึ้น จิตใจที่แจ่มใสชื่นบาน ทำให้มีสติ มีสมาธิ มีเหตุ มีผล และที่สำคัญต้องพยายามอยู่ในความพอดีพอประมาณ ความหมายของคำว่า "พออยู่พอกิน" ของพ่อหลวงมิได้หมายความให้เราอยู่อย่าง "อดอยากปากแห้ง" แต่หมายถึงการไม่ทำอะไรจนเกินตัว เมื่อมีความเข้มแข็งในระดับปัจเจกอย่างดีแล้ว ต่อไปก็สามารถรวมกลุ่มกันสร้างพลัง สร้างอำนาจการต่อรองในการซื้อปัจจัยการผลิต รวมตัวกันเป็นสหกรณ์ รวมตัวกันสร้างโรงสีชุมชน รวมตัวกันหาแหล่งเงินทุนจากธนาคารมาพัฒนาชุมชน หรือรวมพลังการสร้างอำนาจการตลาด เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตให้แก่ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรดต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เป็นครัวของกรุงเทพฯ เชียงใหม่ เป็นครัวของ กระบี่ ภูเก็ต พัทยา หรือถ้ามีความเข้มแข็งมากๆ รวมตัวกันเป็นครัวของโลกที่มีศักยภาพผลิตอาหารที่ปลอดภัยไร้สารพิษไปยังประเทศที่ต้องการ

วันนี้จึงขอเชิญชวนทุกท่านน้อมนำทำตามแนวทางของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นสิริมงคล เพื่อความมั่นคง มั่งคั่งยั่งยืน ให้แก่ตนเองและครอบครัว และที่สำคัญทำให้ประเทศชาติได้ประชาชนคนของชาติไทยที่ดีมีคุณภาพเป็น "พลังให้แก่แผ่นดิน" ช่วยพัฒนาประเทศชาติสืบต่อไปตลอดกาลนาน

สนับสนุนบทความโดยนายมนตรี บุญจรัส

กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)

สอบถามข้อมูลข่าวได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 0 2000 8499 , 081 732 7889