คำว่า "สมรรถนะ" หลายคนมักนึกถึงภาพของรถแข่งและนักขับมือฉมังที่มีความมุ่งมั่นคว้าชัยชนะ ผู้ที่ติดตามวงการ
มอเตอร์สปอร์ตอย่างใกล้ชิดย่อมจดจำชื่อนักแข่งชั้นนำอย่าง ฮิโรชิ มาซูโอกะ เคนจิโร่ ชิโนซูกะ ทอมมี มาคิเนน ริชาร์ด เบิร์นส์ (ผู้ล่วงลับ) พรสวรรค์ ศิริวัฒนกุล และ ตุลย์ สุวรรณรัตน์ สองนักขับชาวไทยอดีตเจ้าทะเลทรายรุ่น T2 รวมถึงนักแข่งชื่อดังอีกหลายคน นักแข่งเหล่านี้ต่างเคยขับ
รถมิตซูบิชิ พร้อมระบบ
ขับเคลื่อน 4 ล้อ บุกตะลุยฟันฝ่าอุปสรรคบนเส้นทางทะเลทรายที่แห้งแล้งและป่าเขาที่ยากลำบากที่สุดเพื่อชัยชนะอันยิ่งใหญ่
แล้วการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตมีความเกี่ยวข้องกับรถอเนกประสงค์ขับเคลื่อน 4 ล้อยุคใหม่อย่าง มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต อย่างไร คำตอบ คือ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างแนบแน่นโดยเฉพาะในด้านสมรรถนะและ
ความปลอดภัย สมรรถนะที่มาพร้อมความปลอดภัยและความทนทาน คือ กุญแจสำคัญสู่ชัยชนะในการแข่งขัน แบบแรลลี่ ถือเป็นบททดสอบสำคัญในด้านสมรรถนะ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ความแข็งแกร่ง และความทนทาน นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการวิจัยและพัฒนา ควบคู่กับการทดสอบเทคโนโลยีต่างๆ ในรถแข่งเหล่านี้ถูกต่อยอดด้านวิศวกรรมยานยนต์เพื่อถ่ายทอดสู่ยนตรกรรมที่ออกจำหน่ายในท้องตลาดอย่าง มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต
จุดเริ่มต้นของสมรรถนะในแบบ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ระบบการยึดเกาะ และสมรรถนะบนทางออฟโรดมาอย่างยาวนาน ต้นกำเนิดแห่งสมรรถนะและความปลอดภัยใน มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต พัฒนาจากความเชี่ยวชาญอันยาวนานกว่า 80 ปี
จากจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2477 เมื่อรถต้นแบบอย่าง มิตซูบิชิ พีเอ็กซ์ 33 (Mitsubishi PX33) รถยนต์นั่งที่พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนงานของกองทัพ ที่เน้นด้านความแข็งแกร่ง ความอเนกประสงค์และต้องสามารถขับเคลื่อนไปได้บนทุกสภาพถนน จึงกล่าวได้ว่า พีเอ็กซ์ 33 เป็นรถซีดานรุ่นแรกของญี่ปุ่นที่ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบฟูลไทม์ ทั้งนี้ รถต้นแบบรุ่นดังกล่าวยังมีรุ่นย่อยที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลไดเรคอินเจคชั่นเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่นภายใต้รหัส 445 เอดี (445AD) อย่างไรก็ตาม โครงการพีเอ็กซ์ 33 ยุติลงในอีก 3 ปีต่อมา
เทคโนโลยีจากโครงการดังกล่าวถูกเก็บบันทึกไว้อีกหลายทศวรรษ ก่อนที่บริษัทจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อรุ่นแรกถูกต่อยอดและนำเสนออีกครั้งที่งาน โตเกียว มอเตอร์โชว์ ในปี พ.ศ. 2516 ด้วยรถเปิดหลังคาที่ถือเป็นต้นกำเนิดแห่งยนตรกรรมอันเป็นตำนานอย่าง มิตซูบิชิ ปาเจโร หลังจากนั้น รถต้นแบบรุ่นที่สองได้รับการจัดแสดงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2521 และเริ่มต้นการผลิตเพื่อจำหน่ายจริงในปี พ.ศ. 2525
เทคโนโลยีแห่งชัยชนะในสนามแข่ง
มิตซูบิชิ ปาเจโร พิสูจน์แล้วถึงความสำเร็จทั้งในด้านยอดจำหน่ายและในสนามแข่ง ด้วยสมรรถนะที่ยอดเยี่ยมของ มิตซูบิชิ ปาเจโร ถูกนำไปทดสอบในการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตระดับมืออาชีพ โดยการร่วมแข่งขันแรลลี่ข้ามประเทศที่หฤโหดที่สุดในโลกเป็นครั้งแรกนั้น มิตซูบิชิ ปาเจโร ที่ผ่านการปรับแต่งเพียงเล็กน้อยจบการแข่งขันระยะทาง 10,000 กิโลเมตรในอันดับที่ 11 ประเภทโอเวอร์ออล จากรถที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมดกว่า 100 คัน
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส มุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อการแข่งขันอย่างเต็มตัวโดยได้ปรับแต่ง มิตซูบิชิ ปาเจโร ให้มีศักยภาพสูงขึ้นทั้งในด้านความปลอดภัย ความทนทาน และสมรรถนะการขับขี่ในภาพรวม ก่อนจะคว้าชัยชนะอย่างรวดเร็วในประเภทโอเวอร์ออลในการลงแข่งขันครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2528
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ลงแข่งขันในรายการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 25 ปี โดยกวาดชัยชนะทั้งหมด 12 ครั้งจากทั้งหมด 26 ครั้งที่เข้าร่วมการแข่งขัน (คว้าชัยชนะ 7 ครั้งติดต่อกันในปี พ.ศ. 2544 – 2550) และด้วยสถิติอันน่าทึ่งนี้ทำให้ มิตซูบิชิ ปาเจโร ได้รับฉายาว่าเป็น "ราชาแห่งทะเลทราย" อีกทั้งยังได้รับการบันทึกจากกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด ว่าเป็น "บริษัทผู้ผลิตที่คว้าชัยชนะการแข่งขันดาการ์แรลลี่มากที่สุด"
สมรรถนะแห่งชัยชนะทั้งบนถนนจริงและในสนามแข่ง
หนึ่งในคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่ทำให้ มิตซูบิชิ ปาเจโร ทรงพลังและเปี่ยมด้วยสมรรถนะ คือระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ทั้งนี้ข้อมูลทางเทคนิคและองค์ความรู้ที่ได้จากสนามแข่งได้รับการถ่ายทอดสู่การผลิตรถยนต์ของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ในเวลาต่อมา เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ อย่างไรก็ตาม ความสะดวกสบายและความหรูหราก็มีความสำคัญเช่นกัน บางคนอาจคาดไม่ถึงว่า มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต จะมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบเดียวกับรถที่ใช้ในการแข่งขัน ซึ่งแตกต่างและมีลักษณะการใช้งานที่ไม่เหมาะกับการในชีวิตประจำวัน
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ใช้ระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีอิเลกทรอนิกในการปรับจูนระบบสมรรถนะเพื่อรองรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังปรับตั้งโปรแกรมระบบขับเคลื่อนเพื่อให้เหมาะสมกับการขับขี่ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ทั้งเส้นทางในเมือง ถนนทางไกล หรือ เส้นทางลูกรังในชนบท
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Super Select 4WD-II ของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ซึ่งเป็นการผสมผสานระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบฟูลไทม์และพาร์ทไทม์เข้าไว้ด้วยกัน ใช้ตัวควบคุมไฟฟ้าที่ช่วยปรับเปลี่ยนโหมดการขับขี่แทนที่การควบคุมด้วยมือ มีโหมดการขับขี่ 4 รูปแบบ ดังนี้
