ก.แรงงาน ดันผู้ประกอบการ 500 แห่ง สร้างสมรรถนะลูกจ้าง เน้นนวัตกรรม

27 Dec 2017
วันที่ 27 ธันวาคม 2560 ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอล์ล เอบีซี โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ รมว.แรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงานในสถานประกอบกิจการกว่า 500 แห่ง ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545
ก.แรงงาน ดันผู้ประกอบการ 500 แห่ง สร้างสมรรถนะลูกจ้าง เน้นนวัตกรรม

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการเป็นประธานเปิดโครงการฯ ว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิตและบริการเปลี่ยนแปลงไป เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รัฐบาลจึงกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ให้ประเทศไทยเข้าสู่ "ประเทศไทย 4.0" ด้วยการขับเคลื่อนด้านนวัตกรรม ที่เน้นเทคโนโลยี การบริการที่เป็นเลิศ ควบคู่กับการเสริมสร้างด้านความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ส่งผลให้รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งมุ่งเน้นการ "เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ"

รมว.แรงงาน กล่าวต่อไปว่า แต่เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐมีทรัพยากรและงบประมาณจำกัด ประกอบกับจำนวนกำลังแรงงานของประเทศมีมากถึง 38 ล้านคน จึงจำเป็นต้องใช้แนวทางการผสานพลังประชารัฐเป็นตัวการขับเคลื่อน ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นว่าสถานประกอบกิจการสามารถพัฒนาคนได้ตรงตามความต้องการและรวดเร็วกว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) จึงจัดสัมมนาขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ผู้ประกอบกิจการ ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาฝีมือแรงงาน ประโยชน์ที่ได้รับ ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ลดภาระในการจ่ายเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน อีกทั้งยังได้สิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ อีกหลายด้าน อาทิ การลดหย่อนด้านภาษี สิทธิในการรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนในแต่ละกรณี โดยเฉพาะการฝึกอบรมด้านนวัตกรรม ได้รับเงินอุดหนุนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หลักสูตรเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม เช่น สาขาการออกแบบสมองกลฝังตัวในโรงงานอุตสาหกรรม การควบคุมหุ่นยนต์ในระบบงานอุตสาหกรรม การใช้โปรแกรมเมเปิ้ลลอจิกคอนโทรลเลอร์ขั้นสูง เป็นต้น

การสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้บริหารของสถานประกอบกิจการ หัวหน้าหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมของสถานประกอบกิจการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมกว่า 500 แห่ง และหวังที่จะได้รับข้อคิดเห็นและเสนอแนะ เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป การร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่ายจะช่วยนำพาประเทศก้าวสู่การเป็น"ประเทศไทย 4.0"ต่อไป รมว.แรงงานกล่าว