สคช. ลงนามจัดทำมาตรฐานอาชีพล่ามแปล ครูสอนภาษาไทยให้ต่างชาติ

29 Sep 2017
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ร่วมบันทึกลงนามความร่วมมือโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพงานภาษาต่างประเทศและล่ามแปล อาชีพผู้สอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ เพื่อพัฒนามาตรฐานครูผู้สอนสู่ยุคโลกไร้พรมแดน
สคช. ลงนามจัดทำมาตรฐานอาชีพล่ามแปล ครูสอนภาษาไทยให้ต่างชาติ

นายวีระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เปิดเผยภายหลังลงนามความร่วมมือในโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพงานภาษาต่างประเทศและล่ามแปล อาชีพผู้สอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ กับและสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ว่า โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพงานภาษาต่างประเทศและล่ามแปล อาชีพผู้สอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ เป็นโครงการที่ สคช. คัดเลือกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เป็นที่ปรึกษาโครงการ โดย สคช.สนับสนุนด้านการดำเนินการ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มสาขาอาชีพจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ มีความเป็นสากลและเหมาะสมกับประเทศไทย เป็นที่ยอมรับทั้งภายในประเทศและระดับสากล โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพกับอาชีพดังกล่าว

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) กล่าวว่า การมีมาตรฐานอาชีพ จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ อันได้แก่ ผู้สอน ผู้เรียน และสถานศึกษา ด้านประโยชน์ต่อผู้สอน คือ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มสาขาอาชีพผู้สอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติมีมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพและเพื่อให้ผู้สอนพัฒนาความรู้ความสามารถของตนอยู่เสมอ ประโยชน์ต่อผู้เรียน คือ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนกับผู้สอนที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลดีให้สามารถใช้ภาษาไทยในทุกทักษะได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากที่สุด และประโยชน์ต่อสถานศึกษา คือ เพื่อให้สถานศึกษาและสถานประกอบการที่จัดการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติสามารถจัดทำเกณฑ์การคัดเลือกผู้สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สมาคมฯ เปิดสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติ (ญี่ปุ่น) มาเป็นเวลากว่า 40 ปี จัดการอบรมการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศสำหรับบุคคลทั่วไป และจัดการสอบวัดระดับภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ เป็นประจำทุกปี มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะจัดทำมาตรฐานการสอนภาษาไทยร่วมกับผู้มีส่วนร่วมในสาขาอาชีพผู้สอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติในทุกภาคส่วน เพื่อการอนุรักษ์ภาษาไทยอันเป็นสมบัติของชาติ สร้างทัศนคติที่ดีต่อคนไทย วัฒนธรรมไทย และประเทศไทยควบคู่ไปด้วยกัน อันจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจที่ดี เอื้อต่อการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมไปถึงเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับประเทศต่อไป