กสศ. หนุนกลไกประชาชนร่วมแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ ยกกองทุน 10 บาท เชียงใหม่เป็นต้นแบบ

16 Aug 2018
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2561 ที่โรงแรมคุ้มภูคำ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับ ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561
กสศ. หนุนกลไกประชาชนร่วมแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ ยกกองทุน 10 บาท เชียงใหม่เป็นต้นแบบ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ กสศ. ที่สนับสนุนให้ภารกิจสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาประสบความสำเร็จ คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกภาคประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบวิธีการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำตามบริบทของพื้นที่ตนเอง เช่นเดียวกับการเติบโตของภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ขณะนี้มีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ที่เข้มแข็งจนนำมาสู่ การจัดตั้งกองทุนปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หรือกองทุน 10 บาท ระดมความร่วมมือและงบประมาณจากคนเชียงใหม่เพื่อสนับสนุนเด็กเยาวชนยากจนและด้อยโอกาสให้มีโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้สำเร็จโดยไม่รอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว นี่คือต้นแบบของกลไกพิเศษ ที่กสศ.จะสนับสนุนให้เติบโตขึ้นทั่วประเทศ

"กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่จะมีขึ้น จึงเป็นเวทีระดมความร่วมมือเพื่อต่อยอด ขยายผลข้อเสนอ แนวทางใหม่ๆ จากทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งระบบ โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งที่สอง วันที่ 21 สิงหาคม จังหวัดสุรินทร์ ครั้งที่ 3 วันที่ 22 สิงหาคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และครั้งที่ 4 ช่วงต้นเดือนกันยายน ที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ กสศ.ยังเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็น ที่ www.eef.or.th จึงขอเชิญชวนประชาชน หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงานในอนาคตให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน"

ดร.ประสาร กล่าวว่า ภายหลังขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น สำนักงาน กสศ.จะนำทุกประเด็นความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ ต่อไป โดยกสศ.น่าจะมีผลงานใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1. ขจัดอุปสรรคต่อความเสมอภาคทางการศึกษาของนักเรียนยากจนพิเศษจำนวนประมาณ 620,000 คนทั่วประเทศ ด้วยการสนับสนุนเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว และมาตรการดูแลต่อเนื่องโดยครูและสถานศึกษา

2. X-ray พื้นที่ 15 จังหวัด ทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย ค้นหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาอายุระหว่าง 3-18 ปี จำนวน 100,000 คน แรก ส่งต่อสู่ระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพ ที่สอดคล้องกับความถนัดและศักยภาพของเด็กเป็นรายคน รวมทั้งสอดคล้องกับความต้องการของตลอดแรงงานในแต่ละพื้นที่ ในอนาคตจะสามารถเป็นต้นแบบการทำงานให้ครบทั้ง 77 จังหวัดได้ในปีงบประมาณต่อไป 3. สนับสนุนทุนการศึกษาสายอาชีพสำหรับนักเรียนยากจนระดับ ม.3 ที่มีศักยภาพสูง 12,000 ทุน โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาจะมีงานทำได้ทันที ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเยาวชนและครอบครัวออกจากกับดักความยากจน ซึ่งถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนผ่านการส่งเสริมการเลื่อนชั้นทางสังคม (Social Mobility)

นายไพรัช ใหม่ชมภู รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และเลขานุการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีเด็กยากจนราว 62,622 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กยากจนพิเศษจำนวน 26,098 คน ที่ผู้ปกครองมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,281 บาทต่อคน หรือเฉลี่ยเพียงวันละ 42.7 บาทเท่านั้น นักเรียนเหล่านี้ต้องได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนโดยเร่งด่วน ก่อนจะหลุดออกจากระบบการศึกษา

ในการดำเนินงานของกองทุน 10 บาท ในปีแรกได้รับการสนับสนุนจากคนเชียงใหม่บริจาคคนละ 10 บาท ภายในระยะเวลา 1 เดือน ระดมทุนได้จำนวน 2.7 ล้านบาท สามารถขยายผลช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ด้อยโอกาส จำนวน 230 คน แบ่งการสนับสนุนหลายด้าน เช่น ทุนการศึกษาสายอาชีพ ทุนการศึกษาสายสามัญ ทุนสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาที่ประกอบอาชีพเพื่อมีรายได้ระหว่างเรียน โดยการสนับสนุนนั้น มีตั้งแต่ระดับ 5,000-30,000 บาท ทั้งนี้ไม่ได้พิจารณาจากผลการเรียนเป็นตัวหลัก แต่เน้นเรื่องพฤติกรรม ความอดทน รับผิดชอบ การมีความใฝ่ฝัน และมีแรงบันดาลใจไม่ย่อท้อ โดยมีกระบวนการกลั่นกรอง คัดเลือกที่รอบคอบ มีการลงพื้นที่จริงเพื่อตรวจสอบ

