นอกจากบทบาททางด้านการศึกษาและการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการแล้ว มหาวิทยาลัยยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นโดยรอบพื้นที่สถาบัน ให้มีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ โดยเฉพาะภารกิจในการยกระดับคุณภาพชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้น ด้วยการนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของเหล่าคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรในสถานศึกษา ไปบริการและถ่ายทอดสู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกันยังต้องคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และวิถีชีวิตความเป็นชุมชนดั่งเดิมนั้น ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งในทางปฏิบัติไม่เพียงสร้างความสมัครสมานสามัคคีระหว่างสถาบันการศึกษากับชุมชนเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมบรรยากาศและสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่อาศัยขึ้นด้วย
จากแนวคิดดังกล่าว ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สจล. ได้นำแนวคิดในการบริการและถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไปพัฒนาต่อยอดกำเนิดเป็นโครงการ "ชุมชนจิตอาสาร่วมใจ พระจอมเกล้าลาดกระบัง" ขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสำนึกที่ดีในการสร้างจิตสาธารณะของเหล่าคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของสถาบัน ในการมีส่วนร่วมพัฒนาวิถีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบสถาบัน ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาให้มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของชุมชน ภายใต้การดำเนินงานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนในชุมชนร่วมกันบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ของตนให้เพิ่มสูงขึ้น
ศ.ดร.สุชัชวีร์ อธิบายว่า สจล. ได้ตระหนักถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการยึดเหนี่ยวและปฏิบัติ โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนและชุมชนโดยทั่วไป ด้วยเหตุนี้จึงได้นำร่องดำเนินโครงการในรูปแบบจิตอาสาร่วมใจพัฒนาชุมชน นำร่องในเขตพื้นที่ชุมชนรอบสถาบันการศึกษา โดยการจัดตั้งจุดบริการประชาชนและลงพื้นที่บำเพ็ญประโยชน์ในด้านต่างๆ ตามความรู้และความเชี่ยวชาญของเหล่าคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของสถาบัน อันเป็นการผสมผสานศาสตร์และองค์ความรู้จาก 10 คณะ ชั้นนำของ สจล. โดยแบ่งออกเป็น 7 กิจกรรม ได้แก่ 1. ทำความสะอาดถนนและทาสีฟุตปาธ โดยความร่วมมือจากบุคลากรทุกฝ่ายในสถาบัน 2. บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและตรวจเช็คสภาพรถจักรยานยนต์ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์และชมรมยานยนต์ 3. กำจัดผักดับชวาและตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยวิทยาลัยวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษา และวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยี 4. สอนศิลปะ ประกอบเครื่องบินจำลอง อบรมความรู้คอมพิวเตอร์ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ 5. หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทำการปฐมพยาบาลและเยี่ยมคนไข้ติดเตียง โดยคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ 6. จัดทำแผนที่ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ณ ชุมชนหัวตะเข้ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี และ 7. ครัวจิตอาสา โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตร
การเปิดโครงการนำร่องของ สจล. ในครั้งนี้ มุ่งหวังเป็นโมเดลต้นแบบขยายโครงการดังกล่าวไปสู่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ผ่านที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และสมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย (สออ. ประเทศไทย) ในฐานะประธาน ซึ่งเบื้องต้นกำหนดว่าจะดำเนินการพร้อมกันในวันที่ 21 เมษายน 2561 โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เลือกดำเนินกิจกรรมจิตอาสาตามความถนัดและเชี่ยวชาญของตนเอง เช่น การเข้าไปช่วยกันทำความสะอาดชุมชน การให้ความรู้กับชาวบ้านในเรื่องต่างๆ การสอนภาษาต่างประเทศที่สำคัญและจำเป็น สอดคล้องกับบริบทของสังคมและชุมชนนั้นรวมถึงการนำเทคโนโลยีที่มหาวิทยาลัยคิดค้นไปใช้ในชุมชน เช่น มหาวิทยาลัยสยาม ทำแขนขาเทียมให้คนพิการ สจล. นำนวัตกรรมกำจัดผักตบชวาไปช่วยทำความสะอาดแหล่งน้ำ โดยการใช้โดรนฉีดพ้นสารชีวภาพที่คิดค้นจนประสบความสำเร็จ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ส่งเสริมศักยภาพชุมชนโดยการสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับเอสเอ็มอี
"ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้เข้าไปช่วยเหลือชุมชนอยู่แล้วแต่เป็นรูปแบบต่างคนต่างทำ แต่การดำเนินโครงการในครั้งนี้เป็นการทำพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อผลักดันกระบวนการหล่อหลอมเพื่อจิตสาธารณะ ในการเป็นบุคคลและบัณฑิตที่สมบูรณ์แบบพร้อมรับใช้สังคมในอนาคต รวมทั้งสะท้อนภาพการเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่า และคุณประโยชน์อย่างยิ่งของชุมชน ทั้งด้านวิชาการ การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของสถานศึกษาอีกด้วย" ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ก้อง - ก้องเกียรติ รัฐสมบูรณ์ นักศึกษาปี 3 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมโครงการ "ชุมชนจิตอาสาร่วมใจ พระจอมเกล้าลาดกระบัง" ให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและตรวจเช็คสภาพรถจักรยานยนต์ บอกว่า การได้เข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาทำให้รู้สึกว่าได้ร่วมทำประโยชน์ให้กับสังคม แม้ว่าการให้บริการในวันนี้จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ถือว่าพวกเรานักศึกษาได้นำความรู้มาบริการคนในชุมชน ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าหากมีการขยายโครงการแบบนี้ไปในวงกว้าง จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศได้อย่างแน่นอน
ไม่ต่างกับ ไปร์ท - ณัฎฐชัย ภูมิพาณิชย์ชัย นักศึกษาปี 1 คณะวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ และ ปัณ - ปัณณธร จันทรบูลย์ นักศึกษาปี 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย สองหนุ่มผู้ทำหน้าที่สันทนาการสอนเด็กๆ ประกอบเครื่องบินจำลองและเทคนิคการวาดรูป บอกว่าการได้ออกมาทำกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน ไม่เพียงช่วยสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆ ที่เข้าร่วมเพียงเท่านั้น แต่ตนเองในฐานะรุ่นพี่ที่มาร่วมมอบความสุขให้กับน้องๆ นักเรียนพื้นที่ใกล้เคียงก็รู้สึกอิ่มเอมใจไปด้วย แม้จะเป็นกิจกรรมสันทนาการแต่ก็พยายามสอดแทรกความรู้และมุมมองดี เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษากับเด็กรุ่นใหม่มุ่งมั่นตั้งใจเพื่ออนาคตในวันข้างหน้า
เช่นเดียวกับ กวาง - ณัฐสรัญ รณะนันทน์ นักศึกษาปี 3 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สาขาการออกแบบสภาพแวดล้อมภายใน ทีมสำรวจและจัดทำแผนที่ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ที่บอกว่า กิจกรรมจิตอาสาในวันนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษา ได้นำเอาความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนออกใช้มาพัฒนาชุมชน ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ดีๆ ที่ช่วยฝึกฝนการทำงานจริงอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะการลงพื้นที่สำรวจชุมชนและจัดทำเป็นแผนที่ท่องเที่ยว จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจและโปรโมทตลาดเก่าริมน้ำชุมชนหัวตะเข้ ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปและอยากมาท่องเที่ยวเสพบรรยากาศ เพลิดเพลินไปกับเสน่ห์ของบ้านไม้สองชั้นยุคโบราณที่ดัดแปลงเป็นร้านค้าต่างๆ ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนได้มากขึ้น
ทั้งนี้ นอกจากเหนือไปจากโครงการจิตอาสาพัฒนาชุมชนข้างต้นแล้ว ขณะเดียวกัน สจล. ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังได้มุ่งมั่นในการพัฒนาและจัดสรรพื้นที่ต่างๆ ในสถาบัน เปิดพื้นที่ให้ชุมชนโดยรอบเข้ามาศึกษาเรียนรู้และใช้ประโยชน์ อันสอดคล้องกับนโยบายการเป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ของชุมชน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่ชาวชุมชนและประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง สำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ โดยคลิกเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlpr หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit