ล้ำไปอีกขั้น! ทีมนักวิจัย สจล. ประสบความสำเร็จพัฒนา “คอนกรีตบล็อกทนความร้อนผลิตไฟฟ้า” ด้วยวัสดุตั้งต้นจากเปลือกไข่ไก่ เป็นครั้งแรกของโลก

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          · สจล. เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ เพิ่มความคุ้มค่าการใช้พลังงานความร้อนเหลือทิ้ง ในอุตสาหกรรมเตาหลอมโลหะ - เตาชีวมวล - เตาเผาขยะขนาดใหญ่ เป็นกระแสไฟฟ้า พร้อมเร่งต่อยอดประยุกต์เป็นผนังคอนกรีต – หลังคาผลิตไฟฟ้า ในสมาร์ทโฮม และถนนผลิตไฟฟ้า

          ทีมนักวิจัยฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ "คอนกรีตบล็อกเทอร์โมอิเล็กทริกผลิตไฟฟ้าจากความร้อนโดยการใช้วัสดุตั้งต้นจากเปลือกไข่ไก่" ได้เป็นที่แรกในประเทศไทยและของโลก จากการพัฒนาคอนกรีตบล็อกทนความร้อนสูงมากกว่า 1,000 องศาเซลเซียส และประดิษฐ์อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าสำหรับฝังในคอนกรีตบล็อก จากการสกัดแคลเซียมออกไซด์จากเปลือกไข่ไก่ ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญสำหรับการผลิตอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าที่เรียกว่า "โมดูลเทอร์โมอิเล็กทริก" ซึ่งทนความร้อนได้สูงถึง 900 องศาเซลเซียส สามารถนำไปก่อเป็นกำแพงทนไฟแล้วผลิตไฟฟ้าในอุตสาหกรรมความร้อนได้ เช่น กำแพงทนไฟสำหรับเป็นเตาหลอมโลหะ เตาชีวมวล หรือเตาเผาขยะขนาดใหญ่ เพื่อผันพลังงานความร้อนที่ปล่อยทิ้งเปล่าประโยชน์ให้เป็นไฟฟ้า พร้อมเร่งต่อยอดพัฒนาวัสดุเทอร์โมอิเล็กทริกในช่วงความร้อนแสงแดด หวังนำไปประยุกต์เป็นผนังคอนกรีตและหลังคาผลิตไฟฟ้าในสมาร์ทโฮม หรือแม้กระทั่งถนนผลิตไฟฟ้า 
          ผศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ อาจารย์ประจำห้องวิจัยเทอร์โมอิเล็กทริก สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้วิจัยและที่ปรึกษาในโครงการวิจัย "คอนกรีตบล็อกเทอร์โมอิเล็กทริกผลิตไฟฟ้าจากความร้อนโดยการใช้วัสดุตั้งต้นจากเปลือกไข่ไก่" เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถาบันการศึกษาทั่วโลกได้หันมาให้ความสำคัญ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ซึ่ง สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลังงานอย่างคุ้มค่า จึงได้ร่วมกับนักวิจัยได้แก่ นายชัยวัฒน์ พรหมเพชร นักศึกษาปริญญาเอก และ นายจักรกฤษ กอบพันธ์ นักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาฟิสิกส์ สจล. พัฒนาคอนกรีตบล็อกทนความร้อนสูงมากว่า 1,000 องศาเซลเซียส ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในตัวจากความต่างความร้อน ในช่วง 400 - 900 องศาเซลเซียส ได้เป็นที่แรกในประเทศไทยและยังไม่พบสิ่งประดิษฐ์นี้ในระดับโลก ซึ่งขณะนี้ได้ทำการยื่นจดสิทธิบัตรขอรับการคุ่มครองสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ และได้รับเลขที่คำขอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
          ผศ.ดร.เชรษฐา อธิบายว่าผลงานการประดิษฐ์นวัตกรรมชิ้นนี้ เป็นการออกแบบใหม่ทั้งหมดโดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. คอนกรีตบล็อกทนความร้อนสูง โดยทีมวิจัยสามารถทำให้ทนความร้อนได้สูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส และ 2. อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าสำหรับฝังในคอนกรีตบล็อก โดยทีมวิจัยได้พัฒนา "วัสดุเทอร์โมอิเล็กทริก" จากการสกัดแคลเซียมออกไซด์จากเปลือกไข่ไก่ ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญสำหรับการผลิตอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าภายในตัวบล็อกที่เรียกว่า "โมดูลเทอร์โมอิเล็กทริก" ซึ่งโมดูลดังกล่าวสามารถทนความร้อนได้สูงถึง 900 องศาเซลเซียส เมื่อตัวบล็อกทนความร้อนได้รับความแตกต่างของอุณหภูมิความร้อนระหว่างสองด้าน กล่าวคือด้านหนึ่งของตัวบล็อกมีอุณหภูมิสูงกว่าอีกด้านหนึ่ง