เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย

15 Mar 2017
8 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ผนึกกำลังครั้งสำคัญ รวมตัวสร้างเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยมุ่งตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอาเซียน
เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย

ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.มงคล เตชะกำพุ ผู้อำนวยการ เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย เปิดเผยว่า เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network หรือ RUN) เกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัย 8 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายใต้แนวคิดด้วยความจริงใจ ความเท่าเทียม และมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Sincerely, Equally, Excellently) หรือเรียกว่าหลักการ SExY Way โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558

ทั้งนี้มีพันธกิจหลักคือ มุ่งเน้นการประสานความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ และสร้างขีดความสามารถทางการศึกษา วิจัยและพัฒนา ของประเทศและยกระดับสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งประสานความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย บัณฑิตศึกษา นักศึกษาและบุคลากรทางการวิจัยในการร่วมกันดำเนินงานทางด้านการวิจัย การแลกเปลี่ยนและใช้ทรัพยากร ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในระหว่างพันธมิตรการวิจัย รวมถึงสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยกับมหาวิทยาลัย ภาครัฐ ภาคเอกชนหรือเครือข่ายอื่นๆ และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่สังคม ภาคผลิตและภาคบริการ

ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.มงคล กล่าวด้วยว่า นักวิจัยและงานวิจัยในปัจจุบันมีความสำคัญอย่างมากในการเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านต่างๆของประเทศ แต่จากปัญหาประเทศไทยในปัจจุบันที่มีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งทุนวิจัยที่ค่อนข้างจำกัด อีกทั้งภาวะขาดแคลนนักวิจัย โดยจำนวนนักวิจัยที่มีสัดส่วนเพียง 11 คน ต่อประชากร 10,000 คน และยังพบว่าคณาจารย์แต่ละคน แต่ละกลุ่ม แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีแนวทางการทำงานที่แตกต่างและต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ทำให้ไม่ก่อให้เกิดเนื้องานใหญ่ที่สามารถตอบสนองต่อประเทศชาติได้มาก เครือข่าย RUN จึงเกิดขึ้นเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ความสามารถจากนักวิจัยทุกมหาวิทยาลัย ให้ได้ร่วมมือหรือเรียกว่า Sharing แบ่งปันองค์ความรู้ และทำงานร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์นโยบาย Thailand 4.0 จึงถือเป็นเครือข่ายแรกที่ประสบความสำเร็จในการร่วมมือกันของนักวิจัยจากหลากหลายมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ได้แบ่งโจทย์ วิจัยออกเป็น 9 คลัสเตอร์ และมอบหมายให้แต่ละมหาวิทยาลัยรับผิดชอบ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 คลัสเตอร์อาเซียน (ASEAN) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กลุ่มที่ 2. คลัสเตอร์เกษตรและอาหาร (Agriculture) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กลุ่มที่ 3 คลัสเตอร์เกษตรและอาหาร (Functional Food) มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กลุ่มที่ 4 คลัสเตอร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ (Climate change) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กลุ่มที่ 5 คลัสเตอร์พลังงาน (Energy) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กลุ่มที่ 6 คลัสเตอร์สุขภาพ (Health) มหาวิทยาลัยมหิดล

กลุ่มที่ 7 คลัสเตอร์วัสดุ (Material Science) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

กลุ่มที่ 8 คลัสเตอร์หุ่นยนต์ (Robotics) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กลุ่มที่ 9 คลัสเตอร์ดิจิทัล (Digital)มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.มงคลบอกด้วยว่า ทุนเริ่มต้นในการดำเนินงานนั้นทุกมหาวิทยาลัยร่วมกันสนับสนุนมหาวิทยาลัยละ 5 ล้านบาท / ปี รวมทั้งปัจจุบันได้รับทุนสนับสนุนในการสร้างงานวิจัยระดับชาติจาก วช. 216 ล้านบาท ซึ่งโจทย์วิจัยที่อยู่ในการทำการวิจัยอาทิ โครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน HAZE FREE THAILAND , PRECISION MEDISION ,BIOPLASTICS และ PRECISION AGRICUUTURE นอกจากในปีที่ผ่านมายังเน้นขยายความร่วมมือไปยังนานาประเทศ อาทิ กลุ่มมหาวิทยาลัยที่ประเทศนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ลาว และญี่ปุ่น เพื่อมุ่งเน้นในการสร้างศักยภาพงานวิจัยให้มีความเข้มแข็งและก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว และสร้างบุคลากรที่มีฝีมือเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามตั้งเป้าหมายว่าในปี2560 จะเน้นการทำงานแบบ RUN for Thailand 4.0 คือการทำงานเชิงรุก พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี เน้นการทำ startup Thailand และขยายความร่วมมือไปยังภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น