สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 23-27 เม.ย. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 30 เม.ย.- 4 พ.ค. 61 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

02 May 2018
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 74.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 68.14เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 70.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 2.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 83.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 86.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • ความตึงเครียดทางการเมืองจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ที่ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump จะลงนามรับรองว่าอิหร่านทำตามข้อตกลงนิวเคลียร์หรือไม่ในวันที่ 12 พ.ค. 61 หากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ฉีกสัญญานิวเคลียร์ (JCPOA) ระหว่างอิหร่าน และมหาอำนาจ 6 ชาติ ซึ่งตกลงกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 อิหร่านจะถูกคว่ำบาตร (Sanction) การส่งออกน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ตลาดน้ำมันตึงตัวมากขึ้น ด้านที่ปรึกษาอาวุโสของผู้นำสูงสุดอิหร่านAyatollah Ali Khamenei แถลงว่าอิหร่านไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ และพร้อมยกเลิกข้อตกลงหากประธานาธิบดี Trump ไม่ลงนามรับรองว่าอิหร่านปฏิบัติตามสัญญา
  • Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลา ในปัจจุบัน ลดลงจากปีก่อน 5 แสนบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในประเทศตึงเครียด ล่าสุด บริษัท Chevron Corp. ให้พนักงาน 30 คน เดินทางออกนอกประเทศ หลังพนักงาน 2 คน ถูกจับข้อหาคอรัปชั่น ตามนโยบายรัฐบาลที่เร่งปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ในทุกภาคส่วน
  • Ecopetrol บริษัทน้ำมันแห่งชาติของโคลัมเบียรายงานกลุ่ม ELN (National Liberation Army) วางระเบิดโจมตีท่อขนส่งน้ำมันดิบ Transandino (ปริมาณสูบถ่าย 85,000 บาร์เรลต่อวัน) ทางตอนใต้ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.61
  • บริษัทน้ำมันแห่งชาติ Sonangol ของแองโกลารายงานปริมาณส่งออกน้ำมัน เดือน มิ.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 110,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 1.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี
  • หัวหน้าหน่วยวิเคราะห์ตลาดน้ำมัน (Head of Oil Industry Market Division) ของ IEA นาย Neil Atkinson คาดการณ์ จีนจะนำเข้าน้ำมันดิบสุทธิ (Net import) เพิ่มขึ้นแตะระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปี พ.ศ. 2566 อนึ่งปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 9.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มจากเดือนก่อน 810,000 บาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5 แท่น มาอยู่ที่ 825แท่น แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี
  • Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 429.7 ล้านบาร์เรล
  • EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 20 เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 46,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขาย ล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 24 เม.ย. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 17,021 สัญญา มาอยู่ที่ 455,885 สัญญา

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวานนี้ปรับลดลงจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นประกอบกับผู้ผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มจำนวนแท่นผลิตน้ำมันจากสัปดาห์ก่อน 5 แท่นมาอยู่ที่ 825 แท่น สูงสุดในรอบกว่า 3 ปี และมีข่าว PEMEX บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเม็กซิโกประกาศเดินหน้าเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยปี61 ให้เพิ่มสู่ระดับ 1.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปริมาณการผลิตเดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 1.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน) จากโครงการผลิตน้ำมันนอกชายฝั่งในเขตน้ำตื้น รวมทั้งเพิ่มเงินลงทุนและเพิ่มปริมาณการผลิตจากแหล่งบนชายฝั่งเกือบ 200 แห่ง อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะกลับมาคว่ำบาตรอิหร่านยังเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมัน ล่าสุดรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นาย Mike Pompeo ซึ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 61 เร่งเยือนซาอุดิอาระเบียและอิสราเอลเพื่อประกาศจุดยืนว่าตนจะไม่ยอมให้อิหร่านซึ่งมีพฤติกรรมสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและต้องการครองความเป็นใหญ่ในตะวันออกกลาง มีอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคตะวันออกกลางและพันธมิตรของสหรัฐฯ ให้ติดตามมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 61 ที่จะประกาศในวันที่ 3 พ.ค. นี้ที่อาจจุดประเด็นด้านภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 71.5-75.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 65.0-69.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68.0-72.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของอินโดนีเซีย และศรีลังกา ประกอบกับ Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินในเดือน มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.2% มาอยู่ที่ 20.4 ล้านบาร์เรล จากการใช้จักรยานยนต์เพิ่มขึ้น ประกอบกับโรงกลั่นในเวเนซุเอลาได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินลดลง อาทิ โรงกลั่น Paraguana Refining Center (กำลังการกลั่น 955,000 บาร์เรลต่อวัน) เดินเครื่องอยู่ในระดับต่ำเพียง 230,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 24% ของกำลังการกลั่น และโรงกลั่น Amuay (กำลังการกลั่น 185,000 บาร์เรลต่อวัน) อยู่ที่ 18.6% ของกำลังการกลั่น ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 25 เม.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 403,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.20 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม EIAรายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 20 เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 800,00 บาร์เรล มาอยู่ที่ 236.8 ล้านบาร์เรล และปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ เฉลี่ยไตรมาสที่ 1 ปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 207,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 742,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้บริษัทน้ำมันแห่งชาติ PetroChina ของจีนมีแผนส่งออกน้ำมันเบนซินจากโรงกลั่นน้ำมัน Dalian Petrochemical (กำลังการกลั่น 144,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 31% มาอยู่ที่ 2.68 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 82.5-86.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของ Ceypetco ประเทศศรีลังกา ขณะที่ บริษัท Korea National Oil Corp. ของเกาหลีใต้รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล เดือน มี.ค.61 ลดลงจากปีก่อน 24.6% อยู่ที่ 405,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศแข็งแกร่ง ประกอบกับโรงกลั่นในประเทศปิดซ่อมบำรุง ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 25 เม.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.24 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 8.33 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 10 สัปดาห์ และ EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 20 เม.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 122.7 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics:NBS) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลเดือน มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.3% มาอยู่ที่ 117 ล้านบาร์เรล และปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 128% มาอยู่ที่ 592,000 บาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 60 ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 84.5-88.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล