รายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2559

31 Jan 2017
"เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง นำโดยภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ตามแรงขับเคลื่อนของการบริโภคสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย โดยมีการลงทุนภาครัฐช่วยสนับสนุน นอกจากนี้ รายได้จากการเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีในหลายภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี"

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนธันวาคม ปี 2559 "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง นำโดยภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ตามแรงขับเคลื่อนของการบริโภคสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย โดยมีการลงทุนภาครัฐช่วยสนับสนุน นอกจากนี้ รายได้จากการเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีในหลายภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัวอย่างชัดเจน จากการบริโภค ภาคเกษตร และการท่องเที่ยวเป็นหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่าย และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 2.3 และ 6.0 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 และ 9.4 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 36.2 ต่อปี เช่นเดียวกันกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคขยายตัวในระดับสูง โดยในเดือนธันวาคม 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 36.7 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 38.6 ต่อปี ซึ่งยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวในภูมิภาค ในขณะที่ด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ร้อยละ 12.9 และ 25.8 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ13.5 และ 20.1 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวา 2559 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัวได้ดี โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐและเอกชน และการท่องเที่ยว เป็นหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่และเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2559 ขยายตัวร้อยละ 34.1 และ 301.2 ต่อปี ตามลำดับ และในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 13.7 และ 77.9 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย ที่สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 5.1 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวร้อยละ 24.6 ต่อปี ตามผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคในเดือนธันวาคม 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 16.0 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 17.7 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ร้อยละ 44.4 และ 84.1 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 37.8 และ 76.5 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2559 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการบริโภค การลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยวเป็นหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่าย และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 7.4 และ 1.1 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 4.4 และ 0.3 ต่อปี ตามลำดับ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น โดยในเดือนธันวาคมขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน จากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี เช่นเดียวกันกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคในเดือนธันวาคมขยายตัวที่ร้อยละ 18.2 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ21.5 ต่อปี ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวภายในภูมิภาค ในขณะที่ด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ร้อยละ 2.7 และ 5.3 ต่อปี ตามลำดับ และในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 และ 2.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2559 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจภูมิภาคยังฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป จากการบริโภคสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย และการลงทุนภาครัฐเป็นสำคัญ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวร้อยละ 58.5 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.6 ต่อปี สอดคล้องกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคในเดือนธันวาคมขยายตัวที่ร้อยละ 103.0 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 80.9 ต่อปี ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวภายในภูมิภาค ในขณะที่ด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวจากจำนวนและรายได้ของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่ขยายตัวได้ร้อยละ 24.1 และ 32.3 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2559 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป จากการลงทุนภาครัฐและเอกชน และการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากเม็ดเงินลงในโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม ขยายตัวในอัตราเร่งร้อยละ 1,230.8 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 82.2 ต่อปี ตามการลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำ สอดคล้องกับการลงทุนภาครัฐในภูมิภาคในเดือนธันวาคม ยังขยายตัวที่ร้อยละ 53.0 ต่อปี และไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 38.9 ต่อปี ขณะที่ด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนที่ขยายตัวร้อยละ 17.5 และ 14.5 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 และ 5.5 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธนวาคม อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจภูมิภาคยังคงทรงตัว อย่างไรก็ดี การลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวยังเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคในเดือนธันวาคม ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 66.0 ต่อปี และในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 42.0 ต่อปี ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวภายในภูมิภาค อีกทั้งการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขนาดใหญ่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 432.4 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 58.7 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง จากรายได้ของผู้เยี่ยมเยือนที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อปี และสอดคล้องกับผลผลิตภาคเกษตรที่ขยายตัวร้อยละ 10.0 ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจภูมิภาคยังคงทรงตัว แต่การลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคในเดือนธันวาคม ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 118.4 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 112.7 ต่อปี ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวภายในภูมิภาค ส่วนด้านอุปทาน การท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ร้อยละ 6.6 และ 19.0 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 และ 18.8 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคมที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค