กพช. ผลักดันการพัฒนาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้า SPP Hybrid Firm และ VSPP Semi-Firm

27 Feb 2017
คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้า SPP Hybrid Firm และ VSPP Semi-Firm
กพช. ผลักดันการพัฒนาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน  ในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้า SPP Hybrid Firm และ VSPP Semi-Firm

ที่ทำเนียบรัฐบาล การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก แบบ VSPP Semi-Firm โดยมีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าทั้งหมด 568 เมกะวัตต์ เป็นการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP Hybrid-Firm จะใช้สำหรับการเปิดรับซื้อเฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่ และขายเข้าระบบเป็น SPP ขนาดมากกว่า 10 MW แต่ไม่เกิน 50 MW โดยสามารถใช้เชื้อเพลิง ได้มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ประเภท ไม่กำหนดสัดส่วน และใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมได้ ต้องเป็นสัญญาประเภท Firm กับ กฟผ. เท่านั้น (เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 100% ในช่วง Peak และ ในช่วง Off-peak ไม่เกิน 65 % โดยอาจต่ำกว่า 65% ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่ กกพ.กำหนด) ห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงการเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้า (Start up) มีมิเตอร์ซื้อขายไฟฟ้าจุดเดียวกัน และติดตั้ง Unit Monitoring Meter (UMM) โดยจะมีบทปรับที่เหมาะสมหากไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามสัญญา รวมทั้งต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง และต้องมีแผนการพัฒนาเชื้อเพลิงใหม่เพิ่มเติมในพื้นที่ร่วมด้วย เช่น การปลูกพืชพลังงาน เป็นต้น มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 2563 โดยให้รับซื้อไฟฟ้าในลักษณะ Competitive Bidding ใช้อัตรา FiT เดียวแข่งกันทุกประเภทเชื้อเพลิง โดยโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2560 ให้มีอัตราการรับซื้อ 3.66 บาทต่อหน่วย

ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP Semi-Firm จะใช้สำหรับการเปิดรับซื้อเฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่ ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมได้ ต้องเป็นสัญญาประเภท Firm จำนวน 6 เดือน (เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 100% ในช่วง Peak และ ในช่วง Off-peak ไม่เกิน 65 % โดยอาจต่ำกว่า 65% ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่ กกพ.กำหนด) โดยจะต้องครอบคลุมเดือนที่คาดว่าจะมีการใช้พลังไฟฟ้าสูงสุด 4 เดือน (มีนาคม – มิถุนายน) และสำหรับ 6 เดือนที่เหลือจะเป็นสัญญา Non-Firm ห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วง Start up โรงไฟฟ้า ต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง และต้องมีแผนการพัฒนาเชื้อเพลิงใหม่เพิ่มเติมในพื้นที่ร่วมด้วย เช่น การปลูกพืชพลังงาน เป็นต้น มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 2562 โดยให้รับซื้อไฟฟ้าในลักษณะ Competitive Bidding ใช้อัตรา FiT แบ่งตามประเภทเชื้อเพลิง โดยชีวมวล ในอัตรา 4.24 – 4.82 บาทต่อหน่วย ตามกำลังผลิตติดตั้ง ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ในอัตรา 3.76 บาทต่อหน่วย และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ในอัตรา 5.34 บาทต่อหน่วย พร้อมมี FiT ส่วนเพิ่มพิเศษ (FiT Premium) 0.30-0.50 บาทต่อหน่วย สำหรับการขายไฟฟ้าในรูปแบบ Firm ที่มีระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และสำหรับโครงการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา จะได้รับ FiT Premium เพิ่มอีก 0.50 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ ให้รับซื้อไฟฟ้าโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm ในปริมาณ 300 เมกะวัตต์ก่อน หลังจากนั้นให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก แบบ VSPP Semi-Firm 269 เมกะวัตต์ โดยมอบหมายให้ กกพ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กำหนดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าแบ่งเป็นรายภูมิภาคตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และนำเสนอให้ กบง.พิจารณาเห็นชอบ ก่อนออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าฯ ตามขั้นตอนต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. เห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 1 จำนวน 515 เมกะวัตต์ ภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว โดยมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้พัฒนาโครงการ เมื่อร่างสัญญาฯ ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ทั้งนี้ ที่ประชุม กพช. ยังได้รับทราบความคืบหน้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือด้านพลังงานและบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทาน ประสานกับกระทรวงพลังงาน เพื่อวางแผนในการนำน้ำจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคตะวันออกต่อไป