- โหมด 2H ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ (2WD High-Range) – ระบบขับเคลื่อนล้อหลังช่วยลดแรงเสียดทานของชิ้นส่วนกลไกที่ไม่จำเป็นบนถนนลาดยางเพื่อให้มีความประหยัดน้ำมันสูงสุด
- โหมด 4H ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (4WD High-Range) – ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อสำหรับใช้งานบนพื้นถนนที่เปียกลื่น พละกำลังจะกระจายสู่ล้อหน้า-หลังแบบ 40-60 โดยบนถนนทั่วไป พละกำลังจะกระจายแบ่งเป็น 50-50 ระบบ Torque-Sensitive Type เพิ่มสมรรถนะการยึดเกาะและความปลอดภัยด้วยการทำงานในแบบ 4 ล้อแบบฟูลไทม์ (Full Time All Wheel Control)
- โหมด 4HLc ระบบขับเคลื่อนสี่ล้ออัตราทดความเร็วสูง (4WD High-Range with Locked Transfer) ระบบเฟืองท้ายกลาง (Center Differential Locked) มอบการขับขี่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นบนพื้นถนนที่ปกคลุมด้วยหิมะและลื่นไถลมาก รวมถึงบนพื้นทรายและพื้นผิวถนนที่ขรุขระแบบอื่นๆ โดยมีการกระจายกำลังขับเคลื่อนสู่ล้อทั้ง 4 เท่ากัน
- โหมด4LLc ระบบขับเคลื่อนสี่ล้ออัตราทดความเร็วต่ำ (4WD Low-Range with Locked Transfer) ใช้เกียร์อัตราทดความเร็วต่ำและล็อกเฟืองท้ายกลางเมื่อต้องใช้แรงบิดมากขึ้นเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคบนเส้นทางที่มีก้อนหินใหญ่หรือดินโคลน
นอกจากนี้ ระบบ Super Select 4WD-II ยังมาพร้อมโหมดออฟโรด (Off-Road) ที่ยกระดับการยึดเกาะผ่านการปรับตั้งค่าในโหมดออฟโรดหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Gravel, Mud/Snow, Sand หรือ Rock แต่ละโหมดมีการทำงานของเครื่องยนต์และเบรกที่แตกต่างกันเพื่อเพิ่มสมรรถนะและการยึดเกาะสูงสุด โหมดที่ถูกเลือกจะปรากฏขึ้นบนหน้าจอแสดงผล นอกจากนี้ คุณสมบัติที่โดดเด่นของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อยังรวมถึงระบบล็อกเฟืองท้าย (Rear Differential Lock) ที่ทำงานประสานกับตัวล็อกเฟืองท้ายกลางซึ่งเป็นระบบที่ติดตั้งอยู่ในรถเอสยูวีไม่กี่รุ่นในท้องตลาด เมื่อระบบนี้ทำงานจะล็อกเฟืองท้าย ทำให้มีการกระจายพละกำลัง 50-50 ไปสู่ล้อหลัง ถือเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อการขับขี่บนทางออฟโรดที่มีความท้าทายสูง
เพื่อสร้างความมั่นในว่าจะมีพละกำลังมากเพียงพอในทุกสถานการณ์ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์รหัส 4N15 ติดตั้งเทอร์โบแปรผันที่มีน้ำหนักเบากว่าเพื่อการตอบสนองที่รวดเร็วยิ่งขึ้น อัตราเร่งและพละกำลังจึงพร้อมใช้งานได้ดังใจ ไม่ว่าจะเป็นการฟันฝ่าจราจรในเมืองหรือการขับขี่บนถนนทางไกล และแม้กระทั่งบนเส้นทางออฟโรด นอกจากนี้ยังเพิ่มความประหยัดน้ำมัน พร้อมกับลดเสียงรบกวน แรงสั่นสะเทือน และแรงสะท้าน (NVH) ลงอีกด้วย
เครื่องยนต์ดีเซลบล็อกอลูมิเนียม VG Turbo ขนาด 4 สูบแถวเรียง ความจุ 2.4 ลิตร MIVEC มีพละกำลัง 181 แรงม้าที่ 3,500 รอบต่อนาที แรงบิด 430 นิวตันเมตรที่ 2,500 รอบต่อนาที ซึ่งมีอัตราส่วนพละกำลังต่อความจุสูงที่สุดในระดับเดียวกันอยู่ที่ 74 แรงม้าต่อลิตร และ 176 นิวตันเมตรต่อลิตร
