รมว.กระทรวงวิทย์ฯ ลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เปิดงาน “ลานนา 4.0 พลิกโฉมเมืองเหนือด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม”

09 Nov 2018
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.กระทรวงวิทย์ฯ ลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เปิดงาน "LANNA 4.0 Northern Innovation Re-Profile: ลานนา 4.0 พลิกโฉมเมืองเหนือด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม" ชมวิทยาการความก้าวหน้าเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมของอุทยานฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 6 มหาวิทยาลัยเครือข่าย พร้อมร่วมพิธีอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการยกระดับภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย พิธีบันทึกภาพความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการร่วมวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ก่อนทิ้งท้ายร่วมกับนักวิจัยมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวก่ำล้านนาสายพันธุ์ใหม่แก่วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ณ Rice Grain Auditorium อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่
รมว.กระทรวงวิทย์ฯ ลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เปิดงาน “ลานนา 4.0 พลิกโฉมเมืองเหนือด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม”

เวลา 9.00 น. ดร.สุวิทย์ฯ นำผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 6 มหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม) ร่วมงาน "LANNA 4.0 Northern Innovation Re-Profile: ลานนา 4.0 พลิกโฉม เมืองเหนือด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม" โดยเป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษสร้างความตระหนักและแรงบันดาลใจในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม "พลังคนรุ่นใหม่ ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ไปพร้อมกัน" โดยมีนักธุรกิจ นักวิจัยรุ่นใหม่ และนักศึกษา รวมทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ร่วมรับฟังจำนวนกว่า 500 คนพร้อมร่วมพิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการยกระดับภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เชื่อมโยงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผ่านโครงการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ (Industrial Research and Technology Capacity Development Program: IRTC) รวมทั้งดำเนินการด้านจัดทำสัญญาขออนุญาตใช้สิทธิระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน ภายใต้โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย

พิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิเอนไซม์ไลเปสสำหรับสัตว์กระเพาะเดี่ยว ให้แก่บริษัท เอเชียสตาร์ แอนนิมัล เฮลธ์ จำกัด ผลงานการวิจัยจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณพร ทะพิงค์แก สังกัดภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นการใช้ประโยชน์จากอาหารให้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้นด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยไขมันให้กลายเป็นกรดไขมันที่สัตว์สามารถดูดซึมได้ ส่งผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ ทำให้สัตว์แข็งแรงขึ้น และสามารถลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรในการใช้ยาปฏิชีวนะลงได้ นับว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-economy) ในการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในเชิงพาณิชย์เพื่อลดต้นทุนเศรษฐกิจในระยะยาว

พิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิกรรมวิธีและสูตรการผลิตลำไยอบกึ่งแห้งรูปแบบใหม่ ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรบ้านล่ามช้าง จังหวัดลำพูน โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เป็นเจ้าของเทคโนโลยีผ่านงานวิจัยจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจินดา ศรีวัฒนะ สังกัดสาขาวิชาเทคโนโลยี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ลำไยอบกึ่งแห้งด้วยกระบวนการออสโมติกดีไฮเดรชัน (osmotic dehydration) เพื่อให้ได้เนื้อลำไย ที่มีลักษณะอ่อนนุ่มน่ารับประทาน นับเป็นการสร้างความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ทั่วไปในท้องตลาด อีกทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ นับเป็น CSR (Corporate Social Responsibility : ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร) ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ USR (University Social Responsibility : ความรับผิดชอบต่อสังคมของมหาวิทยาลัย) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์และสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม

พิธีบันทึกภาพความร่วมมือด้วยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างบริษัท สยามโนวาส จำกัด และปศุสัตว์จังหวัดลำปาง ด้วยการคัดเพศน้ำเชื้อด้วยปฏิกิริยาไซโตทอกซิคจากโมโนโคลนอลแอนติบอดีของโคเนื้อ สายพันธุ์ต่างประเทศ เพื่อเพิ่มสัดส่วนเพศวัวที่ต้องการให้สูงขึ้น วิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รศ.เพทาย พงษ์เพียจันทร์ และ ดร.กรวรรณ ศรีงาม นักวิจัยจากภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวสามารถเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายในการผสมพันธุ์ ทั้งนี้น้ำเชื้อคัดเพศโค (Cattle Sexed Semen) ถูกบรรจุลงในบัญชีนวัตกรรมไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 นับเป็นความสำเร็จร่วมกันระหว่างนักวิจัยจากภาคการศึกษาและภาครัฐบาลในการมีสินค้านวัตกรรมเป็นทางเลือกในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement) ตอกย้ำถึงการสร้างความร่วมมือแบบ Triple Helix (ภาครัฐบาล ภาคการศึกษา ภาคเอกชน) แก่ระบบนวัตกรรมของประเทศไทยอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ยังได้จัดให้มี พิธีมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวก่ำล้านนาสายพันธุ์ใหม่ ด้วยการสนับสนุนการวิจัยและบริการอื่นๆ ภายใต้โครงการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน (Collaborative Research Program) โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ภายใต้โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือแก่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ข้าวเหนียวดำดอยสะเก็ด จำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ก่ำหอม มช., ก่ำเจ้า มช. 107, และก่ำดอยสะเก็ด ผลงานการปรับปรุงพันธุ์โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ชนากานต์ เทโบลต์ พรมอุทัย และคณะนักวิจัย จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมวิจัยกับชุมนุมสหกรณ์การเกษตรเชียงใหม่ จำกัด เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าว สายพันธุ์ท้องถิ่นโดยยกระดับข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองสู่การเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและประเทศชาติตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ก่อนนำชมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมผ่านบูธจุดแสดงผลงานของหน่วยงานความร่วมมือต่างๆ และเครือข่าย Startup ที่ใช้บริการจากอุทยานฯ

รมว.กระทรวงวิทย์ฯ ลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เปิดงาน “ลานนา 4.0 พลิกโฉมเมืองเหนือด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” รมว.กระทรวงวิทย์ฯ ลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เปิดงาน “ลานนา 4.0 พลิกโฉมเมืองเหนือด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม”