ตอนนั้นตั้งงบไว้ก้อนหนึ่ง เข้าไปที่ร้านหนึ่ง บอกเขาว่า ตั้งงบไว้สองสามล้าน ช่วยจัดชุดให้หน่อย "อย่าว่าแต่สองสามล้าน สิบล้านก็มี" ผมเดินออกมาเลย ไปดูอีกร้าน ให้เขาจัดให้ ความที่เราต้องการพลังสูงๆ เลยต่อเยอะหน่อย เล่นไป 24 ชิ้น ทีแรกคนก็ทักว่าเยอะเกินหรือไป หลังๆ ชวนคนที่ขายมาฟัง คนขายบอกว่า รู้แล้วว่าทำไมชอบใช้แอมป์เยอะนัก มันถึงได้เสียงหนาแน่นขนาดนี้ไง ตอนนี้ชุดที่อยู่ในบ้าน ใช้มามากว่าสิบปี พอใจ ความจริงดีกว่านี้ก็มี แต่คงต้องเสียเงินเพิ่ม ไม่เอาดีกว่า เล่นแบบนี้แหล่ะ
ชุดเครื่องเสียงที่คอนโดริมน้ำ
เมื่อตัดสินใจซื้อคอนโดฯ เลือกชั้นสูงๆ ต้องการวิวสวยริมแม่น้ำ เห็นบรรยากาศของกรุงเทพฯ เราเองตั้งใจแต่แรกเลยว่าต้องมีห้องฟัง ยังไงก็ต้องมี เพราะผมรักมัน ให้ผมอยู่ห้องนี้เฉยๆ มองวิวอย่างเดียว ไม่เอาหรอกครับ (เฉพาะเครื่องเสียง กินพื้นที่ไปสามในสี่ของห้อง) ผมอยู่ในห้องนี้ถึงตีสามตีสี่นะ ไม่รู้สึกว่าเหนื่อย ไม่ง่วงเลย เหลือบมองนาฬิกา นึกได้ว่าพรุ่งนี้ต้องไปทำงาน เอาเป็นว่าเวลาฟังทีหนึ่งต้องใช้เวลาเจ็ดถึงแปดชั่วโมง บางครั้งอยู่ได้ทั้งวัน เพราะเรามีความสุขกับมัน เรารักมัน ถ้ามีเวลาแค่สองชั่วโมง ต้องรีบๆ ไม่เอาหรอก ต้องมีอย่างต่ำห้าหกชั่วโมง ฟังห้าเพลงสิบเพลง ออกมาเดินยืดเส้นยืดสาย เดี๋ยวกลับเข้าไปใหม่ อยู่แบบนี้แหล่ะ มาที่นี่เดือนละครั้ง ครั้งหนึ่งอยู่สัปดาห์หนึ่ง
สำหรับมือใหม่หัดเล่นเครื่องเสียง
เล่นเครื่องเสียงต้องเดินงานเครื่องเสียง ไปเดินทุกงาน งานทั้งในและนอก งาน BAV Hi-End Show เดินทุกปี ก็มีหลายระดับให้ฟัง บางทีชุดปานกลางเซ็ตดีมาก บางชุดแพงมากแต่ก็… ไม่ใช่หูทองนะ แต่คงต้องฟังว่า เบสดีไหม เสียงกลาง ปลายเสียงแหลมเป็นยังไง ชิ้นดนตรี โอเคไหม เสียงร้องดีไหม ส่วนโฟกัสหรือไม่ อยู่ที่คุณตั้ง ไม่เกี่ยวกับเครื่องเสียงหรือเซ็ตอัพแล้วล่ะ
ถามว่าชอบฟังแนวไหน ทุกแนว แต่แนวเพลงคลาสสิคไม่ชอบนะ มันยาวไป แต่ก็มีชอบบ้าง อย่างไวโอลิน เครื่องเสียงดีๆ ได้ยินถึงการสั่นไหวของเส้นสายเลยครับ อย่างเพลงแจ๊ส ชอบเสียงแซ็กอย่างของ Coltrane ยิ่งได้เสียงสากๆ ของเสียงลมผ่านท่อโลหะนี่ชอบเลย เบสก็ชอบ มันดี กลองฟังยาก มันวิ่ง เปียโน ไวโอลิน เห็นเส้นเสียง กีต้าร์ไม่เท่าไหร่ ฟังดัง ยิ่งคอนเสิร์ตต้องเปิดดัง ต้องให้ไดนามิกส์เหมือนเวลาเราอยู่ในคอนเสิร์ตฮอลล์ ยิ่งดนตรีน้องชิ้นยิ่งต้องเปิดดังขึ้น ซิสเต็มที่บ้านกับที่นี่เสียงคนละแนวเลย แต่มีความสงัด ชนิดนักดนตรีขยับตัวยังได้ยิน เคยเอาแผ่นเดียวกันไปเปิดที่อื่น ไม่ยักได้ยิน