"จากประสบการณ์ผมมองว่ากองทุน 10 บาทสำเร็จขึ้นมาได้เพราะ คนเชียงใหม่รู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน กองทุนนี้เป็นกองทุนของคนเชียงใหม่ทุกคน เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนของพวกเรา หากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยสนับสนุนให้เกิดกลไกลักษณะนี้ในทุกจังหวัด ทำให้คนในพื้นที่ต่างรู้สึกมีส่วนร่วม การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะประสบความสำเร็จได้" เลขานุการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าว

ในเวทีการรับฟังความคิดเห็นได้มีการนำเสนอ กรณีศึกษา "ระบบการติดตาม สนับสนุน และช่วยเหลือเด็กนักเรียนด้อยโอกาส" ของ โรงเรียนวัดห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนขยายโอกาสที่ใช้ "ระบบการเยี่ยมบ้าน" ควบคู่ไปกับการใช้ แอปพลิเคชัน "ระบบคัดกรองปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน" ภายใต้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education : ISEE) ที่ช่วยเปิดใจครูให้รู้และเข้าใจศิษย์ และนำไปสู่การติดตามช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสและมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยการค้นหาความถนัดสู่การพัฒนาทักษะอาชีพ ดึงกลุ่มเสี่ยงกลับสู่สถานศึกษาอย่างมีความสุข

ครูพิมพ์รดา ส่งชื่น กล่าวว่า จากการที่โรงเรียนมีระบบเยี่ยมบ้านและการใช้แอปพลิเคชัน "ระบบคัดกรองปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน" ทำให้ครูทราบข้อมูลว่านักเรียนกว่าร้อยละ 90 มาจากครอบครัวหย่าร้าง อยู่ในชุมชนที่ห่างไกล สภาพพื้นที่เป็นดอยมีความยากลำบากในการเดินทางมายังโรงเรียน ความยากจนทำให้เด็กๆ ต้องไปช่วยครอบครัวทำไร่ทำสวนเพื่อหารายได้หรือใช้แรงงานรับจ้าง จึงต้องขาดเรียนอยู่เป็นประจำ และไม่มีเวลาที่จะทบทวนบทเรียนเพราะต้องทำงาน ผลการเรียนจึงไม่ค่อยดีนัก

"การที่ครูได้ไปเยี่ยมบ้านจะทำให้รู้ว่า เราจะส่งเสริมแต่ด้านวิชาการอย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้าเน้นวิชาการก็จะมีเด็กอีกหลายคนต้องถูกทอดทิ้ง ดังนั้นครูที่นี่ก็จะช่วยเหลือเด็กทุกคนโดยมองข้ามคำว่าเก่ง แต่จะดูว่าเด็กมีความสนใจในเรื่องอะไร ที่สำคัญก็คือการส่งเสริมเรื่องทักษะอาชีพ เด็กต้องมีทักษะการมีชีวิตสามารถเอาตัวรอดในสังคมได้ และต้องมีทักษะในการทำงาน สองสิ่งนี้คือสิ่งที่ชุมชนและโรงเรียนมุ่งหวัง เพื่อให้เด็กๆ ได้ค้นหาหรือค้นพบคำตอบตั้งแต่เรียนอยู่ในระดับชั้น ม.1-2 สามารถวางแผนชีวิตว่าจบแล้วจะไปเรียนต่อหรือทำอะไร

ซึ่งจากการทำงานของโรงเรียนและครูประจำชั้น ทำให้พบว่ามีเด็กนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสนใจในเรื่องของทักษะอาชีพ อย่างในกรณีของ "สดใส" นักเรียนชั้น ม.3 และกลุ่มเพื่อน จนได้รับการฝึกอบรม "อาชีพช่างตัดผม" ทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้ค้นพบตัวตนและความถนัดของตนเองและเกิดความสุขในการมาโรงเรียน ที่นำไปสู่การเปลี่ยนทัศนคติในการใช้ชีวิต โดยโรงเรียนวัดห้วยแก้วยังสนับสนุนต่อยอดให้เปิดเป็น "บริษัทสร้างการดี" สนับสนุนการฝึกทักษะอาชีพต่างๆ ให้กับนักเรียน

"พอได้เห็นฝีมือและผลงาน เราก็ชื่นชม ตัวเด็กเองก็มีกำลังใจ เขาก็เลยมาขอใช้บริเวณหน้าห้องวิทยาศาสตร์มาตัดผมให้เพื่อนๆ น้องๆ พอครูท่านอื่นๆ มาเห็นก็ชื่นชม สดใสก็เลยมีกำลังใจที่จะมาโรงเรียนมากขึ้น พอขึ้นมาชั้น ม.3 เขาก็เริ่มเปลี่ยนวิธีคิด ย้ายมาอยู่ที่หอพักของโรงเรียนเพื่อที่มาเรียนหนังสือและสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เต็มที่ จากเด็กเกเรหนีเรียนเปลี่ยนเป็นคนที่มีภาวะผู้นำมากขึ้นและมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตในอนาคตทำให้หันมาให้ความสำคัญกับการเรียนมากขึ้น"