BIZ แจกข่าวดี! คว้างานติดตั้งเครื่องฉายรังสีมะเร็ง รพ.ร้อยเอ็ด มูลค่า 84.9 ลบ. ดัน Backlog เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 280 ลบ.

04 Apr 2017
บมจ.บิสซิเนสอะไลเม้นท์ (BIZ) มาตามสัญญา แจกข่าวดี!!! รับไตรมาส 2/60 คว้างานติดตั้งเครื่องฉายรังสีมะเร็งของโรงพยาบาลร้อยเอ็ด มูลค่า 84.9 ล้านบาท ระยะเวลาสัญญา 6 เดือน หนุนงานในมือ (Backlog) เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 280 ลบ. พร้อมปักธงเดินหน้าขยายฐานลูกค้าเพิ่ม หนุนรายได้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น
BIZ แจกข่าวดี! คว้างานติดตั้งเครื่องฉายรังสีมะเร็ง รพ.ร้อยเอ็ด มูลค่า 84.9 ลบ. ดัน Backlog เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 280 ลบ.

นายสมพงษ์ ชื่นกิติญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิสซิเนสอะไลเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (BIZ) ซึ่งเป็นผู้นำในการเป็นตัวแทนนำเข้า จำหน่าย ติดตั้ง และการให้บริการดูแลและซ่อมบำรุงเครื่องมือแพทย์ โดยเน้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีรังสีรักษาเป็นหลัก เปิดเผยว่า ล่าสุดบริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายเครื่องฉายรังสี (Linear accelerator) ชนิด 3 มิติ กับโรงพยาบาลร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด มูลค่า 84.9 ล้านบาท ระยะเวลาสัญญา 6 เดือน ส่งผลให้มูลค่างานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 280 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทยอยรับรู้ในปีนี้จนถึงปี 2561

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BIZ กล่าวอีกว่า บริษัทฯยังเดินหน้าขยายฐานลูกค้าทั้งในส่วนของโรงพยาบาลภาครัฐและโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันกลุ่มลูกค้าของบริษัทฯ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย,คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ,คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และโรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ เป็นต้น

ด้านนายวรวิทย์ สีลภูสิทธิ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินและบัญชี BIZ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการจำหน่ายและติดตั้งเครื่องฉายรังสีมะเร็งที่ประเทศกัมพูชา หลังจากเมื่อปีที่ผ่านมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ระบบเครื่องฉายรังสีรักษา (Radiotherapy Products) และผลิตภัณฑ์สำหรับรังสีระยะใกล้ (Brachytherapy Products) และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ซึ่งขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างประมูลงาน ซึ่งคาดว่าน่าจะทราบผลในเร็วๆนี้ โดยหากมีความคืบหน้าทางบริษัทฯจะแจ้งให้ทราบต่อไป

"ภาพรวมตลาดเครื่องฉายรังสียังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่เครื่องมือในการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงยังขาดแคลนอยู่อีกมาก ส่งผลให้ความต้องการเครื่องมือดังกล่าวอยู่ในระดับสูง โดยจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งของไทยในปี 2558 มีอยู่กว่า 130,000 ราย ขณะที่ในปี 2563 คาดมีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็ง ราว 150,000 ราย" นายวรวิทย์ กล่าวในที่สุด