เชื่อไหม เล่นเครื่องเสียงแล้วชีวิตจะเปลี่ยน บางคนฟังเพลงไม่ซีเรียส ฟังอะไรก็ได้ เราไม่คุยด้วยเพราะจูงไม่มา เริ่มต้นเล่นใหม่ๆ ต้องใช้บริการร้านค้า แต่ก็ควรเรียนรู้ที่จะปรับแต่งหรือเซ็ตอัพเองโดยเริ่มจากหัดขยับลำโพงก่อนเลย อย่าไปเชื่อว่าตั้งทีเดียวแล้วดีตลอด ข้อสำคัญ ถ้าจะเล่นไฮเอ็นด์ยังไงก็ต้องมีห้อง และเซ็ตอัพให้พอเป็นบ้าง สนใจที่จะหาความรู้ ใส่ใจในรายละเอียด อย่าเชื่อเรื่องวูดู ทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ แล้วจะสนุก
ถ้าจะเล่นเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ ยังไงก็ต้องมีห้องฟังที่ดี เพราะส่งผลต่อคุณภาพห้องเสียงโดยตรง กล้าเล่นเครื่องเสียงแพงๆ อย่าขี้เหนียวเรื่องห้อง ต้องลงทุนกับห้องดีๆ มิฉะนั้นจะเสียดายมาก เมื่อมีห้องแล้ว ต้องเลือกลำโพงที่เราชอบแต่ต้องให้เหมาะกับห้อง แล้วค่อยหาเพาเวอร์มาขับมัน แอมป์ใหญ่ไว้หน่อยดีกว่าเล็กไป เพราะจะไม่มีแรง ส่วนคำถามว่าจะเลือกอะไรก่อน ระหว่างแอมป์หรือลำโพง และฟรอนต์เอ็นด์ ลำโพงต้องมาก่อนเพราะเราฟังเสียงจากลำโพง เราต้องชอบเสียงลำโพงก่อน ลำโพงคือปาก ถ้าไม่ชอบนักร้องเสียแล้วจะเพราะได้ยังไง ตัดสินใจให้ดี
ตั้ง The Museum อาณาจักรลำโพงไฮเอนด์ ศูนย์รวมพ่อเครื่องเสียง
ผมเชื่อว่าในวงการเครื่องเสียงเอาทั่วโลกเลย ไม่มีใครไม่รู้จัก Mr.Mark Levinson เจ้าของชุดเครื่องเสียงระดับ High Performance Audio & Home Theater ซึ่งตอนหลัง มาร์ค เลวินสันได้กลับมาทำเครื่องเสียง ใช้ชื่อแบรนด์ Daniel Hert S.A. (แบบว่าเอาชื่อพ่อมาเป็นชื่อแบรนด์) เป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่ "ตัวจริงเสียง" ระดับนี้ออกโรงเองในบ้านเราด้วยตัวเอง วันนี้ที่ระบบเสียงแบรนด์Daniel Hert S.A.จากการออกแบบของคุณมาร์ค และทีมงานที่มีวิศวกรชาวเยอรมนีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงอันสำคัญ ได้ถูกนำเข้ามาจัดจำหน่ายโดย The Museum โชว์รูมเครื่องเสียงแห่งใหม่ใต้ฟ้าบางกอก บนถนนพระราม 9
รุ่นใหญ่ฝากไว้ให้คิด
ก่อนลงทุนกับเครื่องเสียงตัวใหม่ ต้องถามตัวเองก่อน คุณชอบจริงหรือเปล่า อย่าเชื่อแรงยุ ไล่ฟังให้มากพอ จนกว่าจะพอใจจริงๆ เสียก่อน แล้วค่อยตัดสินใจซื้อ ยังไงเสียเขาเปิดให้ฟังฟรีอยู่แล้ว เตือนนิดหนึ่งว่าอย่าไปฟังตอนอารมณ์ดีมากๆ อย่างเช่นเพิ่งขายที่ได้ มีความรัก หรือถูกหวยมา อารมณ์นั้นฟังอะไรก็เพราะ เรื่องจ่ายไม่ยากหรอกแต่ถ้าตัดสินใจแล้วไม่ใช่ คิดจะปล่อยคืน เจ็บตัวแน่ ไม่สนุก รอบคอบนิดแล้วจะไม่พลาด ขอให้มีความสุขกับเสียงดนตรีจากชุดเครื่องเสียงสุดรักของคุณ
อนึ่ง คุณรชต ลีลาประชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย-เยอรมัน โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) (TGPRO) โลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตท่อสเตนเลสมายาวนาน เป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ประวัติแล้วมีทั้งล้มและลุก ปัจจุบันบริษัทฯ มีความสามารถในการผลิตสูงสุดได้มากกว่า 50,000 ตันต่อปี และส่งออกไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ตุรกี ปากีสถาน เวียดนามและอื่น ๆ ได้รับใบรับรองการทำงานตามมาตรฐานสากล ต่างๆ อาทิเช่น Quality Management System ISO 9001 : 2008, Total Quality Management หรือ TQM. มาตรฐานแรงดัน PED ของยุโรป และอื่น ๆ
