สคร.10 อุบลฯ เดินหน้ากำจัดไข้มาลาเรีย

27 Apr 2017
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ มูลนิธิรักษ์ไทย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน รณรงค์ป้องกันโรคไข้มาลาเรีย เนื่องในวันมาลาเรียโลก (25 เมษายน ของทุกปี) ณ บ้านละลายมีชัย ต.ละลาย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งปีนี้มีคำขวัญในการรณรงค์ว่า "ประชารัฐร่วมใจขจัดภัยโรคไข้มาลาเรีย" เพื่อกระตุ้นให้ประเทศที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้มาลาเรีย ร่วมมือกันกำจัดโรคดังกล่าวให้หมดไป โดยมี นายเกริกชัย ผ่องแพ้ว นายอำเภอกันทรลักษ์ เป็นประธานในพิธี ภายในงานมีการให้ความรู้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงโรคไข้มาลาเรีย อาทิ ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และคนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าป่า ให้มีความรู้ที่ถูกต้อง เกิดความตระหนักในการป้องกันตนเองจากการถูกยุงก้นปล่องกัด ให้ความสำคัญในการเข้ามารับบริการตรวจรักษาอย่างรวดเร็ว และกินยาให้ครบตามที่ผู้ตรวจรักษาจ่ายให้ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตและการดื้อยา
สคร.10 อุบลฯ เดินหน้ากำจัดไข้มาลาเรีย

นายเกริกชัย ผ่องแพ้ว นายอำเภอกันทรลักษ์ ประธานในพิธี กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้มาลาเรียของจังหวัดศรีสะเกษ ในขณะนี้ ยังคงน่าเป็นห่วง หากเราไม่ช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดอย่างจริงจัง เพราะว่าในอดีต คนที่เป็นไข้มาลาเรียเกือบทั้งหมดจะไปรับเชื้อมาลาเรียมาจากในป่า แต่ในปัจจุบันมีรายงานว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจากการไปกรีดยางพาราเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติภารกิจในป่า ทำให้เจ้าหน้าที่มาลาเรียไม่สามารถเข้าไปป้องกันควบคุมโรคได้ และจากรายงานพบว่ามีผู้ป่วยดื้อยา ยิ่งทำให้มีความยากลำบากในการรักษาและมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

นายอำเภอกันทรลักษ์ กล่าวต่อไปว่า การรณรงค์ในวันนี้ เป็นแค่การปลุกกระแสให้ทุกคนได้ตื่นตัว ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์โรคที่เกิดขึ้น และช่วยกันควบคุม ป้องกัน ลดการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นให้ได้ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัย ของตัวท่านเอง รวมทั้งบุตรหลานที่ต้องอาศัยในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงก้นปล่องซึ่งเป็นพาหะนำโรคมาลาเรียด้าน นางศุภศรัย สง่าวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยลดลงจาก 150,000 รายในปี 2543 เหลือเพียง 17,799 ราย ในปี 2559 ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนในพื้นที่รับผิดชอบ พบจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดศรีสะเกษ มีผู้ป่วยมากที่สุดติด 10 อันดับแรกของผู้ป่วยทั้งประเทศ ผู้ป่วยส่วนมากมีประวัติเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงและได้รับเชื้อมาลาเรียกลับมา

นางศุภศรัย กล่าวต่อไปว่า โรคมาลาเรีย เป็นโรคติดต่อที่นำโดยยุงก้นปล่องบางชนิด ไปกัดคนที่เป็นไข้มาลาเลียแล้ว เชื้อจะเจริญอยู่ในยุงประมาณ 10 วัน หลังจากนั้นเมื่อยุงมีเชื้อไข้มาลาเรีย ไปกัดบุคคลอื่นก็จะถ่ายเชื้อไข้มาลาเรียให้แก่บุคคลนั้น แล้วประมาณ 10-14 วันก็จะมีอาการป่วยเป็นไข้มาลาเรีย หรือไข้จับสั่น ซึ่งมีอาการปวดหัว ตัวร้อน ครั่นตัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย เมื่อเป็นนาน ๆ ร่างกายจะซูบซีด และในรายที่เป็นรุนแรงอาจถึงตายได้ในเวลาอันรวดเร็ว วิธีการป้องกัน อย่าให้ยุงก้นปล่องกัด โดยนอนในมุ้งหรือมุ้งชุบน้ำยา หรือใช้ยากันยุงทา ใส่เสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด และเมื่อมีอาการปวดหัว ตัวร้อน และสงสัยว่าเป็นไข้มาลาเรีย ควรรีบไปที่มาลาเรียคลินิก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอได้ทุกแห่ง เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อให้เร็วที่สุด ก่อนอาการจะรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 /นางศุภศรัย กล่าวปิดท้าย