สมาคมวิทยาลัยศัลยแพทย์นานาชาติฯ เปิดประชุมวิชาการใหญ่ เตรียมพร้อมแพทย์ไทยรับเทคโนโลยีใหม่รักษามะเร็งเต้านม

05 Jan 2018
ปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นเพชฌฆาตเงียบที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มสตรีไทย การจะรับมือกับภัยคุกคามนี้ให้ได้ผลเพื่อให้คนไทยห่างไกลจากโรคร้ายนั้น นอกจากจะต้องเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนแล้ว ทางด้านบุคลากรทางการแพทย์เองยังต้องพัฒนาความรู้ของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาแก่ผู้ป่วยได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที เพราะ "มะเร็งเต้านม" เป็นโรคที่รักษาหายได้หากตรวจพบเร็ว
สมาคมวิทยาลัยศัลยแพทย์นานาชาติฯ เปิดประชุมวิชาการใหญ่ เตรียมพร้อมแพทย์ไทยรับเทคโนโลยีใหม่รักษามะเร็งเต้านม

ล่าสุด สมาคมวิทยาลัยศัลยแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จับมือกับโรงพยาบาลขอนแก่น จัดการประชุมใหญ่ทางวิชาการ ครั้งที่ 63 ประจำปี 2560 หัวข้อ Breast-Bowel-Trauma & Patient Safety เปิดโอกาสให้แพทย์ พยาบาล และนักศึกษาแพทย์ทั่วประเทศกว่า 300 คนเข้าร่วมเพื่อยกระดับความรู้ในการตรวจรักษาโรคมะเร็งเต้านมเป็นสำคัญ โดยมี "โครงการวาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม" กิจกรรมเพื่อสังคมภายใต้การดำเนินงานของบริษัทไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์วาโก้ และบริษัทไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ร่วมให้การสนับสนุนการประชุมครั้งนี้

หนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์ที่น่าสนใจซึ่งมีประโยชน์มากต่อการรักษาโรคมะเร็งเต้านม คือ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการสาธิตวิธีการใช้เข็มเจาะตัดชิ้นเนื้อ โดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ช่วยกำหนดตำแหน่ง (Ultrasound guided core biopsy) เพื่อนำเนื้อเยื่อไปตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติของเซลล์มะเร็งโดย ศ.นพ.ศุภกร โรจนนินทร์ นายกสมาคมวิทยาลัยศัลยแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานโครงการศัลยแพทย์เพื่อแผ่นดิน สมาคมวิทยาลัยศัลยแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าถึงเหตุผลที่เลือกนำหัตถการนี้มาสอนว่า ต้องการเตรียมความพร้อมให้แก่ศัลยแพทย์ไทยเพื่อปูทางรอรับเทรนด์การรักษาแบบใหม่จากต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะพึ่งพาการผ่าตัดน้อยลงเรื่อยๆ

"หัตถการนี้เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งในเบื้องต้น ที่จะทำภายหลังพบก้อนที่เต้านมไม่ว่าจะด้วยวิธีการคลำหรือแมมโมแกรม แม้ว่าหัตถการนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถือว่าจำเป็นมากต่อวิธีการรักษามะเร็งเต้านมรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า "Cryosurgery" หรือการผ่าตัดฆ่าเซลล์มะเร็งด้วยความเย็น ซึ่งถูกนำมาใช้แพร่หลายแล้วในโรงพยาบาลญี่ปุ่น และคาดว่าจะถูกนำมาใช้ในไทยอย่างแน่นอนภายใน 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้โดยปกติแล้ว แพทย์ที่จบใหม่จะไม่คล่องการทำหัตถการนี้เนื่องจากไม่มีสอนในหลักสูตร มักเน้นการทำหัตถการฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิตมากกว่า เช่น ทำคลอด ผ่าตัดไส้ติ่ง เจาะปอด เจาะคอ เป็นต้น"

"การตัดชิ้นเนื้อแบบนี้จะใช้เข็มเล็กๆ เจาะเข้าไปในเต้านมเพื่อนำเนื้อเยื่อออกมาตรวจ ข้อดีคือแผลเล็ก ไม่ต้องทำในห้องผ่าตัด ทำแล้วสามารถกลับบ้านได้เลย ที่สำคัญต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นวิธีที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ นิยมใช้กัน แต่ในต่างจังหวัดยังใช้วิธีผ่าตัดเปิดเพื่อตัดชิ้นเนื้อไปตรวจมากกว่า เนื่องจากแพทย์ที่ทำได้ยังมีน้อย และต้องเป็นแพทย์ที่มีประสบการณ์สูงด้วย จึงอยากให้ทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำเป็น หากทุกจังหวัดทำได้ ก็ไม่จำเป็นต้องส่งต่อคนไข้ไปที่อื่น"

"แต่แน่นอนว่าถึงแม้จะมีเทคโนโลยีรักษาโรคที่ดีแค่ไหน ถ้าคนไข้มาถึงมือหมอช้าก็อาจสายเกินไป การณรงค์เพิ่มความตระหนักรู้ให้ประชาชนรู้เท่าทันถึงอันตรายของโรค และเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ยังเป็นสิ่งที่เราต้องทำต่อไปอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม จึงต้องใส่ใจตัวเองคอยหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย เริ่มต้นจากการคลำตรวจเต้านม หากพบสิ่งผิดปกติ เช่น มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลจากหัวนม หรือมีก้อนเนื้อ แม้จะมีขนาดเล็กเพียง 1 ซม. ก็ให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็วเพื่อตรวจอย่างละเอียด และรับรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการหายจากโรค และยังเป็นกุญแจสำคัญที่สุดที่จะป้องกันคนไทยให้ห่างไกลเพชฌฆาตร้ายนี้" นพ.ศุภกร กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ การประชุมใหญ่ทางวิชาการดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมต้านภัยมะเร็ง ที่ทางสมาคมฯ ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนหารายได้เพื่อสร้างศูนย์มะเร็งเต้านมแห่งแรกในภาคอีสาน ณ โรงพยาบาลขอนแก่น นอกจากนี้ ภายในงานประชุมวิชาการยังมีการออกร้านจัดแสดงนวัตกรรมการแพทย์เกี่ยวกับศัลยศาสตร์จากภาคเอกชนที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ วาโก้ที่ได้นำชุดชั้นใน Balancing bra เพื่อผู้สูญเสียเต้านมจากการผ่าตัดมะเร็งเต้านม และผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าทางการแพทย์ ชุดกระชับสำหรับผู้ป่วยที่บาดเจ็บจากน้ำร้อนลวกหรือแผลไฟไหม้ซึ่งจะช่วยกดกระชับให้แผลคีย์ลอยเนียนเรียบ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสื้อกระชับหลังการผ่าตัดเต้านมทำให้แผลแห้งเร็วขึ้น ผลิตภัณฑ์ศัลยกรรมเพื่อความงาม เช่น หลังการเพิ่มหรือลดขนาดหน้าอก หลังการดูดไขมันหน้าทัอง สะโพก ต้นขา เป็นต้น

สมาคมวิทยาลัยศัลยแพทย์นานาชาติฯ เปิดประชุมวิชาการใหญ่ เตรียมพร้อมแพทย์ไทยรับเทคโนโลยีใหม่รักษามะเร็งเต้านม