สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 28 พ.ค. - 1 มิ.ย. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 4-8 มิ.ย. 61 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

04 Jun 2018
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 76.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 4.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 66.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 74.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 3.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 87.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 2.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 90เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • วันที่ 28 ก.ค. 61 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียและรัสเซียหารือกันที่กรุง St. Petersburg ประเทศรัสเซีย ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่ามีการหารือกันถึงแนวทางในการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะนี้ OPEC และ Non-OPEC นำโดยรัสเซีย ลดการผลิตน้ำมันดิบลง 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เทียบจากเดือน ต.ค. 59) มากกว่าข้อตกลงเกือบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้มติจะออกมาชัดเจนหลังการประชุมสามัญ OPEC ในวันที่ 22-23 มิ.ย. 61 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปและจีน ทวีความร้อนแรงหลังสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก 25 % และอลูมิเนียม 10 % จากสหภาพยุโรป แคนาดา เม็กชิโก โดยให้บังคับใช้ในไม่กี่ชั่วโมงหลังประกาศ(วันที่ 1 มิ.ย. 61) ขณะที่ สหรัฐฯจะประกาศรายการสินค้าที่จะเก็บภาษีนำเข้าจากจีน มูลค่ารวมกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 15 มิ.ย. 61 กำแพงภาษีที่เรียกเก็บจะส่งผลลบต่อการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลก
  • Baker Hughs Inc. บริษัทลูกของ General Electric Co. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2 แท่น มาอยู่ที่ 861 แท่น สูงสุดในรอบกว่า 3 ปี
  • Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ รายเดือน ในเดือน มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 215,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 พ.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลด Net Long Position ลงจากสัปดาห์ก่อน 50,937 สัญญา มาอยู่ที่ 370,980 สัญญา

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • บริษัท Reliance ของอินเดีย (มีกำลังการกลั่นรวมถึง 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน) มีแผนหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ภายในไตรมาสที่ 4/61 หลังนายDonald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลับมาคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง ทั้งนี้ Reliance นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านในปี พ.ศ. 2560 เฉลี่ย 67,000 บาร์เรลต่อวัน และในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 61 อยู่ที่ 96,000 บาร์เรลต่อวัน
  • EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 พ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 434.5 ล้านบาร์เรล

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง โดยอุปทานน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 8 สัปดาห์ในรอบ 9 สัปดาห์ ประกอบกับเงินสกุลดอลลาร์แข็งค่า โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) อาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ภายในเดือน มิ.ย. 61 นี้ หลังข้อมูลสถิติการจ้างงานที่แข็งแกร่ง การเมืองโลกผ่อนคลาย จากข่าวประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ประกาศจะกลับมาเริ่มต้นกระบวนการ เพื่อมุ่งสู่การประชุมกับผู้นำเกาหลีเหนือ นาย Kim Jong Un ในวันที่ 12 มิ.ย. 61 ที่สิงคโปร์ หลังพบปะ Vice Chairman ของเกาหลีเหนือ นาย Kim Yong Choi เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 61 ที่ทำเนียบขาว อย่างไรก็ตามมกุฎราชกุมารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บังคับการกองทัพ Sheikh Mohammed bin Zayed เข้าพบประธานาธิบดีรัสเซีย นาย Vladimir Putin ที่กรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย บ่งชี้ความร่วมมือทั้งทางด้านความมั่งคง และการสร้างเสถียรภาพในตลาดพลังงาน โดยประธานาธิบดี Putinเห็นพ้องกับการดำเนินการของกลุ่ม OPEC ที่นำโดยซาอุดิอาระเบีย ให้จับตามองส่วนต่าง (Spread) ระหว่างราคา Brent และ WTI ที่พุ่งสูงขึ้น สู่ระดับ 9-11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำให้ราคา WTI ต่ำกว่าราคา Brent มาก อาจทำให้ผู้ซื้อมีความต้องการน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ขณะที่ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อขนส่งในสหรัฐฯ ยังไม่เพียงพอกับกำลังการผลิต ทำให้กดดันตลาดภายในประเทศ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75.0-78.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 64.5-68.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 73.0-76.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลง จาก Platts รายงานผลสำรวจโรงกลั่นจำนวน 12 โรงในจีนมีปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5.2% มาอยู่ที่ 240,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าเมื่อเดือน มี.ค. 61 ที่ 220,000 บาร์เรลต่อวัน ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และบริษัท Marathon ของสหรัฐฯ กลับมาเดินเครื่อง FCC (กำลังการผลิต 136,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Garyville (กำลังการกลั่น 543,000 บาร์เรลต่อวัน) ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 650,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.53 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน อย่างไรก็ตามรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของจีน ประกอบด้วย Sinopec, PetroChina, Sinochem และ China National Offshore Oil Corp. เดินเครื่องกลั่นน้ำมันที่ 76% ในเดือน พ.ค. 61 (ลดลงจากเดือนก่อน 3%) จากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นหลายแห่งตามแผน และ บริษัท Idemitsuของญี่ปุ่นปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Hokkaido (150,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ 1 พ.ค.61 เป็นเวลา 2 เดือน ประกอบกับ บริษัท Royal Dutch Shell ปิดซ่อมบำรุงหน่วย Fluid Catalytic Cracking Unit (FCCU – 92,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Convent (228,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่มลรัฐ Louisiana ใน สหรัฐฯ วันที่ 30 พ.ค. 61 เป็นเวลา 3 เดือน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 86.0-89.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจาก Korea National Oil Corp. (KNOC) ของเกาหลีใต้ รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลเดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.6% มาอยู่ที่ 480,000 บาร์เรลต่อวัน อนึ่ง Platts รายงานสภาวะตลาดน้ำมันดีเซลในเอเชียไม่แข็งแกร่งนัก หลังสิ้นสุดฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น และถูกกดดัน โดยอุปทานจากตะวันออกกลาง ประกอบกับเทศบาลเมือง Hamburg ในเยอรมนีลดการใช้น้ำมันดีเซลอย่างเป็นรูปธรรมโดยประกาศห้ามรถยนต์ทุกชนิดที่ใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐานต่ำกว่า Euro 6 ผ่านเข้าเขตใจกลางเมืองตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. 61 ทำให้เมือง Hamburg เป็นเมืองแรกในประเทศที่นำร่องลดมลภาวะในอากาศด้วยการจำกัดการใช้น้ำมันดีเซล อย่างไรก็ตาม บริษัทPDVSA ของเวเนซุเอลาออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล ปริมาณ 300,000 บาร์เรล ส่งมอบ 5-15 มิ.ย.61 เพื่อบรรเทาความขาดแคลนในประเทศที่โรงกลั่นดำเนินการได้ไม่เต็มกำลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 พ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.04 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 7.23 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 89.0-92.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล