มาตรการด้านการเงินสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้

29 Nov 2017
นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการด้านการเงินสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขยายระยะเวลาพร้อมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรการด้านการเงินที่มีอยู่เดิมและเสนอโครงการใหม่เพิ่มเติม ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1) โครงการสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

1.1) โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปรับปรุงใหม่) ธนาคารออมสินสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยจากผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีก 5 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อให้โครงการมีความต่อเนื่อง พร้อมทั้งปรับคุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อให้รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ด้วยและเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของโครงการให้รวมถึงการลงทุนในการขยายกิจการได้

1.2) มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย ธ.ก.ส. ขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนของเงินต้นที่ไม่เกิน 200,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

1.3) โครงการสินเชื่อสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

1.3.1) โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขยายวงเงินสินเชื่อจากเดิมที่มีกรอบวงเงินโครงการไม่เกิน 2,500 ล้านบาท เป็นกรอบวงเงินโครงการไม่เกิน 5,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.75 ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก

1.3.2) โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงินโครงการ 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.25 ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก

1.3.3) โครงการบ้าน ธอส. เพื่อสานรัก ปี 2560 วงเงินโครงการ 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.99 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก

1.4) โครงการสินเชื่อบ้านมุสลิมชายแดนใต้ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) โดยให้สินเชื่อแก่มุสลิมที่ต้องการจัดหาหรือซ่อมแซมและต่อเติมที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอัตรากำไรที่ผ่อนปรน

2) โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้านประกันภัย (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา) โดยขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีก 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 พร้อมทั้งขยายอัตราการชดเชยส่วนต่างเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยก่อการร้ายเป็นในอัตราระหว่างร้อยละ 0.3 – 3 (จากเดิมร้อยละ 0.3 – 2) รวมถึงชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 50 สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุของพนักงานที่สถานประกอบการทำประกันภัยให้

3) โครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อมุสลิมของ ธอท. โดยให้สินเชื่อแก่มุสลิมที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน วงเงินโครงการ 500 ล้านบาท ให้สินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาการผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี อัตรากำไรไม่เกินร้อยละ 0.80 ต่อเดือน

นายศรพลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้น มาตรการดังกล่าวจะเป็นการเยียวยาผู้ประกอบการและเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงเป็นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน นอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ สอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแนวทางโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"

สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 02 273 9020 ต่อ 3235

โทรสาร 02 618 3374