ความแตกต่างความร้อนจะถูกส่งผ่านไปยังโมดูลเทอร์โมอิเล็กทริก ที่ฝังไว้ในบล็อกที่ประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุเทอร์โมอิเล็กทริก 10 ตัว ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้า ซึ่งจากการทดสอบโดยนำคอนกรีตบล็อกเทอร์โมอิเล็กทริกผลิตไฟฟ้า 2 ก้อน มาต่อวงจรแบบอนุกรมสามารถทำให้หลอด LED ขนาด 105 mW สว่างได้ เมื่อด้านอุณหภูมิสูงของตัวบล็อกถูกให้ความร้อนที่ 600 องศาเซลเซียส หากนำมาประยุกต์ใช้กับโรงหลอมโลหะ โดยใช้คอนกรีตบล็อกเทอร์โมอิเล็กทริก 6,000 ก้อน จะได้กำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 1.2 kW - 6 kW ดังนั้น การออกแบบขนาดบล็อกและเพิ่มจำนวนโมดูลให้เหมาะสมกับการใช้งาน จึงสามารถนำไปประยุกต์เป็นเครื่องผลิตไฟฟ้าจากแหล่งความร้อนต่างๆ ได้ตามต้องการ
          "เนื่องจากเป็นงานวิจัยนวัตกรรมใหม่ในประเทศไทย ขณะนี้จึงยังไม่สามารถเทียบต้นทุนและความคุ้มค่าได้อย่างชัดเจน แต่หากเทียบกับราคาคอนกรีตบล็อกทนไฟธรรมดา ราคาอยู่ที่ก้อนละ 100-700 บาท ขึ้นอยู่กับความทนไฟ แต่เมื่อพัฒนาคอนกรีตบล็อกทนไฟทั่วไปให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในตัว แม้จะทำให้ต้นทุนต่อก้อนสูงกว่าประมาณ 2-4 เท่า แต่หากมองในภาพรวมถือว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก เพราะตัวคอนกรีตที่ทนความร้อนที่ฝังอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า ในย่านความร้อนช่วง 300 - 900 องศาเซลเซียส และใช้วัสดุขั้วไฟฟ้าและสายนำกระแสไฟฟ้าที่สามารถทนความร้อนสูงเกิน 1,000 องศาเซลเซียส สามารถนำไปก่อเป็นกำแพงทนไฟแล้วผลิตไฟฟ้าในอุตสาหกรรมความร้อนได้ เช่น ก่อเป็นผนังกำแพงทนไฟสำหรับเป็นเตาหลอมโลหะ กำแพงทนไฟสำหรับเป็นเตาชีวมวล หรือเตาเผาขยะขนาดใหญ่ และหากในอนาคตหากมีการพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์เชื่อว่าต้นทุนจะต่ำลงอีกมาก"
          ทั้งนี้ งานวิจัย "คอนกรีตบล็อกเทอร์โมอิเล็กทริกผลิตไฟฟ้าจากความร้อนโดยการใช้วัสดุตั้งต้นจากเปลือกไข่ไก่" ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดโครงงานวิจัยระดับอุดมศึกษากลุ่มฟิสิกส์ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2560 และกำลังลงนามสัญญาโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ระดับปริญญาเอก ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างการพัฒนาวัสดุเทอร์โมอิเล็กทริกในช่วงความร้อนแสงแดดเพื่อประยุกต์ไปเป็นผนังคอนกรีตและหลังคาผลิตไฟฟ้าในสมาร์ทโฮม หรือแม้กระทั่งถนนผลิตไฟฟ้า เป็นต้น พร้อมกับปรับปรุงวัสดุเทอร์โมอิเล็กทริก ให้มีความสามารถในการผันไฟฟ้าให้ได้สูงขึ้นด้วย ผศ.ดร.เชรษฐา กล่าว
          ด้าน นายชัยวัฒน์ พรหมเพชร นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ สจล. กล่าวว่า เทคนิคสำคัญที่ทำให้คอนกรีตบล็อกทนความร้อนได้สูง และสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการหล่อคอนกรีตบล็อกขึ้นจาก"คอนกรีตบล็อกทนไฟ" เพื่อทำหน้าที่เป็นด้านรับความร้อน สำหรับส่งความร้อนไปยังอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าที่ฝังไว้ภายใน และ "คอนกรีตฉนวนความร้อน" เพื่อทำหน้าที่ลดการถ่ายเทความร้อน จากชั้นคอนกรีตบล็อกทนไฟลงจึงสามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง เมื่อมีความแตกต่างของอุณหภูมิเกิดขึ้นในบล็อกโดยไม่ต้องระบายความร้อน และเมื่อนำไปรวมกับวัสดุเทอร์โมอิเล็กทริก ที่เตรียมและสังเคราะห์ได้เองในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นวัสดุเทอร์โมอิเล็กทริกประเภทออกไซด์ ที่มีวิธีการสังเคราะห์แบบเฉพาะให้เหมาะสมกับขนาดความแตกต่างของอุณหภูมิความร้อนจากตัวบล็อก ต่อเข้ากับวัสดุการต่อขั้วไฟฟ้าและสายนำกระแสไฟฟ้า ที่ออกแบบและเลือกวัสดุที่ใช้ในวิธีการต่อขั้วโมดูลและขั้วกระแสไฟฟ้า ให้สามารถทนความร้อนได้สูงกว่าเกิน 1,000 องศาเซลเซียส จึงสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพ
          ขณะที่ นายจักรกฤษ กอบพันธ์ นักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ สจล. กล่าวเสริมว่า เนื่องจาก "วัสดุเทอร์โมอิเล็กทริก" ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในการผลิตอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า ที่เรียกว่า "โมดูลเทอร์โมอิเล็กทริก" นั้น ใช้สารตั้งต้นส่วนใหญ่เป็น "แคลเซียมออกไซด์" ที่มีความบริสุทธิ์ 99 % ขึ้นไป มีราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 1,500-2,000 บาท แต่สารดังกล่าวก็มีในเปลือกไข่ไก่ จึงทดลองนำเปลือกไข่ไก่เหลือทิ้งจากโรงอาหารคณะวิทยาศาสตร์ มาผ่านกระบวนการเตรียมและสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ได้แคลเซียมออกไซด์ที่เป็นวัสดุตั้งต้นในการทำอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า ซึ่งนอกจากช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเปลือกไข่ไก่เหลือทิ้งอีกด้วย จึงไม่เพียงแต่จะเป็นการลดต้นทุนแต่ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลิตภัณฑ์ด้วย โดยปัจจุบันราคาโมดูลเทอร์โมอิเล็กทริกที่วางขายตามท้องตลาดนั้น ชนิดที่ผันไฟฟ้าได้จากความร้อนในย่าน 100 องศาเซลเซียส ราคาอยู่ที่ตัวละ 150-500 บาท ข้อเสียคือทนทานความร้อนได้ไม่ถึง 200 องศาเซลเซียส แต่หากเป็นชนิดที่ทนความร้อนในระดับ 300-600 องศาเซลเซียส ราคาประมาณ 3,000-15,000 บาท ส่วนชนิดทนความร้อนเกินกว่า 500 และ 1,000 องศาเซลเซียส ราคาจะสูงมากเพราะต้องใช้เทคโนโลยีการทำขั้วไฟฟ้า และต้องใช้วัสดุที่ต้องทนทาน แต่เมื่อนำสารสังเคราะห์จากเปลือกไข่ไก่ มาผลิตเป็นวัสดุโมดูลเทอร์โมอิเล็กทริกพบว่าช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ โดยคาดว่าหากได้รับการต่อยอดอย่างสมบูรณ์ ราคาจะถูกกว่าท้องตลาดถึง 3 เท่า
          ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ย้ำว่านอกจากผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ "คอนกรีตบล็อกเทอร์โมอิเล็กทริกผลิตไฟฟ้าจากความร้อนโดยการใช้วัสดุตั้งต้นจากเปลือกไข่ไก่" ข้างต้นแล้ว ที่ผ่านมา สจล. ได้สนับสนุนให้คณาจารย์และนักศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานทดแทน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรมากที่สุด โดยในด้านของพลังงานไฟฟ้านอกจากมีการจัดสร้างอาคารพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อใช้เป็นสถานที่เรียนรู้การผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ และให้เป็นห้องปฏิบัติการของนักศึกษาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากวัสดุอุปกรณ์จริงแล้ว ขณะเดียวกันยังได้สนับสนุนให้สร้างต้นแบบบ้านพลังงานแสงอาทิตย์เชิงภูมิอากาศชีวภาพ เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาวิจัยด้านการออกแบบสำหรับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในเรื่องการเชื่อมโยงธรรมชาติกับผู้อยู่อาศัย และใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสร้างกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ในแผนแม่บทการพัฒนาสถาบันฯ ระหว่างปี 2558 – 2562 ได้วางเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างภูมิทัศน์และเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีแล้ว ยังมีกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนการโครงการวิจัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนด้วย
          นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th
ล้ำไปอีกขั้น! ทีมนักวิจัย สจล. ประสบความสำเร็จพัฒนา “คอนกรีตบล็อกทนความร้อนผลิตไฟฟ้า” ด้วยวัสดุตั้งต้นจากเปลือกไข่ไก่ เป็นครั้งแรกของโลก
 
