มิวเซียมสยาม จัดงาน “มิวเซียม ฟอรัม 2018” ดึงพิพิธภัณฑ์นานาชาติ โชว์ไอเดีย “สื่อในพิพิธภัณฑ์” หวังมิวเซียมไทยปรับใช้ตามเหมาะสม

01 Aug 2018
- มิวเซียมสยาม เผย พิพิธภัณฑ์-นิทรรศการ ติดกระแสสื่อเพื่อการสื่อสารแห่งอนาคต ชี้ยักษ์ใหญ่ทั่วโลกแห่ทำ ช่วยสร้างแบรนด์-เสริมการตลาด
มิวเซียมสยาม จัดงาน “มิวเซียม ฟอรัม 2018” ดึงพิพิธภัณฑ์นานาชาติ  โชว์ไอเดีย “สื่อในพิพิธภัณฑ์” หวังมิวเซียมไทยปรับใช้ตามเหมาะสม

มิวเซียมสยาม ร่วมกับ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ฟิลิปปินส์ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย (GOETHE-INSTITUT Thailand) ศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA) ตลอดจนภาคีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ จัดงานประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์อาเซียน "ASEAN Museum Forum 2018" ภายใต้แนวคิด "สื่อในพิพิธภัณฑ์" หรือ "Museum Media" โดยงานดังกล่าวมีการพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับการใช้สื่อประเภทต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์โดยนักพิพิธภัณฑ์จากนานาประเทศ อาทิ พัวไว เครนส์ หัวหน้าฝ่ายวัตถุสะสมชาวเมารี พิพิธภัณฑ์แห่งชาตินิวซีแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ที่นำเสนอการใช้สื่อพิพิธภัณฑ์ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับนิทรรศการ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และฮันส์ดีเทอร์ ฮาน อดีตภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ชาวยิว ประเทศเยอรมัน ที่แนะนำการใช้สื่อพิพิธภัณฑ์ท่ามกลางข้อจำกัดและการเปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล เป็นต้น พร้อมโชว์ตัวอย่างสื่อพิพิธภัณฑ์ โดยมิวเซียมสยาม อาทิ หุ่นจำลองนางกวัก และคำบรรยายอักษรเบรลล์ สำหรับผู้พิการทางสายตา เกมกระดานประกอบนิทรรศการ ที่ช่วยเพิ่มความเข้าใจ และให้ผู้เข้าชมได้มีปฏิสัมพันธ์กับนิทรรศการ ตลอดจนเทคโนโลยีสื่อเสมือน (AR) ผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับตัวนิทรรศการ สร้างความน่าสนใจ ดึงดูดผู้เข้าชมให้ร่วมสนุกไปกับนิทรรศการ

