สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเครือข่าย
กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานครบรอบ 20 ปี ชูแนวคิด "ขับเคลื่อนสู่มาตรฐานและนวัตกรรม" (Driving Toward Standardization and Innovation) พร้อมพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการทดสอบ 5 หวังรองรับการขยายงานบริการมาตรฐานและทดสอบในอนาคต หนุน
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสู่ Smart Electronics เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเชื่อมโยงและต่อยอดไปยัง
กลุ่มอุตสาหกรรมอื่น เช่น Smart Farming, Smart Health, Smart Factory, Smart Vehicle เผยข้อมูลส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2561 มีมูลค่า 62,108.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.16 คาดปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.26 หรือมีมูลค่าราว 64,133.26 ล้านเหรียญสหรัฐ เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดส่งออกหลักจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐกถาพิเศษในงาน 20 ปี สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง "อุตสาหกรรมไทยกับการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคตและนวัตกรรม (Thai Industry : Industry Transformation and Innovation)" ว่าสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงผันผวน โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของประชากรโลก และเข้ามามีบทบาทต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นยุคที่เรียกว่า Disruptive Technology เทคโนโลยีจะเข้ามาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทำให้แต่ละประเทศต้องคิดกลยุทธ์เพื่อรักษาระดับความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศตนเอง โดยเร่งสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับประเทศในทุก ๆ ด้าน ต้องมีการปรับเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ เป็นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และปรับเปลี่ยนจากการให้บริการพื้นฐานเป็นบริการที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูง
"อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สำคัญ ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตมานานกว่า 40 ปี และเป็นห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก จากการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปโดยเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น อุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ จึงต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่ Smart Electronics ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงไปกับแทบทุกอุตสาหกรรมในอนาคต โดยจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรมในรูปแบบต่างๆ อาทิ Smart Farming, Smart Health, Smart Factory, Smart Vehicle เป็นต้น
และเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูง กระทรวงฯจึงได้บูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงานจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Industry Transformation Center : ITC ) มีการแบ่งปันเครื่องจักรอุปกรณ์จากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐมาให้บริการแก่ผู้ประกอบการเพื่อเป็นการลดต้นทุนการประกอบกิจการ เป็นศูนย์กลางที่ดึงความหลากหลายของหน่วยงานที่มีความชำนาญด้านการออกแบบและวิศวกรรมจากผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก จากสถาบันเครือข่ายผู้ประกอบการ จากสมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ มา
ให้บริการแก่ภาคเอกชน ซึ่งมีสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นหน่วยร่วมที่สำคัญ และได้ดำเนินการจัดตั้งห้องปฏิบัติการด้านการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Design Lab - EDL) เพื่อช่วยส่งเสริม พัฒนา และ ยกระดับผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่ครบวงจร ซึ่งถือเป็นหน่วยงานเครือข่ายของศูนย์ ITC ด้วย"
นายสมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวชี้แจงถึงข้อมูลสถานการณ์การส่งออกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ว่า ในปี 2561 ภาพรวมมีมูลค่าการส่งออก 62,108.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.16 แบ่งเป็น 1) สินค้าไฟฟ้า 17,491.67 ล้านเหรียญสหรัฐ(+1.01%) 2) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 38,063.26 ล้านเหรียญสหรัฐ (+4.27%) และ 3)สินค้าไฟฟ้ากำลัง 6,553.59 ล้านเหรียญสหรัฐ(+2.63%) ทั้งนี้สัดส่วนประเทศตลาดส่งออกหลักในภาพรวม 5 อันดับ ได้แก่ อาเซียน ร้อยละ 18.47(+5.38%) สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 17.89(-2.30%) สหภาพยุโรป ร้อยละ 14.46(+8.64%) ญี่ปุ่น ร้อยละ 11.50(+12.19%) และจีน ร้อยละ 9.03(-0.49%) ตามลำดับ
