กรมการท่องเที่ยวสรุปผลงานเด่นครึ่งปีแรก ยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว

29 May 2017
กรมการท่องเที่ยวสรุปผลงานเด่นครึ่งปีแรก ยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว อบรมมัคคุเทศก์เข้ม ธุรกิจท่องเที่ยวคุ้มครองผู้บริโภค
กรมการท่องเที่ยวสรุปผลงานเด่นครึ่งปีแรก ยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว

กรมการท่องเที่ยวสรุปผลงานเด่น 6 เรื่อง ในรอบ 6 เดือน ได้แก่การจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวขั้นพื้นฐาน ฝึกอบรมมัคคุเทศก์วัง ตรวจสอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สร้างเจ้าบ้านน้อย จัดอบรมผู้ประกอบการในภูมิภาค สร้างต้นแบบสินค้าที่ระลึกในแหล่งท่องเที่ยว โดยทั้งหมดเพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยได้ระดับมาตรฐาน

นางสาววรรณสิริ โมรากุล อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กรมการท่องเที่ยวได้สรุปผลงานโครงการเด่นของกรมการท่องเที่ยวในรอบ 6 เดือน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 (ตุลาคม 2559 – 31 มีนาคม 2560) ประกอบด้วย 6 เรื่อง ที่จะช่วยยกระดับการท่องเที่ยวของไทยให้มีมาตรฐานสูงขึ้น คือ

1. จัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวขั้นพื้นฐานและคู่มือหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองสถานประกอบการตามมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยขั้นพื้นฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพการบริการทั่วประเทศ

นางสาววรรณสิริ โมรากุล กล่าวว่า ประธานกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่องมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยขั้นพื้นฐานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 และในวันที่ 3 เมษายน 2560 ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการท่องเที่ยว และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จำนวน 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมการปกครอง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมอนามัย กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและสำนักงานกรุงเทพมหานคร และมีพิธีมอบเครื่องหมายให้แก่สถานประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยขั้นพื้นฐาน จำนวนทั้งสิ้น 45 รายได้แก่ กลุ่มธุรกิจนำเที่ยว 37 ราย และกลุ่มสินค้าอัญมณี 8 ราย

2. ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวให้กับมัคคุเทศก์ต่างประเทศ เพื่อให้มีความพร้อมที่ให้บริการนำเที่ยวในพระบรมมหาราชวังอย่างมีคุณภาพโดยได้จัดมาแล้ว 3 รุ่น เป็นมัคคุเทศก์ภาษาจีนและภาษาอังกฤษ รวม 243 ราย

3. ตรวจสอบและกำกับดูแลธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยกรมการท่องเที่ยวร่วมมือกับกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ออกตรวจสถานประกอบการและการปฏิบัติหน้าที่ของมัคคุเทศก์เป็นประจำสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

"กรมการท่องเที่ยวได้ดำเนินการออกตรวจไปแล้ว 69 ครั้ง มีจำนวนธุรกิจนำเที่ยวที่ได้รับการตรวจ 344 ราย ดำเนินคดีกับธุรกิจนำเที่ยวที่กระทำผิดกฎหมาย จำนวน 8 ราย และมีจำนวนมัคคุเทศก์ที่ได้รับ การตรวจ 1,666 ราย ดำเนินคดีกับมัคคุเทศก์ที่กระทำผิดกฎหมาย จำนวน 17 ราย" อธิบดีกรมการท่องเที่ยวกล่าว

4. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร "เจ้าบ้านน้อย (Little Guide)" มุ่งให้เยาวชนท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเริ่มต้นในปี 2558 ได้สร้างเจ้าบ้านน้อย ใน 8 จังหวัด รวม 800 คน ต่อมาในปีงบประมาณ 2559 ได้ดำเนินการใน 11 จังหวัด จำนวน 1,000 คน และวางเป้าหมายการทำงานในปีงบประมาณ 2560 ใน 15 จังหวัด รวม 1,500 คน ต่อเนื่องไปถึงปีงบประมาณ 2561 ใน 20 จังหวัด รวม 2,000 คน และปีงบประมาณ 2562 จะสร้างเจ้าบ้านน้อยใน 25 จังหวัดรวม 2,500 คน

"โครงการนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้ความสำคัญในการที่จะพัฒนาและฝึกอบรมเยาวชนในท้องถิ่นหรือชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยว ให้เป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เกิดความประทับใจ เข้าใจในศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น โดยมีแนวคิดในการปลูกฝังจิตสำนึกของการรักและภาคภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิดรวมทั้งการเป็นเจ้าบ้านที่ดีตั้งแต่เด็ก" นางสาววรรณสิริ กล่าว

5. จัดอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการในภูมิภาค โดยกรมการท่องเที่ยวจะจัดการอบรมในช่วง เดือนมิถุนายน จำนวน 2 ครั้ง และเดือนกรกฎาคม จำนวน 1 ครั้ง โดยจะอบรมเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ฉบับแก้ไข) เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจและปฏิบัติถูกต้อง รวมทั้งอบรมความรู้เบื้องต้น เรื่องภาษีและการป้องกันการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กและสตรีด้วย6. สนับสนุนการจัดงานประเพณีเทศกาลสงกรานต์เชิงวัฒนธรรมใน 15 จังหวัด ได้แก่จังหวัดภูเก็ต/พระนครศรีอยุธยา/เชียงใหม่/เชียงราย/แพร่/น่าน/พะเยา/ลำปาง/ลำพูน/มหาสารคาม/นครราชสีมา/มุกดาหาร/สกลนคร/ระยอง และ ยะลา โดยเน้นกิจกรรมส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งช่วยกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นและเป็นการท่องเที่ยววิถีไทยตามนโยบายของรัฐบาลโดยสนับสนุนงบประมาณวงเงินรวม 5.5 ล้านบาท

7. สร้างต้นแบบสินค้าที่ระลึกในแหล่งท่องเที่ยว โดยคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวจำนวน 18 พื้นที่ จากพื้นที่ท่องเที่ยว "12 เมืองต้องห้ามพลาด" และ "12 เมืองต้องห้ามพลาดพลัส" รวมทั้งจังหวัดที่มีสนามบินนานาชาติ 4 จังหวัด โดยทำงานร่วมกับชุมชนและนักวิชาการในการพัฒนาต้นแบบสินค้าที่ระลึก ใช้เสน่ห์ที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นและภูมิปัญญามาประยุกต์เป็นของที่ระลึกที่ร่วมสมัยและสอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในแต่ละแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมอบสิทธิให้ชุมชนเป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเป็นการนำนโยบาย Thailand 4.0 มาดำเนินการเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนอธิบดีกรมการท่องเที่ยวกล่าวทิ้งท้าย