จับกระแสไอทีปี 2562 กับการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ นายสุภัค ลายเลิศ กรรมการอำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด

11 Mar 2019
ทุก ๆ สิ้นปี บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยชั้นนำของโลก ทั้ง ไอดีซี การ์ทเนอร์ ฟอร์เรสเตอร์ หรือแมคคินซีแอนด์คอมปานี เป็นต้น ต่างออกรายงานคาดการณ์แนวโน้มด้านไอที เพื่อเป็นไอเดียในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ โดยปีนี้ต่างก็เห็นตรงกันว่า "คลาวด์ คอมพิวติ้ง บิ๊ก ดาต้าและการวิเคราะห์ข้อมูล ไอโอที ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน และความปลอดภัยทางไซเบอร์" จะยังคงมีบทบาทสำคัญอย่างน้อยอีก 3-5 ปี ข้างหน้า โดยองค์กรใดที่สามารถผสมผสานเทคโนโลยีเหล่านี้และจัดวางการใช้งานได้ถูกที่ถูกทาง เท่ากับเป็นการปูรากฐานทางธุรกิจให้แข็งแกร่ง และสร้างความได้เปรียบสำหรับยุค "เศรษฐกิจดิจิทัล" ซึ่งขับเคลื่อนด้วย "ฐานข้อมูล นวัตกรรม และปัญญาประดิษฐ์" บนระบบงานที่เน้นความเป็น "อัตโนมัติ หรือ ออโตเมชั่น" แบบครบจบทุกกระบวนการ
จับกระแสไอทีปี 2562 กับการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ นายสุภัค ลายเลิศ กรรมการอำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด

ที่ผ่านมา การเริ่มต้นใช้งาน "คลาวด์ คอมพิวติ้ง" ไม่ว่าจะเป็นคลาวด์ส่วนตัว คลาวด์สาธารณะ ไฮบริดคลาวด์ จะมองถึงความคุ้มทุนที่เกิดจากการแชร์ใช้ทรัพยากรไอทีร่วมกันทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แต่จากนี้ไป คลาวด์จะมีบทบาทสนับสนุนการทำงานเพื่อสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจมากขึ้น และในปีนี้ "มัลติคลาวด์" จะถูกพูดถึงเป็นพิเศษ ด้วยแนวทางที่เปิดกว้างให้กับองค์กรในการใช้งานคลาวด์จากผู้ให้บริการหลาย ๆ รายควบคู่กันไป เพื่อให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะด้าน ส่วนตัวช่วยใหม่ ๆ ที่จะมาเติมประสิทธิภาพของคลาวด์ ได้แก่ "เอดจ์ คอมพิวติ้ง (Edge Computing)" ที่จะมาช่วยลดโหลดการทำงานบนคลาวด์ โดยให้อุปกรณ์ปลายทางสามารถจัดการตัวเองได้ เสริมด้วย "แอปพลิเคชันในแบบไมโครเซอร์วิส (Micro Services)" ซึ่งเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่แยกออกเป็นส่วนย่อย ๆ ตามฟังก์ชั่นใช้งาน เพื่อให้ง่ายต่อการปรับปรุงแก้ไขผ่านคลาวด์ได้ด้วยเวลาที่รวดเร็ว และทันกับการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