โดยสินค้าไฟฟ้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ(+9.73%) โดยเฉพาะญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ส่วนสินค้าที่ปรับตัวลดลง อาทิ เครื่องอุปกรณ์สำหรับป้องกันวงจรไฟฟ้า(-3.19%) ปรับตัวลดลงในตลาดส่งออกหลัก อาทิ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมาก ตู้เย็น(-6.59%) ปรับตัวลดลงในจีนค่อนข้างมาก และญี่ปุ่นเล็กน้อย กล้องถ่ายบันทึกภาพ (-3.93%)ปรับตัวลดลงในตลาดส่งออกหลัก อาทิ จีน สหภาพยุโรป และอาเซียน เป็นต้น เนื่องจากผลกระทบมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา และการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐอเมริกา กับ จีน ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรายการปรับตัวลดลง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาดส่งออกหลัก ยกเว้นตลาดจีนมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย อาทิ ญี่ปุ่น(+9.56) จากเครื่องโทรศัพท์ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี (Integrated Circuit) และเครื่องพิมพ์ เครื่องทำสำเนา เป็นต้น และสหภาพยุโรป(+8.91) จากอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี (Integrated Circuit) และเครื่องพิมพ์ เครื่องทำสำเนา เป็นต้น ส่วนสินค้าไฟฟ้ากำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาดส่งออกหลัก ยกเว้นตลาดสหรัฐอเมริกา อาทิ จีน(+19.71) จากแผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้า และโซล่าเซลล์ เป็นต้น และญี่ปุ่น(+13.17) จากสายไฟฟ้า ชุดสายไฟ แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และเครื่องเปลี่ยนไฟฟ้า เป็นต้น
"สำหรับแนวโน้มปี 2562 ประมาณการว่าภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.97 โดยในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.38 และอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.56 ส่วนการส่งออก ในภาพรวมคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.26 หรือมีมูลค่าราว 64,133.26 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าไฟฟ้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.97 และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.55 เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดส่งออกหลักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน"
ปัจจุบันอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีสถานประกอบการรวมทั้งสิ้น 2,419 ราย แบ่งเป็นขนาดเล็ก 1,503 ราย ขนาดกลาง 530 ราย และขนาดใหญ่ 386 ราย โดยสถานประกอบการขนาดเล็กส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของผู้ประกอบการสัญชาติไทย มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมรวมจำนวน 753,357 ราย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
นายสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันไฟฟ้าฯ ได้จัดงานครบรอบ 20 ปี โดยชูแนวคิด "ขับเคลื่อนสู่มาตรฐานและนวัตกรรม" พร้อมจัดพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการทดสอบ 5 และจัดแสดงนิทรรศการวิชาการ ภายในบริเวณศูนย์ปฏิบัติการและมาตรฐาน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นิคมอุตสาหกรรมบางปู
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สถาบันฯได้มุ่งมั่นในการดำเนินงานตามภารกิจหลักเพื่อขับเคลื่อน ส่งเสริม และสนับสนุนงานวิชาการและงานบริการ ด้านการมาตรฐาน การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน ได้พัฒนาขีดความสามารถและขยายขอบข่ายการให้บริการด้านการมาตรฐานและการรับรองผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร ซึ่งได้มีการพัฒนาและขยายขอบข่ายการให้บริการด้านการทดสอบผลิตภัณฑ์ หรือ Product Testing และการสอบเทียบ หรือ Calibration โดยห้องปฏิบัติการทดสอบและการสอบเทียบได้รับการรับรองตามระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17025 การบริการด้านการตรวจคุณภาพโรงงาน หรือ Factory inspection โดยได้รับการรับรองตามระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17020 และการบริการด้านการรับรองผลิตภัณฑ์ หรือ Product Certification โดยได้รับการรับรองตามระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17065 นอกจากนี้ยังได้ดำเนินภารกิจด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับรองและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ภายใต้ข้อตกลงร่วม ASEAN EE MRA ทั้งยังได้สมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยรับรองและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของ IECEE CB Scheme ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (HOUS) กลุ่มผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ส่องสว่าง (LITE) และกลุ่มมาตรฐานความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า(EMC)
ขณะเดียวกันยังมีภารกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม โดยได้ดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากร ฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ทั้งหลักสูตรด้านพื้นฐานทั่วไป หลักสูตรด้านการบริหารจัดการและผลิตภาพ หลักสูตรด้านเทคโนโลยี นับจนถึงปัจจุบัน มีผู้ผ่านการอบรม จำนวนทั้งสิ้นกว่า 190,000 คน รวมทั้งมีภารกิจหลักด้านการดำเนินการศึกษาวิเคราะห์วิจัยเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายของภาครัฐ และการพัฒนาจัดทำฐานข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และภารกิจในการบริการเกี่ยวกับระบบรับรองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรให้แก่ผู้ประกอบการตามมาตรการของรัฐเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและบรรเทาผลกระทบจากข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบต่างๆ ด้วย
ทั้งนี้การจัดสร้างอาคารห้องปฏิบัติการทดสอบ 5 ขึ้น เพื่อรองรับการขยายขอบข่ายการให้บริการด้านการมาตรฐาน การทดสอบ และการรับรองผลิตภัณฑ์ของสถาบันฯในอนาคตได้อีกอย่างน้อย 3 – 5 ปี อาทิ การทดสอบอุปกรณ์ EV Charger การทดสอบเครื่องปรับอากาศระบบ Multi-Split รวมทั้งรองรับงานมาตรฐานอื่นๆ และ Smart Electronics เป็นต้น