สภากาชาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจัดประชุม เครือข่ายการหารายได้ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการสนับสนุนงานด้านมนุษยธรรมต่อชีวิตให้อีกหลายชีวิต

01 Jun 2018
The Red Cross Red Crescent Asia Pacific Fundraisers' Network (APFN) หรือ เครือข่ายผู้หารายได้ของสภากาชาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2010 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และทักษะในการทำงานระดมทุนหารายได้ที่นำมาสนับสนุนการดำเนินภารกิจเพื่อมนุษยธรรมตามหลักกาชาดสากลของสภากาชาดกว่า 190 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิกในภูมิภาคนี้ถึง 30 ประเทศที่เข้าร่วมเครือข่าย หนึ่งในนั้นคือ สภากาชาดไทย
สภากาชาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจัดประชุม เครือข่ายการหารายได้ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการสนับสนุนงานด้านมนุษยธรรมต่อชีวิตให้อีกหลายชีวิต

ด้านนางจันทร์ประภา วิชิตชลชัย รองผู้อำนวยการสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย ผู้แทนจากสภากาชาดไทยที่เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้เผยว่า ในแต่ละปี APFN จะมีการจัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ในเรื่องของการหารายได้เป็นประจำทุกปี สำหรับครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 โดยมีประเทศเนปาลเป็นเจ้าภาพ มีคณะทำงาน (Steering committee) เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายในการเข้าร่วมสัมมนา ปีนี้สภากาชาดไทยนำประสบการณ์ไปร่วมแลกเปลี่ยนให้แก่ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมสัมมนา อาทิ การจัดทำฐานข้อมูลผู้บริจาคซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการหารายได้ เพราะจะนำมาซึ่งการวิเคราะห์ถึงปัจจัยของการจัดกิจกรรมหารายได้ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป พร้อมทั้งการสร้างสรรค์และดำเนินกิจกรรมหารายได้ ซึ่งบางประเทศไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไร และหัวข้อสุดท้ายคือการสื่อสารเพื่อการหารายได้นับว่าเป็นหัวใจสำคัญ เพราะการประชาสัมพันธ์มีส่วนสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสารที่ต้องสร้างการรับรู้ให้เกิดกับกลุ่มผู้บริจาค ถ้าจัดงานแล้วไม่สามารถเข้าถึงผู้ที่จะมาสนับสนุนได้งานนั้นอาจไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

ประชาชนส่วนใหญ่มักมีข้อสงสัยว่า "ทำไมองค์กรการกุศลถึงต้องระดมทุนหารายได้" เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สภากาชาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญและหารือกันเสมอ ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือ ถ้าไม่มีงบประมาณ งานเพื่อมนุษยธรรมขององค์กรกาชาดก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะสภากาชาดทุกๆ ประเทศ มีภารกิจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ บริการทางการแพทย์ บริการโลหิต และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศนั้นๆ รวมถึงการช่วยเหลือประเทศสมาชิกเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งในขณะที่บางประเทศไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ สภากาชาดต้องระดมทุนหาเองทั้งหมด สำหรับประเทศไทยงบประมาณส่วนหนึ่งยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกันก็จำเป็นที่จะต้องจัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อเสริมงบประมาณให้สภากาชาดไทยด้วย นับเป็นภารกิจของสำนักงานจัดหารายได้โดยตรง เพราะการช่วยเหลือเกิดขึ้นทุกวัน รวมถึงมีหลายโครงการที่ต้องสานต่อดังนั้นการที่ได้เดินทางไปแลกเปลี่ยน เรียนรู้จากสภากาชาดที่มีศักยภาพและมีความเข้มแข็งเรื่องการหารายได้จึงสามารถนำกลับมาพัฒนาและปรับใช้กับสภากาชาดไทยได้

สำหรับทิศทางการระดมทุนการหารายได้ในปัจจุบันมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีมูลนิธิ และองค์กรการกุศลในประเทศไทยตั้งขึ้นมากมาย การช่วยเหลือมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ ทำให้เงินบริจาคทุกบาททุกสตางค์ของหน่วยงาน องค์กร และผู้ที่มีจิตศรัทธาต่อการทำงานของสภากาชาดไทยเกิดผลลัพธ์เชิงประจักษ์และเกิดคุณค่าสูงสุด สิ่งนี้จะเป็นการหารายได้ที่ยั่งยืน ไม่ว่ารูปแบบการจัดกิจกรรม หรือเทคโนโลยีการรับบริจาคจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไรก็ตามถ้าผู้บริจาคมีความเชื่อถือ ศรัทธาในองค์กรแล้วก็จะทำให้การระดมทุนเพื่อดำเนินงานตามภารกิจเกิดความยั่งยืนขึ้นเช่นกัน

สภากาชาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจัดประชุม เครือข่ายการหารายได้ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการสนับสนุนงานด้านมนุษยธรรมต่อชีวิตให้อีกหลายชีวิต สภากาชาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจัดประชุม เครือข่ายการหารายได้ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการสนับสนุนงานด้านมนุษยธรรมต่อชีวิตให้อีกหลายชีวิต สภากาชาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจัดประชุม เครือข่ายการหารายได้ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการสนับสนุนงานด้านมนุษยธรรมต่อชีวิตให้อีกหลายชีวิต