ขณะเดียวกัน ในยุคที่ผู้คนหันมานิยมแสดงความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมผ่านแฮชแท็กซ์ อิโมจิ สติกเกอร์ไลน์ หรือยูทูป การหลั่งไหลของข้อมูลผ่านอุปกรณ์ไอโอที หรือการประกอบธุรกรรมออนไลน์ ทำให้ "บิ๊ก ดาต้า" เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในระดับที่เราไม่คุยเป็น "เทราไบต์" กันแล้ว แต่เป็นการโตในระดับ "เซตตาไบต์ (Zettabyte)" ด้วยข้อมูลแบบมีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้าง และหน้าตาที่หลากหลายซึ่งไม่ใช่แค่ตัวอักษรอีกต่อไป เครื่องมือวิเคราะห์ บิ๊ก ดาต้า จึงกำลังถูกพัฒนาให้ทำงานได้ฉลาดขึ้นในการ "กลั่นกรองและวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช่" และส่งต่อสู่กระบวนการสนับสนุนการตัดสินใจทางธุรกิจ หรือ บิซิเนส อินเทลลิเจนส์ เพื่อเพิ่มมุมมองใหม่จากข้อมูลที่หลากหลายให้กับผู้บริหาร รวมถึงต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรม เช่น เออาร์/วีอาร์ แมชชีนเลิร์นนิ่ง หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน หรือ เพิ่มโอกาสทางการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่โดนใจและเข้าถึงตัวตนของ "ลูกค้าหรือผู้บริโภค" ในระดับที่รู้ว่า ชอบอะไร ซื้อเมื่อไหร่ และอนาคตอยากซื้ออะไร จนเกิดเป็นความภักดีต่อแบรนด์ยิ่งกว่าเดิม

และแล้ว "ไอโอที" ก็ให้เราได้มากกว่าการเป็นแค่โปรโตคอลหนึ่งที่มีไว้เชื่อมต่ออุปกรณ์เท่านั้น แต่คือ "แพลตฟอร์มที่สามารถ "สร้างและขยายพื้นที่แสดงผลและส่งต่อข้อมูลที่หลากหลายแบบไม่จำกัดโครงสร้าง" ซึ่งองค์กรเอาไปประยุกต์ใช้ได้หลายทาง อาทิ ใช้เป็นเครื่องมือส่งต่อ "นวัตกรรมข้อมูลในรูปแบบความจริงเสมือน (เออาร์/วีอาร์)" เพื่อสื่อสารหรือปลุกกระแสความนิยมในสินค้าและบริการ หรือชูภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งของแบรนด์ผ่านอุปกรณ์ BYOD ตรงถึงมือลูกค้า การต่อยอดไอโอทีให้อยู่ในรูปของ "เซ็นเซอร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ" ที่ช่วยองค์กรในการตรวจติดตาม หรือควบคุมกระบวนการผลิตในงานอุตสาหกรรม คุณภาพของสินค้าหรือบริการ การใช้งานไอโอทีในการผลักดันการเติบโตของตลาดการค้าบนโลกออนไลน์ที่ทำให้เราสามารถขยายพื้นที่การขาย เพิ่มเติมฐานลูกค้า หรือพบช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ

การจับมือระหว่างไมโครซอฟท์และฟิตบิทในการพัฒนาแอปพลิเคชันบนวินโดว์ 10 ที่ผสมผสานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยี เพื่อสร้างโปรแกรมคำนวณการออกกำลังกายที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลได้ทันทีผ่านสมาร์ทโฟน อเมซอนช็อปปิ้ง พัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์เครื่องแต่งกายจากข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสไตล์และแฟชั่น เพื่อเป็นผู้ช่วยด้านแฟชั่นแบบเวอร์ช่วลให้กับนักช็อปทั้งหลาย คือ ตัวอย่างการเติมเต็มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าผ่าน "ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ" ซึ่งนอกจากจะสามารถ "สร้างการรับรู้ โต้ตอบ หรือปฏิบัติการได้ทันทีที่ร้องขอ" ยังเป็นการยกระดับความเป็นนวัตกรรมของแบรนด์ในสายตาลูกค้า นอกจากนี้ ข้อมูลหรือพฤติกรรมการโต้ตอบของลูกค้ากับเอไอ ยังนำไปใช้ในการวิเคราะห์ปรับปรุงเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างโอกาสการขาย โดยเน้นการนำเสนอในจุดที่ลูกค้าสนใจ หรือจากมุมที่ดีที่สุดของสินค้าและบริการ จนสามารถเปลี่ยนการตัดสินใจจาก "เดี๋ยวค่อยซื้อ" เป็น "อยากซื้อเดี๋ยวนี้"

