คณะกรรมการบริหารกองทุนดีอี เดินหน้าตั้ง 3 คณะอนุกรรมการ ดึงทุกภาคส่วนร่วมทำงาน เน้นประโยชน์สาธารณะ-ไม่แสวงหากำไร

08 Nov 2017
รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ เผยคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดกองทุนดีอี) เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ พร้อมเชิญผู้แทนทุกภาคส่วนร่วมทำงาน ทั้งกำหนดกรอบนโยบาย กลั่นกรองพิจารณาโครงการ และติดตามประเมินผล เน้นบริหารกองทุนฯ อย่างโปร่งใส เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่เป็นการแสวงหากำไรอย่างแท้จริง
คณะกรรมการบริหารกองทุนดีอี เดินหน้าตั้ง 3 คณะอนุกรรมการ ดึงทุกภาคส่วนร่วมทำงาน เน้นประโยชน์สาธารณะ-ไม่แสวงหากำไร

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดกองทุนดีอี) ครั้งแรก โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ นั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงานกองทุนฯ คณะกรรมการการบริหารกองทุนฯ จะเป็นผู้กำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์ เพื่อการบริหารงานกองทุนฯ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ในงานด้านต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับการบริหารจัดการงานกองทุนฯ เพื่อให้มีกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ของกองทุนฯ ในระหว่างที่ร่างระเบียบคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. .... อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ดังนั้น คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จึงเห็นสมควรให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานในด้านต่างๆ จำนวน 3 คณะ ประกอบด้วย

1) คณะอนุกรรมการกำหนดกรอบนโยบายการดำเนินงาน มีองค์ประกอบทั้งหมด 9 คน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธานอนุกรรมการฯ มีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ ร่วมเป็นอนุกรรมการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอกรอบนโยบายการดำเนินงานของกองทุนฯ รวมถึงกำหนดสัดส่วนการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ให้สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนด 2) คณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการ มีองค์ประกอบทั้งหมด 11 คน โดยปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธานอนุกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ พิจารณากลั่นกรองโครงการต่างๆ รวมถึงจัดทำกรอบการพิจารณาให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาให้การส่งเสริมและสนับสนุนจากกองทุนฯ เพื่อให้การบริหารกองทุนฯ มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสในการทำงาน เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไป

และ 3) คณะอนุกรรมการติดตามประเมินผล มีองค์ประกอบทั้งหมด 15 คน โดยเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับการส่งเสริม สนับสนุน หรือช่วยเหลือจากกองทุนฯ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ รวมทั้งศึกษา รวบรวม และจัดทำรายงาน เพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ พิจารณา ตลอดจนเสนอแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขการบริหารกองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

"คณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการมีความสำคัญ เนื่องจากจะต้องพิจารณากรอบการอนุมัติโครงการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่ต้องคำนึงถึงเรื่องประโยชน์ทับซ้อน ในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไป รวมถึงการอุดหนุนงานวิจัยด้านต่างๆ ที่รวม ไปถึงผู้ประกอบการ โดยคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการ จะต้องกำหนดกรอบ ระเบียบ หลักเกณฑ์การพิจารณาขึ้นมาก่อน รวมถึงต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและไม่เป็นการแสวงหากำไรอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ พิจารณา ทั้งนี้ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 3 คณะ ฝ่ายเลขานุการฯ จะจัดทำร่างคำสั่งเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ในฐานะรองประธานกรรมการบริหารกองทุนฯ พิจารณา ก่อนเสนอให้ประธานกรรมการบริหารกองทุนฯ พิจารณาลงนามในคำสั่งต่อไป" ดร.พิเชฐฯ กล่าว