มรภ.สงขลา ปลุกพลัง นศ. ขับเคลื่อน ศก.พอเพียง

28 Sep 2017
มรภ.สงขลา จับมือมูลนิธิรากแก้วร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ดึงพลังคนรุ่นใหม่สร้างกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่น สืบสานแนวพระราชดำริในหลวง ร.9 เล็งต่อยอดโครงการพัฒนา-แก้ปัญหาชุมชนยั่งยืน
มรภ.สงขลา ปลุกพลัง นศ. ขับเคลื่อน ศก.พอเพียง

น.ส.จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนานักศึกษาและคุณลักษณะบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนพร้อมด้วยตัวแทนนักศึกษา มรภ.สงขลา เข้าร่วมงานมหกรรมพลังนิสิตนักศึกษาขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดโดยมูลนิธิรากแก้ว ในเครือมูลนิธิปิดทองหลังพระ ในการสืบสานแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานให้แก่ประชาชนชาวไทย โดยนำศาสตร์พระราชาผสานกับความรู้ทางทฤษฎีและภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปประยุกต์ใช้ดำเนินโครงการพัฒนา เพื่อให้เกิดการต่อยอดและสร้างประโยชน์แก่ชุมชน โดยเฉพาะนักศึกษาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนงานในส่วนนี้ได้ ทั้งยังสนองนโยบายรัฐบาลตามแผนยุทธศาสตร์บูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (พ.ศ.2557-2560) สำหรับเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตของประชาชนทุกระดับ โดยสถาบันการศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้นำความรู้และพลังนักศึกษามาร่วมแก้ไขปัญหาตามความต้องการอย่างแท้จริง ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ร่วมกันขับเคลื่อนทั้งในด้านองค์ความรู้ การพัฒนาพื้นที่ในชุมชน โดยจะผลักดันให้นักศึกษาเริ่มขับเคลื่อนในพื้นที่ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยก่อนเป็นอับดับแรก ซึ่งตรงกับปรัชญาของ มรภ.สงขลา ที่ว่า สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

ด้าน นายจักรกฤษ เลิศลับ นักศึกษาปี 3 โปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า จากการเข้าร่วมงานดังกล่าวทำให้ตนเห็นถึงพลังของนักศึกษา ที่ต้องการสืบสานแนวพระราชดำริ และสนับสนุนการเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะให้เยาวชนมีความเป็นผู้นำที่มีจิตอาสา เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ เข้าใจปัญหาของสังคม และสามารถทำงานร่วมกับทุกฝ่าย เพื่อพัฒนาชุมชนและประเทศอย่างยั่งยืน แม้ มรภ.สงขลา จะเป็นเครือข่ายเล็กๆ แต่ก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น ขอบคุณกองพัฒนานักศึกษาที่ให้โอกาสตนได้เข้าร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิรากแก้ว ทำให้ได้รับฟังการดำเนินงานในระยะแรกที่เกิดผลสำเร็จแล้ว โดยเฉพาะจากเพื่อนนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมและมาบอกเล่าประสบการณ์ พร้อมตั้งคำถามชวนคิดว่า 4 ปีของมหาวิทยาลัยคุณได้อะไรมากกว่าใบปริญญา ทำให้ตนและเพื่อนๆ ได้แนวคิดถึงกิจกรรมที่จะทำในมหาวิทยาลัยต่อหลังจากนี้

นายวรวัฒน์ รอดพิบัติ นักศึกษาปี 4 โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะครุศาสตร์ กล่าวบ้างว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า "เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป" ดังนั้น เมื่อตนได้เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินรอยตามพระองค์ท่าน จึงรู้สึกดีใจและภูมิใจมาก ซึ่งในการดำเนินงานนั้นมหาวิทยาลัยถือเป็นตัวหลักในการพัฒนาพื้นที่ ด้วยการนำศาสตร์มาผนวกกับศิลป์ คิดวางแผนพัฒนาด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนและช่วยให้ประชาชาสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยใช้กระบวนการทำงาน 4 ขั้นตอน คือ เตรียมการ วางแผน ปฏิบัติงาน และ ติดตามผล ภายใต้คอนเซ็ปต์ระเบิดจากข้างใน มีขอบเขตพื้นที่ชัดเจน พัฒนาทุกมิติ ซึ่งจากการดูงานครั้งนี้มีหลายมหาวิทยาลัยที่ดำเนินโครงการดังกล่าว เล่าว่าเขาไปอยู่อาศัยกับชาวบ้านในการศึกษาข้อมูลโดยเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เพราะชุมชนเปรียบเสมือนครูคนหนึ่งที่สอนเขาในหลายๆ อย่าง ทำให้เข้าใจปัญหามากขึ้น และลุกขึ้นสู้กับปัญหาเพื่อให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ขึ้น โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวขับเคลื่อน

ขณะที่ นายธิติ ธนโสภณพิทักษ์ นักศึกษาปี 2 โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดประสงค์ของงานในครั้งนี้คือสืบสานแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 และสนับสนุนการเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะให้เยาวชนมีความเป็นผู้นำที่มีจิตใจอาสา พร้อมทั้งนำเสนอผลการดำเนินงานของ 4 สถาบันการศึกษาที่นำร่องโครงการไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทำงานร่วมกับชาวบ้าน ไปนอน ไปกิน และช่วยพัฒนาชุมชนให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งยังนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปถ่ายทอดให้กับชาวบ้าน ทำให้พวกตนที่ได้เข้าร่วมประชุมเห็นตรงกันว่าในส่วนของนักศึกษา มรภ.สงขลา สมควรมีกิจกรรมเพื่อสานต่อพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน โดยดำเนินการอย่างสอดคล้องกับบริบทและสภาพปัญหาของท้องถิ่น

ปิดท้ายด้วย นายนัฐนนท์ พรหมอินทร์ นักศึกษาปี 3 โปรแกรมวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ กล่าวว่า การเข้าร่วมงานนี้ทำให้ตนได้รับแนวคิดพื้นฐานในการดำเนินโครงการ โดยบูรณาการการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบไปด้วย หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาเชิงพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ การพัฒนาตามลำดับขั้นตอน บูรณาการจากหน่วยงานอื่นๆ การจัดการความรู้เละพัฒนาคน ซึ่งต้องขอขอบคุณมูลนิธิรากแก้วที่จัดงานนี้ขึ้นมา ตนจะนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ในมหาวิทยาลัย อาจจัดขึ้นในรูปแบบของการอบรมให้ความรู้แก่นักศึกษา เกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ และนำนักศึกษาลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ที่เป็นปัญหา เก็บข้อมูล นำมาวิเคราะห์ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป

มรภ.สงขลา ปลุกพลัง นศ. ขับเคลื่อน ศก.พอเพียง มรภ.สงขลา ปลุกพลัง นศ. ขับเคลื่อน ศก.พอเพียง มรภ.สงขลา ปลุกพลัง นศ. ขับเคลื่อน ศก.พอเพียง