รายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2560

31 Mar 2017
"เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ขยายตัวต่อเนื่อง นำโดย ภาคใต้ ภาคตะวันออก และกทม.และปริมณฑล โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคเกษตรและภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี"

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ขยายตัวต่อเนื่อง นำโดย ภาคใต้ ภาคตะวันออก และกทม. และปริมณฑล โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคเกษตรและภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีการบริโภคภาคเอกชน ภาคเกษตรและการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนยังขยายตัวในอัตราเร่ง สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 23.1 ต่อปี ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 11.1 ต่อปี ส่วนด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนไทยและคนต่างประเทศที่ร้อยละ 4.7 และ 1.5 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัว สำหรับด้านเสถียรภาพภายในภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีการบริโภคภาคเอกชน ภาคเกษตร และการท่องเที่ยวเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ สะท้อนจากเครื่องชี้ด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 20.0 ต่อปี ประกอบกับการบริโภคสินค้าคงทนยังขยายตัวได้ดี จากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 19.1 ต่อปี ตามการขยายตัวในทุกจังหวัด สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่และเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 27.4 และ 144.5 ต่อปี ส่วนด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 11.9 และ 13.2 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนไทยและคนต่างประเทศ สอดคล้องกับภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัว สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ กลับมาขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 11.9 ต่อปี ตามการขยายตัวในทุกจังหวัด เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 และ 17.0 ต่อปี รวมถึงเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 32.2 ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ และนครปฐม เป็นสำคัญ นอกจากนี้รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 30.5 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมกราคม อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคกลาง เศรษฐกิจขยายตัวในเกณฑ์ดี จากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อยปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ กลับมาขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 18.9 ตามการขยายตัวได้ดีในเกือบทุกจังหวัด สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 4.4 และร้อยละ 20.7 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ร้อยละ 3.6 และ 3.5 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวได้ดีทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น จากการบริโภคภาคเอกชน ภาคเกษตร และการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อยปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ กลับมาขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 13.1 ตามการขยายตัวได้ดีในเกือบทุกจังหวัด เนื่องจากรายได้เกษตรกรปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวในภูมิภาค สะท้อนจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคขยายตัวร้อยละ 5.6 ต่อปี อย่างไรก็ดีการลงทุนภาคเอกชน ยังคงทรงตัวจากเดือนก่อน สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนทั้งคนไทยและคนต่างประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 9.0 และ 22.1 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนที่ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน ที่ขยายตัวร้อยละ 10.2 ต่อปี สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยมีการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และภาคเกษตร เป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อยปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ กลับมาขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 13.1 ตามการขยายตัวได้ดีในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน และกำแพงเพชร เป็นต้น นอกจากนี้การลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวในอัตราเร่งร้อยละ 9.3 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาครัฐที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดีและยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวในภูมิภาค สะท้อนจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคขยายตัวร้อยละ 12.7 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการเกษตรปรับตัวดีขึ้นจากผลผลิตสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวโพด และอ้อยโรงงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวภายในภูมิภาค ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวทรงตัว สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น จากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อยปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ กลับมาขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 10.4 ตามการขยายตัวได้ดีในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี เป็นต้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่การลงทุนยังคงทรงตัวจากเดือนก่อน สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวภายในภูมิภาค สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 17.5 ต่อปี ตามการขยายตัวของผู้เยี่ยมเยือนคนไทยเป็นสำคัญที่ร้อยละ 20.2 สอดคล้องกับรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ขยายตัวในอัตราเร่งเช่นกันที่ร้อยละ 36.1 ต่อปี ตามการขยายตัวของรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนทั้งคนไทยและคนต่างประเทศที่ร้อยละ 44.8 และ 11.6 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภาคเอกชนภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค