ITEL ได้ฤกษ์เซ็นสัญญาเน็ตชายขอบหนุน Backlog พุ่ง 3 พันล้าน แย้มเดือนพ.ย.นี้ได้งานคัมปานาเพิ่ม-หนุนรายได้นิวไฮแตะ 1,000 ลบ.

27 Sep 2017
"ITEL" เซ็นสัญญาอินเตอร์เน็ตชายขอบกับ กสทช. มูลค่า 1,868 ล้านบาท หนุน Backlog พุ่งกว่า 3,117 ล้านบาท จากสิ้นไตรมาส 2/60 ตุนงานในมือแล้ว 1,249 ล้านบาท "ณัฐนัย อนันตรัมพร" เอ็มดีไฟแรง แย้มมีงานทำแบ็กอัพโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำของบริษัท คัมปานา มูลค่างาน 600 ล้านบาท คาดเซ็นสัญญาเดือนพ.ย.นี้ เผยหลังคว้า 2 โปรเจ็กต์ใหญ่ หนุนงานในมือเพิ่มอย่างแข็งแกร่ง มั่นใจรายได้ปี 2560 แตะที่ระดับ 1,000 ล้านบาท
ITEL ได้ฤกษ์เซ็นสัญญาเน็ตชายขอบหนุน Backlog พุ่ง 3 พันล้าน แย้มเดือนพ.ย.นี้ได้งานคัมปานาเพิ่ม-หนุนรายได้นิวไฮแตะ 1,000 ลบ.

นายณัฐนัย อนันตรัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL เปิดเผยว่า ในวันที่28กันยายนนี้ บริษัทมีการเข้าร่วมพิธีลงนาม ในสัญญาโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำหรับโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน ITEL เป็นผู้ชนะการประมูลในสัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ภาคใต้) จำนวน 24 จังหวัด รวมถึงกลุ่มที่ 5 (พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา กับ 4 อำเภอ ใน จ.สงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และอ.สะบ้าย้อย) คิดเป็นมูลค่างานรวมทั้งสิ้น 1,868 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อ กสทช.มีการลงนามในสัญญาดังกล่าวแล้ว จะทำให้บริษัทมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) อยู่ที่ ประมาณ 3,117 ล้านบาท จาก Backlog ณ สิ้นไตรมาส 2/2560 อยู่ที่ 1,249 ล้านบาท โดยในส่วนของสัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง กลุ่มที่ 4 และ กลุ่มที่ 5 มูลค่า 1,868 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ภายในปีนี้ประมาณ 120 ล้านบาท

"ณ สิ้นไตรมาส 2/2560 บริษัทมี Backlog อยู่ที่ 1,249 ล้านบาท และเมื่อรวมกับโครงการอินเทอร์เน็ตพื้นที่ชายขอบ สัญญาที่ 4 และอีก 1,868 ล้านบาท ทำให้บริษัทมี Backlog อยู่ที่ราว 3,117 ล้านบาท โดยยังไม่รวมโครงการให้บริการโครงข่ายใยแก้วนำแสงบนดิน ซึ่งเป็นการทำแบ็กอัพโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำของบริษัท คัมปานา จำกัด เชื่อมต่อประเทศเมียนมา-ไทย-สิงคโปร์ อีก 600 ล้านบาท" นายณัฐนัย กล่าว

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2560 มั่นใจว่ารายได้จะเติบโต 30-40% แตะที่ระดับ 1,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 850 ล้านบาท โดยในปี 2559 ที่บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 809.29 ล้านบาท เนื่องจากการขยายฐานลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งธุรกิจให้บริการเช่าโครงข่ายใยแก้วนำแสง ให้บริการออกแบบ ก่อสร้าง และรับเหมางานโครงการสายใยแก้วนำแสงและโครงการสื่อสัญญาณโทรคมนาคม รวมถึงบริการเช่าพื้นที่ดาต้า เซ็นเตอร์ โดยแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก

โดยธุรกิจการให้บริการโครงข่าย คาดว่าจะมีรายได้เติบโต 30-40% จากปี 2559 ที่มีรายได้อยู่ที่ 409.93 ล้านบาท เนื่องจากมีการรับรู้รายได้จากการให้บริการโครงข่ายกับลูกค้า เช่น บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MTLS บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TIP และบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK

ขณะเดียวกันธุรกิจการให้บริการติดตั้งโครงข่าย คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 250-350 ล้านบาท จากปี 2559 ที่มีรายได้อยู่ที่ 344.49 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจการให้บริการพื้นที่ดาต้า เซ็นเตอร์ คาดว่าจะมีรายได้เติบโต 15% จากปี 2559 ที่บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 51.37 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้จากการเช่าพื้นที่ดาต้า เซ็นเตอร์แห่งแรก จำนวน 348 แร็คส์ โดยปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาเช่าใช้พื้นที่อยู่ที่ 95% นอกจากนี้ ดาต้า เซ็นเตอร์ แห่งที่ 2 จำนวน 624 แร็คส์ ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตร 2 ราย ได้แก่ บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AIT และบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA คาดว่าจะได้เซ็นสัญญากับลูกค้ากลุ่มราชการ เพื่อเช่าใช้พื้นที่ 8% ในช่วงเดือน ต.ค. 2560 และตั้งเป้าหมายจะมีลูกค้าเซ็นสัญญา 30% ภายในสิ้นปีนี้

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit