มกอช.เร่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ใส่ใจมาตรฐาน พร้อมสร้างพื้นฐานให้นักศึกษาบริหารจัดการด้านการตลาดเป็น“เถ้าแก่น้อย” ตั้งเป้าเยาวชนที่ร่วมโครงการหันสานต่ออาชีพเกษตรกรรม

11 Nov 2016
นายอานัติ วิเศษรจนา รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดโครงการเกษตรเพื่อชีวิต "เกษตรรุ่นใหม่ ใส่ใจมาตรฐาน" รุ่นที่ 3 ประจำปี 2560 ณ กองพันทหารราบที่ 3 กองทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธิน จังหวัดสงขลา ว่า ว่าโครงการนี้เป็นความร่วมมือของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กับหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และหน่วยงานภายนอก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 9 แห่งในภาคใต้ ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา ชุมพร สุราษฏร์ธานี พัทลุง สตูล พังงา กระบี่ ตรัง และระนอง รวมถึงกองพันทหารราบที่ 8 กรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธิน จังหวัดสงขลา ร่วมกันจัดกิจกรรมนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (young smart farmer) แบบบูรณาการ ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และแรงงานของภาคเกษตรในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทยเรา ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงขึ้น เนื่องจากคนรุ่นใหม่ละทิ้งอาชีพเกษตรกรรมเพราะเป็นอาชีพที่มีรายได้น้อย

"มกอช. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการบูรณาการทั้งภายในและนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการทั้งภาคทฤษฎีและเน้นการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปสู่การปฎิบัติจริงของนักศึกษาตลอดระยะเวลา 1 ปี โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการต้องผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมจัดค่าย เขียนโครงการ ศึกษาดูงาน และการนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไปปฏิบัติใช้จริงในการปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ทำการเกษตรของผู้ปกครองนักศึกษา หรือวิทยาลัยเกษตรกรรม"

นายอานัติ กล่าวเพิ่มอีกว่า สำหรับปีนี้ มีนักศึกษาสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นจาก ปีก่อนๆ จากเดิมที่เปิดรับสมัครเพียงสองสาขา คือ GAP พืชอาหาร และ GAP ข้าว ปีนี้มีเสียงเรียกร้องให้เปิด เพิ่มอีกสองสาขาคือ GAP ด้านประมง และ ปศุสัตว์ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่นักศึกษาให้ความสนใจมากขึ้น นอกจากโครงการนี้จะสร้างและพัฒนาให้นักศึกษาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (young smart farmer) แล้ว เรายังแนะนำและสร้างพื้นฐานให้นักศึกษาบริหารจัดการด้านการตลาดเป็น "เถ้าแก่น้อย" โดยนำผลผลิตที่นักศึกษาปลูกหรือเลี้ยงไปลองหาตลาดเอง และรู้จักทำบัญชีรายรับ รายจ่าย กำไร ขาดทุน ทำให้อาชีพเกษตรกรรมมีคนสานต่อไป ซึ่ง มกอช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่านักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะมีทัศนคติที่ดีและสามารถสานต่ออาชีพเกษตรกรรม ตลอดจนร่วมเป็นเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของการผลิตสินค้าเกษตรของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานต่อไป