ย้อนหลังไป กว่าจะเป็นที่หนึ่งเรื่องสเตนเลส กว่า 40 ปี ด้วยวิสัยทัศน์ของ คุณประชา ลีลาประชากุล ชวนเพื่อนวิศวะชาวเยอรมัน เข้ามาตั้งโรงงานผลิตท่อสเตนเลส สมัยนั้นนำเครื่องจักรจากเยอรมันมาร้อยเปอร์เซ็นต์ พร้อมผลิตท่อสเตนเลสขายโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยชื่อเสียงและคุณสมบัติเฉพาะของ "สเตนเลส" เมื่อนำมาทำเป็นท่อ ทำให้การตอบรับไม่ยาก สมัยนั้นไม่มีคู่แข่ง แต่จะแข่งคือตัวเอง เพราะลงทุนเครื่องจักรสูง บริษัทฯ ยิ่งใหญ่ เงาที่เปรียบเสมือนกับหนี้ก็ใหญ่ตามตัว ปี 2516 บริษัทฯ ถือกำเนิดขึ้น, ปี 2538 ได้จดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์, ปี2540 ได้รับผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้ง หนี้ 2,000-3,000 ล้านพุ่งเป็น 8,000 ล้านบาทภายในคืนเดียว!! ต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในเดือนสิงหาคม 2542 ช่วงปลายปี2549 บริษัทได้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการเหมือนทุกอย่างจะดีขึ้น แต่แล้วในปี 2551 บริษัทประสบกับปัญหาขาดทุน จากการดิ่งลงของราคาสเตนเลสต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน ต้องกลับเข้าสู่ขบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นครั้งที่ 2
"อาจกล่าวได้ว่า 15 ปีแรก ตระกูลลีลาประชากุล มีเวลาฟื้นตัวช่วงสั้นๆ ขณะที่ระยะเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้" รชต ทายาทรุ่นที่ 2 เจ้าของวลี "ทะเลเลือดสาด" กล่าว กระนั้นในช่วงที่เขาบริหาร ยังแอบตั้งเป้าเบาๆ ว่า จะทำให้บริษัทมีรายได้ตามเป้าหมาย (5,000 ล้านบาท) คือ 1. เราจะขายสินค้ามากขึ้นให้ลูกค้ารายเก่าที่มีอยู่กว่า 600 ราย และ 2. จะเพิ่มสัดส่วนลูกค้าต่างประเทศมากขึ้นเป็น 50% จากปีนี้ ที่คาดจะมียอดส่งออก 30% เน้นตลาดอาเซียน เช่น ลาว พม่า และเวียดนาม เป็นต้น ส่วนตลาดแถบยุโรปก็เล็งอยู่ สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกาบริษัทส่งออกอยู่แล้ว แต่ตลาดสหรัฐจะยังไม่ให้น้ำหนักในตอนนี้ "การมุ่งตลาดส่งออกทั้งที่อัตรากำไรขั้นต้นต่ำเพียง 10% ตลาดในประเทศ 15-20% แต่จำเป็นต้องหาตลาดใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ปัจจุบันไต้หวัน และจีน เป็นคู่แข่งรายใหญ่ของไทยแต่เราไม่กลัว สู้ด้วยคุณภาพ ท่อสเตนเลสของเรา ทำจากสเตนเลสแท้ 100% ไม่เป็นสนิม ของที่อื่น ไม่รู้"