ขีดความสามารถของ "บล็อกเชน" ที่ขยายผลจากโลกของฟินเทคสู่โลกของการจัดการธุรกิจ เป้าหมาย คือ "สร้างความน่าเชื่อถือ โปร่งใส และตรวจสอบได้" ด้วยหลักการ "การจัดเก็บฐานข้อมูลแบบกระจาย (Distributed Database) ที่ต่อตรงถึงกันทั้งหมดภายในเครือข่าย" โดยไม่ต้องมีตัวกลางประมวลผลเหมือนฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์ การปรับปรุงทุกฐานข้อมูลในเครือข่ายให้ทันสมัยจึงทำได้พร้อมกันทันที ซึ่งลดทั้งเวลาและขั้นตอนการทำงาน การสร้างความโปร่งใสน่าเชื่อถือจากการที่ทุกฐานข้อมูลในเครือข่ายสามารถตรวจสอบย้อนกลับไป-มาซึ่งกันและกันถึงความถูกต้อง ที่มาที่ไป และการเคลื่อนไหวของข้อมูล หรือธุรกรรมต่าง ๆ ได้ ขณะเดียวกัน การขโมย ปลอมแปลง หรือทำลายระบบจะต้องเจาะถึงทุกฐานข้อมูลในเครือข่ายพร้อม ๆ กันและในเวลาเดียวกันจึงจะสำเร็จ ซึ่งนั่นทำให้บล็อกเชนได้รับการยอมรับว่า มีความปลอดภัยสูง ตัวอย่างของบล็อกเชนที่ใช้ในเชิงธุรกิจ เช่น ไอบีเอ็มซึ่งได้พัฒนาแพลตฟอร์มบนบล็อกเชนที่ชื่อว่า "ฟู้ดทรัสต์ (Food Trust)" ในการติดตามตรวจสอบซัพพลายเชนที่อยู่ในกระบวนการจัดหาและส่งมอบผลิตผลทางอาหารถึงมือผู้บริโภค โดยตัวผู้บริโภคเองก็สามารถตรวจสอบย้อนกลับเพื่อยืนยันแหล่งที่มา คุณภาพ และความสดใหม่ของสินค้าได้

ประสิทธิภาพของ "ระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์" ที่ต้องตอบโจทย์ให้ตรงจุดในเรื่อง "ป้องกันความเสี่ยงและสร้างความไว้วางใจ (Risk & Trust)" ในอดีต เราเคยมี เกตเวย์ ไฟร์วอลล์ เป็นปราการป้องกันระบบไอทีขององค์กร แต่ยังไม่พอสำหรับการปกป้องทรัพย์สินสารสนเทศโดยเฉพาะ "ข้อมูล" ที่อยู่บนโลกออนไลน์และคลาวด์ ไอดีซี ได้เสนอแนะแนวคิด "ซีโร่ ทรัสต์ ซีเคียวริตี้ (Zero Trust Security)" บนหลักการที่ว่า "อย่าไว้ใจกันง่าย ๆ" โดย ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน จะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความปลอดภัยของข้อมูลบนคลาวด์หรือออนไลน์ในการตรวจจับผู้บุกรุกจากภายนอก และป้องกันการรั่วไหลโดยคนใน ซึ่ง กูเกิล ได้นำแนวคิดนี้ไปพัฒนาระบบความปลอดภัยของข้อมูล ภายใต้โครงการ"บียอนคอร์ป (Beyond Corp) แล้ว นอกจากนี้ แพลตฟอร์มความปลอดภัยที่พัฒนาบน "เอพีไอแบบเปิด (Open APIs)" ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่เข้ามาอุดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย โดยองค์กรสามารถพัฒนาเพิ่มเติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับภัยคุกคามต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่จะช่วยเติมพลังให้กับองค์กร เพื่อพร้อมสู้ศึกการแข่งขันในโลกยุคดิจิทัล โลกซึ่งความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีและข้อมูล คือ หนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จทางธุรกิจ