ไทยนิยม หนุนสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ ยกระดับคุณภาพน้ำนมดิบได้มาตรฐานยิ่งขึ้น

05 Oct 2018
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำนมดิบและยกระดับสหกรณ์โคนมให้เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ โดยสนับสนุนให้สหกรณ์โคนมเป็นกลไกหลักการปฏิรูปภาคเกษตร และได้รับงบประมาณ ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน และได้มอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า จากการติดตามการดำเนินงานสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร จากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน พบว่า ปัจจุบัน สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด มีสมาชิกเกษตรกร ผู้เลี้ยงโคนม 117 คน ครอบคลุม 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวาริชภูมิ กุดบาก นิคมน้ำอูน สว่างแดนดิน ส่องดาว พังโคน อากาศอำนวย วานรนิวาส เจริญศิลป์ และพรรณนานิคม โดยธุรกิจหลักของสหกรณ์ คือ การรวบรวมน้ำนมดิบจากสมาชิกเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นมเพื่อจำหน่าย 2 ชนิด ได้แก่ นมพาสเจอร์ไรส์ และนมยูเอชที ซึ่งเป็นการจำหน่ายให้กับโรงเรียนเป็นหลัก

สำหรับปี 2561 สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนอุปกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร จากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน 3 รายการ ได้แก่ 1) เครื่องตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำนม 2) รถห้องเย็นสำหรับขนส่งผลิตภัณฑ์นม ขนาด 6 ล้อ ขนาด 145 แรงม้า และ 3) ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์พร้อมอุปกรณ์สำหรับโรงงานผลิตนม ขนาด 100 ตารางเมตร รวมงบประมาณทั้งสิ้น 3,450,000 บาท โดยภาครัฐอุดหนุน 3,105,000 บาท และสหกรณ์สมทบอีก 345,000 บาท

ผลการดำเนินงานหลังสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการ พบว่า สหกรณ์มีอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพน้ำนมดิบที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน โดยสามารถตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำนมได้จำนวน 120 ตัวอย่างต่อครั้ง และยังสามารถตรวจค่า Somatic Cell Count (SCC) ได้ในเครื่องเดียว ซึ่งก่อนได้รับงบประมาณไม่สามารถตรวจค่า SCC ได้ และสามารถรวบรวมน้ำนมดิบจากสมาชิกและฟาร์มโคนมที่ทำสัญญาซื้อขายได้ถึง 10,950 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าปีละ 188,100 ล้านบาท (ก่อนเข้าโครงการ รวบรวมได้ 9,000 ตันต่อปี มูลค่า 162,900 ล้านบาท) และนำมาผลิตเป็นผสมพาสเจอร์ไรส์ที่ได้คุณภาพมาตรฐาน 20 - 21 ล้านถุงต่อปี จากที่เคยผลิตได้ 19 ล้านถุงต่อปี และผลิตนมยู เอช ที พาณิชย์ได้ 16 ล้านกล่องต่อปี จากที่เคยผลิตได้ 14 ล้านกล่องต่อปี ซึ่งนอกจากจะสามารถผลิตนมยู เอช ที ที่มีอายุการวางจำหน่ายได้นานแล้ว ยังมีรถห้องเย็นสำหรับส่งนมพาสเจอร์ไรส์ที่ได้มาตรฐานมากขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ จากการสอบถามผู้ช่วยผู้จัดการสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด (นางประภัสสร คำผอง) พบว่า อุปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ ทั้ง 3 รายการ ช่วยแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำนมดิบเพื่อนำมาผลิตนมพาสเจอร์ไรส์สำหรับโรงเรียน รวมทั้งนม ยู เอช ที ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพและหันมาดื่มนมที่ผลิตจากสหกรณ์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อปริมาณการจำหน่ายในอนาคต ซึ่งนับเป็นการยกระดับคุณภาพน้ำนมดิบให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ช่วยแก้ไขปัญหานมโรงเรียน รวมทั้งปัญหาน้ำนมล้นตลาดทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถจำหน่ายผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และมีรายได้ที่ยั่งยืน