วท. วางโรดแมปบิ๊กร็อกแก้จน ยกระดับเกษตรกรเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ 40,000 ราย

19 Mar 2018
วท. วาง "โรดแมปบิ๊กร็อกแก้จน" ยกระดับเกษตรกร 40,000 รายและกลุ่มเกษตรกร 2,000 กลุ่มผ่านโครงการ 1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร กับ โครงการยกระดับโอทอป ใน 10 จังหวัดยากจน 2,000 กลุ่มพร้อมวางโครงสร้างพื้นฐานชุมชน จัดตั้งหมู่บ้านวิทยาศาสตร์ศาสตร์พระราชาทั่วประเทศ สร้างอาสาสมัครวิทยาศาสตร์ 10,000 คน นักวิทยาศาสตร์ชุมชน 150,000 คน เผยหารือ "บัณฑูร ล่ำซำ"แล้วลงพื้นที่นำร่อง "น่าน" เม.ย.นี้
วท. วางโรดแมปบิ๊กร็อกแก้จน ยกระดับเกษตรกรเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ 40,000 ราย

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการบิ๊กร็อก (Big Rock) เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ และประธานคณะอนุกรรมการ 3 ชุด คือ คณะอนุกรรมการวิทย์สร้าง คณะอนุกรรมการวิทย์แก้จนและยกระดับภูมิภาค และคณะอนุกรรมการวิทย์เสริมแกร่ง เพื่อเร่งรัดให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการแต่ละชุดได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการ อาทิ ชุดวิทย์แก้จน จะมีการจัดทำแผนที่นำทางหรือโรดแมปเพื่อขับเคลื่อนนโยบายวิทย์แก้จนและเสริมแกร่งภูมิภาคของ วทน.แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.วิทย์สร้างรายได้ จะมีโครงการ 1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร เพื่อยกระดับเกษตรกร 40,000 รายและกลุ่มเกษตรกร 2,000 กลุ่ม ให้ก้าวเข้าสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์หรือเกษตรอัจฉริยะ กับ โครงการยกระดับโอทอป ใน 10 จังหวัดยากจน 2,000 กลุ่ม เบื้องต้นได้มีการหารือกับนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย ไปแล้ว เพื่อเตรียมลงพื้นที่ จ.น่าน 1 ใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศไทยที่ วท.จะใช้เป็นจังหวัดนำร่อง ในเดือน เม.ย.นี้ 2.วิทย์สร้างพื้นฐาน เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานให้กับชุมชน เพราะถ้ามีการวางพื้นฐานที่ดีจะสามารถแก้จนได้ตรงจุด จะมีโครงการชุมชนวิทย์ จัดตั้งหมู่บ้านวิทยาศาสตร์พระราชา 89 แห่งทั่วประเทศพร้อมกับสร้างอาสาสมัครวิทยาศาสตร์ จำนวน 10,000 คน นักวิทยาศาสตร์ชุมชน จำนวน 150,000 คน ที่อาจจะมีการใช้นักเรียนทุนของ วท. เป็นแกนหลักในการดำเนินงาน ที่สำคัญจะมีการวางระบบบริหารจัดการน้ำผ่านกองทุนหมู่บ้านและมูลนิธิอุทกพัฒน์ 800 แห่ง เพราะทั้ง 2 หน่วยงานถือเป็นกลไกที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด อย่าง จ.น่าน จะลงไปแก้ปัญหาเรื่องน้ำด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพราะแม่น้ำน่าน เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ถ้าแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ ประชาชนจะไม่ยากจน เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กองทุนหมู่บ้าน บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นต้น

"จากนี้จะมีการหารือกับตัวแทนในการขับเคลื่อนหรือมีการตั้งผู้จัดการโครงการของในแต่ละจังหวัดให้เป็นผู้รับผิดชอบหลัก เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างจริงจังใน จ.น่าน ก่อน ขณะที่อีก 9 จังหวัดยากจนก็จะมีการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน เช่น เรื่องโอทอป จะเน้นตลาดเป็นตัวนำ เช่น หารือในเรื่องการตลาด การเน้นการออกแบบโดยให้นักออกแบบผลิตภัณฑ์มามีส่วนร่วมในการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ หาตลาดก่อนเลือกการพัฒนา เป็นต้น" ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ กล่าว

ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ กล่าวต่อว่า ขณะที่ในส่วนวิทย์สร้างคน กำลังเร่งดำเนินการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใน 4 ภูมิภาค คือที่ จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา และกรุงเทพฯ โครงการเพิ่มผู้เรียนในห้องวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (วมว.) เป็นต้น ส่วน วิทย์เสริมแกร่ง จะเร่งรัดจัดตั้งโครงการโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร ที่ จ.เชียงใหม่ จะมีการลงไปดูพื้นที่ในเดือน พ.ค.นี้ เป็นต้น ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้คณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุดรายงานความคืบหน้าการดำเนินการกับตนทุก 1 เดือน ซึ่งในแต่ละเดือนจะต้องระบุผลผลิตของงานได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญจะเน้นที่การบริหารเครื่องมือ โดยทุกโครงการจะต้องระบุเครื่องมือที่จะนำไปใช้ ซึ่งก็คือองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ ตัวเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมใช้และถ่ายทอด เพื่อนำไปแก้ปัญหา ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชนได้อย่างตรงจุด รวมถึงต้องมีการประสานความร่วมมือไปในทุกภาคส่วน สร้างการมีส่วนร่วม เพื่อความยั่งยืนในวันข้างหน้าด้วย