ล้ำไปอีกขั้น! ทีมนักวิจัย สจล. ประสบความสำเร็จพัฒนา “คอนกรีตบล็อกทนความร้อนผลิตไฟฟ้า” ด้วยวัสดุตั้งต้นจากเปลือกไข่ไก่ เป็นครั้งแรกของโลก
ล้ำไปอีกขั้น! ทีมนักวิจัย สจล. ประสบความสำเร็จพัฒนา “คอนกรีตบล็อกทนความร้อนผลิตไฟฟ้า” ด้วยวัสดุตั้งต้นจากเปลือกไข่ไก่ เป็นครั้งแรกของโลก
ล้ำไปอีกขั้น! ทีมนักวิจัย สจล. ประสบความสำเร็จพัฒนา “คอนกรีตบล็อกทนความร้อนผลิตไฟฟ้า” ด้วยวัสดุตั้งต้นจากเปลือกไข่ไก่ เป็นครั้งแรกของโลก

ข่าวสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง+พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังวันนี้

สจล. ร่วมมือมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมอาชีพครอบครัวคนพิการอย่างยั่งยืน

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี(คนที่ 2 จากซ้าย) อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ โดยพลเอกจิรศักดิ์ บุตรเนียร (คนที่ 3 จากซ้าย) รองประธานมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ (รักษาการแทนประธานกรรมการ) ในโครงการส่งเสริมอาชีพครอบครัวคนพิการอย่างยั่งยืนแบบองค์รวม ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้มีเป้าหมายหลักในการจัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพให้กับครอบครัวของคนพิการ สจล. และมูลนิธิปัญพัฒน์ จะร่วมกันส่งเสริม

ฟอร์ติเน็ต ประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมส่งเสริ... ฟอร์ติเน็ตร่วมกับ CIPAT มอบไฟร์วอลล์ ให้กับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง — ฟอร์ติเน็ต ประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซ...

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดก... สจล. ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มุ่งยกระดับฝีมือแรงงาน สอดคล้องความต้องการในอนาคต — สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย รศ. ดร.คมสัน...