ผลสำรวจความคิดเห็นต่อการคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่/โดยสารรถยนต์

17 Apr 2017
ประชาชนร้อยละ 67.41 เชื่อว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางทางรถยนต์ได้มากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 87.94 เชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมายกวดขันจับกุมผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจะช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่/โดยสารรถยนต์ ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 10 ถึง 15 เมษายน พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,169 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนเป็นอันดับต้นๆของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวอย่างเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ซึ่งมีการเดินทางทางถนนของผู้คนเป็นจำนวนมาก โดยจากสถิติในช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลสงกรานต์ประจำปี พ.ศ. 2559 นั้นมีอุบัติเหตุรวม 3,447 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 442 ราย และมีผู้บาดเจ็บรวม 3,656 ราย ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นจากช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลสงกรานต์ประจำปี พ.ศ. 2558 ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยนั้นมาจากพฤติกรรมของตัวผู้ขับขี่เป็นหลัก เช่น เมาแล้วขับ หลับใน ขับรถเร็วเกินกำหนด เป็นต้น และสาเหตุอื่นๆ เช่น สภาพความพร้อมของยานพาหนะ สภาพของถนน รวมถึงป้าย/สัญญาณจราจรที่ไม่ชัดเจน ขณะเดียวกันรัฐบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามออกมาตรการต่างๆมาบังคับใช้เพื่อควบคุมและลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนนลง โดยมาตรการที่มีการประกาศมาล่าสุดก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี พ.ศ. 2560 นี้มาตรการหนึ่งคือการกำหนดให้ผู้โดยสารรถยนต์ทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวาง โดยมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยซึ่งมีความคิดเห็นว่าจะช่วยลดความรุนแรงให้กับผู้โดยสารรถยนต์หากเกิดอุบัติเหตุได้ ขณะเดียวกันมีผู้คนอีกบางส่วนที่มีความคิดเห็นว่าเป็นมาตรการที่ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงเนื่องจากสภาพและประเภทของรถยนต์บางชนิดที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวยกับมาตรการดังกล่าว และผู้คนอีกส่วนมีความคิดเห็นว่ายังเป็นการแก้ปัญหาอุบัติเหตุที่ไม่ตรงจุด ประกอบกับพฤติกรรมของผู้ใช้รถยนต์ในเมืองไทยโดยเฉพาะผู้โดยสารที่นั่งด้านหลังของรถยนต์ส่วนมากยังไม่คุ้นเคยกับการคาดเข็มขัดนิรภัย จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่/โดยสารรถยนต์

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.47 เพศชายร้อยละ 49.53 อายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการคาดเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสาร/ขับขี่รถยนต์นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.41 ระบุว่าตนเองคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาขณะเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ด้วยตนเอง โดยที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.54 และร้อยละ 13.52 ระบุว่าตนเองคาดเฉพาะเวลาพบเห็นด่านตรวจ/เจ้าหน้าที่ตำรวจและคาดเฉพาะเวลารถยนต์วิ่งบนถนนสายหลัก/ถนนใหญ่ตามลำดับ อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.15 ยอมรับว่าตนเองไม่เคยคาดเลย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.38 ระบุว่าตนเองไม่เคยเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ด้วยตนเอง ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.76 ระบุว่าตนเองคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาขณะนั่งรถยนต์อยู่ในตำแหน่งข้างผู้ขับขี่ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.9 และร้อยละ 18.82 ระบุว่าตนเองคาดเฉพาะเวลารถยนต์วิ่งบนถนนสายหลัก/ถนนใหญ่และคาดเฉพาะเวลาพบเห็นด่านตรวจ/เจ้าหน้าที่ตำรวจตามลำดับ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.52 ยอมรับว่าตนเองไม่เคยคาดเลย อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 95.89 ระบุว่าตนเองไม่เคยคาดเข็มขัดนิรภัยขณะนั่งโดยสารรถยนต์ในตำแหน่งด้านหลังในกรณีที่รถยนต์คันนั้นติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งด้านหลัง

ในด้านความคิดเห็นต่อการคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่/โดยสารรถยนต์นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.41 มีความคิดเห็นว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่/โดยสารรถยนต์จะมีส่วนทำให้การเดินทางด้วยรถยนต์มีความปลอดภัยมากขึ้นได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 73.65 เชื่อว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยจะมีส่วนช่วยลดความรุนแรง/อันตรายที่เกิดกับร่างกายในกรณีที่รถประสบอุบัติเหตุได้จริง ส่วนกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.55 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดให้ผู้โดยสารรถยนต์ทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัยจะมีส่วนช่วยทำให้ผู้ขับขี่/ผู้โดยสารรถยนต์คำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้รถบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้นได้

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.21 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดให้ผู้โดยสารรถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งจะมีส่วนทำให้ผู้โดยสารรถยนต์ที่นั่งด้านหลังหันมาคาดเข็มขัดนิรภัยเพิ่มมากขึ้นได้ แต่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.12 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดให้ผู้โดยสารรถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งจะไม่มีส่วนช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.28 มีความคิดว่าการกำหนดให้ผู้โดยสารรถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งเป็นมาตรการที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง

และเมื่อเปรียบเทียบวิธีการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างการบังคับใช้กฎหมายกวดขันจับกุมผู้ขับขี่รถยนต์ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับการกำหนดให้ผู้โดยสารรถยนต์ทุกที่นั่งคาดเข็มขัดนิรภัย กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 87.94 ระบุว่าการบังคับใช้กฎหมายกวดขันจับกุมผู้ขับขี่รถยนต์ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น เมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกำหนด หรือ ขับรถเป็นที่หวาดเสียว เป็นต้น เป็นวิธีการที่สามารถช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.06 ระบุว่าการกำหนดให้ผู้โดยสารรถยนต์ทุกที่นั่งคาดเข็มขัดนิรภัยเป็นวิธีการที่ช่วยลดอุบัติเหตุได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า