พละกำลังจากเครื่องยนต์ 4N15 ถูกถ่ายทอดลงพื้นด้วยระบบขับเคลื่อนล้อหลังเป็นหลักผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด อัตราทดเกียร์ที่มากขึ้นทำให้พละกำลังของเครื่องยนต์ถูกใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม มอบอัตราเร่งที่ไหลลื่นและการบริโภคน้ำมันที่ต่ำ นอกจากนี้ยังมีระบบ INC (Idling Neutral Control) ซึ่งช่วยลดการสูญเสียพลังงานภายในตัวเครื่องยนต์อันเกิดจากแรงฉุดของทอร์กคอนเวอร์เตอร์เมื่อตัวรถหยุดนิ่งและเกียร์อยู่ในตำแหน่ง D จึงช่วยเพิ่มความประหยัดน้ำมันอีกทางหนึ่ง
มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต ยังมีระบบความปลอดภัยที่ครบครันเพื่อรองรับสมรรถนะที่เหนือชั้น เมื่อเทียบกับปาเจโรตัวแข่ง ระบบความปลอดภัยเหล่านี้ถูกพัฒนาให้เป็นเหมือนผู้ช่วยผู้ขับขี่โดยไม่ส่งผลต่อประสบการณ์การขับขี่ในภาพรวม เทคโนโลยีความปลอดภัยเชิงรุกเพื่อการป้องกันมีดังนี้
- ระบบเตือนการชนด้านหน้าตรงพร้อมระบบช่วยชะลอความเร็ว (FCM) ใช้คลื่นสัญญาณเรดาร์คลื่นความถี่ระดับมิลลิเมตรในการประเมินระยะห่างกับรถคันหน้าและตรวจจับการชน ระบบนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงการชนหรือบรรเทาความเสียหายจากการชนด้วยการเตือนเตือนผู้ขับขี่และสั่งการระบบเบรกของตัวรถ
- ระบบตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะเมื่อเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว (UMMS) ช่วยหลีกเลี่ยงการเร่งโดยไม่ตั้งใจขณะรถหยุดนิ่งหรือที่ความเร็วไม่เกิน 10 กม.ต่อชม. เซ็นเซอร์อัลตราโซนิคจะตรวจจับสิ่งกีดขวางด้านหน้าหรือด้านหลัง และจะตัดกำลังของเครื่องยนต์พร้อมกับแจ้งเตือนด้วยเสียงถ้าระบบตรวจจับว่าผู้ขับขี่มีการเร่งอย่างกะทันหันหรือรุนแรงขณะที่ยังมีสิ่งกีดขวางอยู่ในเส้นทางของรถ
- ระบบเตือนบริเวณจุดอับสายตา (BSW) เซ็นเซอร์อัลตราโซนิคที่ติดตั้งอยู่บนกันชนจะตรวจจับบริเวณมุมของตัวรถ สัญลักษณ์แจ้งเตือนจะปรากฏบนกระจกมองข้างของแต่ละฝั่งถ้าตรวจจับว่ามียานพาหนะอยู่ใกล้ในมุบอับสายตา
- กล้องมองภาพรอบคัน (Multi Around Monitor) ทำงานด้วยด้วยกล้อง 4 ตัวที่ติดตั้งอยู่ด้านซ้ายและขวา รวมถึงด้านหน้าและหลังของตัวรถเพื่อให้ผู้ขับขี่ได้เห็นภาพมุมสูงว่ามีสิ่งกีดขวางอยู่รอบคันรถหรือไม่ ภาพด้านหลังตัวรถจะแสดงขึ้นพร้อมกับเส้นกะระยะเพื่ออำนวยความสะดวกในการถอยจอด
- ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล (Active Stability and Traction Control) ทำงานเพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวรถด้วยการควบคุมพละกำลังเครื่องยนต์และเบรกเมื่อตรวจจับพบว่าตัวรถสูญเสียการควบคุมหรือล้อใดล้อหนึ่งมีการลื่นไถล นอกจากนี้ยังป้องกันการหมุนฟรีของล้อเพื่อเพิ่มสมรรถนะและการยึดเกาะ
- ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (HSA) – ป้องกันไม่ให้รถเคลื่อนถอยหลังบนทางลาดชัน ระบบนี้จะสั่งการให้เบรกทำงานเป็นเวลา 2 วินาทีหลังจากผู้ขับขี่ยกเท้าออกจากแป้นเบรกเพื่อมาเหยียบคันเร่งบนทางลาดชัน
- ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (HDC) – สั่งการให้เบรกทำงานโดยอัตโนมัติเพื่อรักษาความเร็วรถขณะลงทางลาดชันให้อยู่ระหว่าง 2 – 20 กม.ต่อชม. เพื่อเพิ่มการยึดเกาะและการควบคุมสูงสุด ทำให้ผู้ขับขี่มีสมาธิอยู่ที่การควบคุมพวงมาลัยลงทางลาดชันโดยเฉพาะบนเส้นทางที่เปียกลื่น