ทิสโก้ชี้หุ้นโลกปรับฐาน ราคาน้ำมันยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ แนะถือเงินสดบางส่วนลดความเสี่ยง พร้อมทยอยเข้าลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

13 Mar 2017
นักลงทุนทยอยขายหุ้นที่ราคาปรับขึ้นสูง บวกกับราคาน้ำมันยังขาดแรงสนับสนุนใหม่ๆ เป็นปัจจัยฉุดตลาดหุ้นโลกเข้าสู่โหมดปรับฐาน แนะถือเงินสดบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยง และทยอยลงทุนหุ้นญี่ปุ่นรับอานิสงส์ดอลลาร์ฯ แข็งค่า
ทิสโก้ชี้หุ้นโลกปรับฐาน ราคาน้ำมันยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ แนะถือเงินสดบางส่วนลดความเสี่ยง พร้อมทยอยเข้าลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Komsorn Prakobpol, Head of Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit: TISCO ESU) กล่าวว่า นับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พ.ย. ปีที่แล้ว ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ปรับตัวขึ้นมาเป็นอย่างมาก จากความคาดหวังต่อนโยบายลดภาษีและแผนการลงทุนภาครัฐจากประธานาธิบดี Donald Trump โดยปัจจัยการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ค่า P/E ซึ่งสะท้อนความคาดหวังของนักลงทุนเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังไม่ได้มีการปรับประมาณผลกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของประธานาธิบดี Trump (State of the Union) เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ไม่ได้มีรายละเอียดด้านนโยบายเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามที่ตลาดคาดหวัง จึงทำให้นักลงทุนเริ่มทยอยขายหุ้นที่ราคาปรับตัวขึ้นมามาก

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังเผชิญแรงฉุดจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงแรงในช่วงนี้ หลังจากสต็อกและปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับความต้องการของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC) ที่ตกลงลดปริมาณการผลิตเพื่อควบคุมสต็อกน้ำมันดิบโลกที่อยู่ในระดับสูงให้กลับมาลดลงในปีนี้ โดยราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวขึ้นมาราว 20% หลังจากข้อตกลงลดปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC ในเดือน พ.ย. ได้ทำให้ผู้ผลิตน้ำมัน Shale Oil ในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาลงทุนขุดเจาะน้ำมันอีกครั้ง ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นถึงเกือบเท่าตัว และทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ประเมินว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันจากสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และทำจุดสูงสุดใหม่ในปี 2018 ที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

เราจึงคาดว่า ราคาน้ำมันและตลาดหุ้นโลกยังอยู่ในช่วงปรับฐาน เนื่องจากยังขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ โดยนักลงทุนควรจับตาการรายงานตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) ในวันที่ 15 มี.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งหากตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบรวมของ OECD กลับมาเพิ่มขึ้นตามสต็อกในสหรัฐฯ ก็อาจเป็นปัจจัยชี้ว่าการลดปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC ที่ผ่านมานั้นยังไม่เพียงพอที่จะกำจัดอุปทานส่วนเกินในตลาดโลก นอกจากนี้ เรายังต้องติดตามผลการประชุม OPEC ครั้งถัดไปในวันที่ 31 พ.ค. ซึ่งสมาชิกจะกลับมาหารือกันว่าจะต่ออายุข้อตกลงลดปริมาณการผลิตซึ่งจะหมดอายุลงในเดือน มิ.ย. ต่อไปอีกหรือไม่ ซึ่งหาก OPEC ไม่สามารถตกลงกันได้ ราคาน้ำมันก็มีความเสี่ยงที่จะกลับมาลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี

เราแนะนำให้นักลงทุนถือเงินสดบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงจากการที่ตลาดปรับฐานในช่วงนี้ และแนะนำทยอยเข้าลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นซึ่งจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตามการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)