ทั้งนี้ การประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ในอาเซียน ASEAN Museum Forum 2018 : Museum Media กำหนดจัดระหว่างวันที่ 1 – 2 สิงหาคม 2561 เวลา 08.30 – 18.00 น. ณ ชั้น 5 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ถนนบรมราชชนนี ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และการเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้พิพิธภัณฑ์กำลังเข้าสู่กระบวนการปรับตัวครั้งใหญ่ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องปรับตัวคือ สื่อพิพิธภัณฑ์ หรือ "Museum Media" อันได้แก่สิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ โดยปัจจุบัน มิวเซียมสยามมีการใช้งานสื่อพิพิธภัณฑ์ใน 2 กลุ่ม ได้แก่ สื่อดิจิทัล (Digital Media) และสื่อวัสดุอุปกรณ์ (Non-digital Media) โดยทั้ง 2 กลุ่มมีการใช้งานและหน้าที่ ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  • สื่อนิทรรศการ : เป็นสื่อที่ถูกใช้งานในนิทรรศการ ทั้งวัตถุจัดแสดง สื่อที่ใช้สร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เข้าชม รวมถึงการนำเสนอในนิทรรศการ อาทิ วัตถุจัดแสดง ป้ายข้อมูล ภาพเล่าเรื่อง สื่อที่ถูกสร้างหรือจำลองขึ้น เช่นวัตถุจัดแสดงเสมือนที่จับต้องได้ เป็นต้น รวมถึงสื่อที่ผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับผู้เข้าชม เช่น ภาพยนตร์ ภาพเคลื่อนไหว เทคโนโลยีสื่อเสมือนจริง (AR : Augmented Reality) สื่ออินเตอร์แอ๊กทีฟ แอนิเมชัน กราฟิก คอมพิวเตอร์สแกน เกมมัลติมีเดีย เป็นต้น
  • สื่อการเรียนรู้ : สื่อที่ถูกใช้งานเพื่อขยายองค์ความรู้จากตัวนิทรรศการ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ในรูปแบบกิจกรรมสร้างสรรค์ อาทิ ชุดการเรียนรู้ (Tool kits) ที่สอดแทรกเนื้อหาในนิทรรศการ เชื่อมโยงกับการศึกษาในวิชาต่างๆ การสาธิตการแสดง เกมกระดาน ตลอดจนระบบการเรียนรู้ออนไลน์อย่าง อีเลิร์นนิ่ง (e-learning) และมัลติมีเดียเพื่อการศึกษา
  • สื่อเพื่อสื่อสารงานพิพิธภัณฑ์สู่สาธารณะ : สื่อที่ใช้เพื่อเผยแพร่งานพิพิธภัณฑ์ เพื่อสร้างการรับรู้ไปสู่สาธารณชน อาทิ โปสเตอร์ แผ่นพับ ป้าย สูจิบัตรนิทรรศการ รวมถึงช่องทางการเผยแพร่อย่าง แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และช่องทางโซเชียลมีเดียทั้งหมด
  • สื่อในงานพิพิธภัณฑ์ด้านอื่นๆ : สื่อพิพิธภัณฑ์ที่มีฟังก์ชันการใช้งานเพื่องานในพิพิธภัณฑ์ เช่น ระบบคลังวัตถุ อุปกรณ์ และระบบดูแลวัตถุจัดแสดงเชิงอนุรักษ์ การบริการเชิงธุรกิจการค้า กิจกรรม และของที่ระลึกที่สร้างรายได้ให้กับพิพิธภัณฑ์ ตลอดจนฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์

นายราเมศ กล่าวเพิ่มว่า มิวเซียมสยาม ร่วมกับ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ฟิลิปปินส์ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย (GOETHE-INSTITUT Thailand) ศูนย์ภูมิภาคโบราณคดี และวิจิตรศิลป์ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA) ตลอดจนภาคีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ จัดงานประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์อาเซียน "ASEAN Museum Forum 2018" ภายใต้แนวคิด "สื่อพิพิธภัณฑ์" หรือ "Museum Media" โดยภายงานดังกล่าวมีการพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับสื่อพิพิธภัณฑ์ อาทิ กลยุทธสื่อพิพิธภัณฑ์ สำหรับการเชื่อมต่อพิพิธภัณฑ์กับผู้ชมชาวเมารี โดย พัวไว เครนส์ หัวหน้าฝ่ายวัตถุสะสมชาวเมารี พิพิธภัณฑ์แห่งชาตินิวซีแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ที่นำเสนอการใช้สื่อพิพิธภัณฑ์ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับนิทรรศการ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และ พิพิธภัณฑ์ทันสมัยกับข้อท้าทายในโลกดิจิทัล โดย ฮันส์ดีเทอร์ ฮาน อดีตภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ชาวยิว ประเทศเยอรมัน ที่แนะนำการใช้สื่อพิพิธภัณฑ์ท่ามกลางข้อจำกัดและการเปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิตัล เป็นต้น

นอกจากนี้ ในฐานะพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ต้นแบบ ที่มีการใช้งานสื่อพิพิธภัณฑ์อันหลากหลาย เพื่อให้พิพิธภัณฑ์อื่นๆ ในประเทศไทย ได้หยิบยกนำเอาแนวทางการใช้สื่อพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ไปประยุกต์ใช้กับพิพิธภัณฑ์ของตนได้ ตามความเหมาะสม เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และสอดคล้องกับศักยภาพด้านงบประมาณที่แตกต่างกันไป มิวเซียมสยาม ยังได้จัดแสดงสื่อพิพิธภัณฑ์ อาทิ หุ่นจำลองนางกวัก และคำบรรยายอักษรเบรลล์ สำหรับผู้พิการทางสายตา เพื่อให้นิทรรศการเป็นพื้นที่สำหรับคนทุกกลุ่ม เกมกระดานประกอบนิทรรศการ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับมารยาท ประเพณี และเทศกาลไทย ที่ช่วยเพิ่มความเข้าใจได้ชัดเจน และมอบความเพลิดเพลินมากกว่าการเล่าเรื่องด้วยรูปแบบเดิมๆ แก่ผู้เข้าชม และ เทคโนโลยีสื่อเสมือน (AR) ที่ผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับตัวนิทรรศการ สร้างความน่าสนใจ น่าค้นหา ให้ผู้เข้าชมได้ร่วมสนุกไปกับนิทรรศการ เป็นต้น

ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคเอกชนระดับโลกในต่างประเทศ ได้หยิบยกนำเอา "พิพิธภัณฑ์" มาใช้งานในฐานะสื่อการสื่อสารเชิงการตลาด และการท่องเที่ยว ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการ ที่เล่าเรื่องราว สะท้อนอัตลักษณ์องค์กร และสามารถสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ให้กับบริษัทได้จำนวนมาก อาทิ พิพิธภัณฑ์รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู พิพิธภัณฑ์เวิลด์ออฟโคคาโคล่า พิพิธภัณฑ์ฟงดาซิญง หลุยส์ วิตตอง เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพิพิธภัณฑ์ ในฐานะ "สื่อการสื่อสารแห่งอนาคต" ที่มากไปกว่าการส่งเสริมการเรียนรู้เท่านั้น นายราเมศ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน มร.ฮันส์ดีเทอร์ ฮาน อดีตภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ชาวยิว ประเทศเยอรมัน (Mr. Hans-Dieter Hanh, Former Curator, Jewish Museum, Berlin, Germany) กล่าวว่า ความสนใจ และความคาดหวังของผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์นั้นเปลี่ยนแปลงไป จากอดีตที่ผู้คนมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์เพื่อชมของสะสม หรืองานศิลปะชิ้นเอก แต่ปัจจุบัน ในยุคที่เทคโนโลยี และโลกดิจิตัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ผู้เข้าชมจำนวนมากคาดหวังให้พิพิธภัณฑ์สามารถมอบการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับความสนุกสนานในการเข้าชม ดังนั้น ทุกพิพิธภัณฑ์ต้องรู้จักปรับปรุงแนวทางการใช้งานสื่อพิพิธภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ ควรเลือกใช้ และประยุกต์สื่อพิพิธภัณฑ์หลากหลายรูปแบบให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย อาทิ หากกลุ่มเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์เป็นเด็ก และเยาวชน พิพิธภัณฑ์ควรเลือกใช้สื่อพิพิธภัณฑ์ที่เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วม ผสมผสานการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และสร้างความสนุกสนาน หรือหากกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุ การใช้สื่อที่เน้นการใช้เทคโนโลยีจำนวนมาก ก็อาจจะไม่เหมาะกับพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว เป็นต้น นอกจากนี้ ไม่ควรจัดแสดงนิทรรศการเดิมโดยไม่มีการปรับปรุงเนื้อหา และแนวทางการนำเสนอ เป็นเวลายาวนาน เนื่องจากจะทำให้ความน่าสนใจของนิทรรศการลดน้อยลง ผู้เข้าชมลดน้อยลง และไม่เข้าถึงผู้เข้าชมกลุ่มใหม่ๆ ได้ จนทำให้พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวตายลง

ทั้งนี้ มิวเซียมสยาม ได้ร่วมกับหน่วยงานอีก 10 หน่วยงานจัดการ การประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ในอาเซียน ASEAN Museum Forum 2018 : Museum Media ระหว่างวันที่ 1 – 2 สิงหาคม 2561 เวลา 08.30 – 18.00 น. ณ ชั้น 5 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ถนนบรมราชชนนี ตลิ่งชัน กรุงเทพฯสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ 02-255-2777 ต่อ 101 หรือเข้าไปที่ www.museumsiam.org

มิวเซียมสยาม จัดงาน “มิวเซียม ฟอรัม 2018” ดึงพิพิธภัณฑ์นานาชาติ  โชว์ไอเดีย “สื่อในพิพิธภัณฑ์” หวังมิวเซียมไทยปรับใช้ตามเหมาะสม มิวเซียมสยาม จัดงาน “มิวเซียม ฟอรัม 2018” ดึงพิพิธภัณฑ์นานาชาติ  โชว์ไอเดีย “สื่อในพิพิธภัณฑ์” หวังมิวเซียมไทยปรับใช้ตามเหมาะสม มิวเซียมสยาม จัดงาน “มิวเซียม ฟอรัม 2018” ดึงพิพิธภัณฑ์นานาชาติ  โชว์ไอเดีย “สื่อในพิพิธภัณฑ์” หวังมิวเซียมไทยปรับใช้ตามเหมาะสม