กสอ. ผนึก 7 ภาคีเครือข่าย ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมฟู้ดทรัค พร้อมชู 5 มาตรการ ขับเคลื่อนฟู้ดทรัคคลัสเตอร์ให้เติบโตแข็งแรงและยั่งยืน

09 May 2019
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ผนึก 7 ภาคีเครือข่าย แถลงความร่วมมือ ยกระดับมาตรฐานพัฒนาอุตสาหกรรมฟู้ดทรัคให้เป็นที่ยอมรับของตลาด รองรับการขยายตัวของผู้ประกอบการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมชูแนวคิดพัฒนาอุตสาหกรรมฟู้ดทรัคแบบคู่ขนาน ผ่าน 5 มาตรการสำคัญ เร่งบ่มเพาะผู้ประกอบการให้เข้มแข็ง ขยายคลัสเตอร์ เชื่อมโยงตลาดสากล หนุนเงินลงทุน ตั้งเป้าส่งเสริมผู้ประกอบการสุ่ธุรกิจฟู้ดทรัค 3,500 ราย คาดว่าก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,260 ล้านบาท
กสอ. ผนึก 7 ภาคีเครือข่าย ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมฟู้ดทรัค พร้อมชู 5 มาตรการ ขับเคลื่อนฟู้ดทรัคคลัสเตอร์ให้เติบโตแข็งแรงและยั่งยืน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมร้านจำหน่ายสินค้าเคลื่อนที่ หรือ ฟู้ดทรัค มีการเติบโตที่อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีรถฟู้ดทรัคกว่า 1,500 คัน ทั่วประเทศ แบ่งเป็นอาหารคาวร้อยละ 57 อาหารหวานร้อยละ 14 และเครื่องดื่มร้อยละ 29 ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในกรุงเทพฯกว่าร้อยละ 70 ที่เหลือ ร้อยละ 30 อยู่ในส่วนภูมิภาค ซึ่งจากการเติบโตที่รวดเร็วนี้ ทำให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ กลุ่มฟู้ดทรัคให้มีศัยกภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงได้ดำเนินการนำร่องรวมกลุ่มผู้ประกอบการเป็นฟู้ดทรัคคลัสเตอร์ ผ่านการจัดกิจกรรมบ่มเพาะ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจว่าผู้ประกอบการฟู้ดทรัคมีคุณภาพและมาตรฐาน โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 136 ราย และในปีพ.ศ. 2562 นี้ กสอ. ยังมุ่งมั่นส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฟู้ดทรัค โดยชูแนวคิดพัฒนาอุตสาหกรรมแบบคู่ขนาน เร่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการฟู้ดทรัคคลัสเตอร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ผ่าน 5 มาตรการ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิดฟู้ดทรัคที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในสังคม ซึ่ง กสอ. ได้ร่วมมือกับ 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอนามัย กรมการขนส่งทางบก สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันอาหาร สถาบันยานยนต์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จัดทำขอบเขตมาตรฐาน โดยอ้างอิงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ ด้านมาตรฐานความปลอดภัยและชีวอนามัย ทั้ง คน ครัว รถ และ ตลาด (Smart 4 Food Truck) ให้ผู้ประกอบการนำไปปรับใช้ในธุรกิจฟู้ดทรัคได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการพัฒนาบ่มเพาะผู้ประกอบการฟู้ดทรัคให้เข้มแข็ง ผ่านการอบรม "บันได 5 ขั้น สู่ความสำเร็จในธุรกิจฟู้ดทรัค" โดย กสอ. ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมสัมมนาสร้างความตระหนักในธุรกิจฟู้ดทรัคในจังหวัดต่าง ๆ อาทิ กรุงเทพฯ พิษณุโลก เชียงใหม่ และนครราชสีมา รวมทั้งได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมพัฒนาผู้ประกอบการฟู้ดทรัคให้ได้มาตรฐาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วม จำนวน 104 ราย และมีผู้ผ่านการอบรมแล้ว 2 รุ่น รวมจำนวนทั้งสิ้น 44 ราย ซึ่งจัดพิธีมอบเกียรติบัตร SMART 4 ในวันนี้ด้วย รวมถึง มาตรการการพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมฟู้ดทรัคในระดับประเทศ ด้วยการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการฟู้ดทรัคและผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับฟู้ดทรัค เกิดเป็น"เครือข่ายฟู้ดทรัคคลัสเตอร์ประเทศไทย" ซึ่ง กสอ. มีแผนขยายคลัสเตอร์ฟู้ดทรัคไปสู่จังหวัดสำคัญ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี ภูเก็ต และเชียงราย มาตรการการเชื่อมโยงสู่ตลาดฟู้ดทรัค ซึ่ง กสอ. จะเชื่อมโยงโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการในคลัสเตอร์นี้ ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง Big Brothers เครือข่ายภาครัฐและเอกชน โดยตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา กสอ. ได้นำผู้ประกอบการฟู้ดทรัค ไปทดสอบตลาดทั้งในและต่างประเทศ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 25 ล้านบาท และมาตรการสุดท้าย ความพร้อมทางด้านเงินทุน โดย กสอ. ได้ปรับเกณฑ์การพิจารณาและประเภทของธุรกิจในการขอสินเชื่อจากโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยให้รองรับกลุ่มธุรกิจฟู้ดทรัค โดยมีอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 4 และมีวงเงินในการขอสินเชื่อถึง 1 ล้านบาท"กสอ. มุ่งมั่นส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการฟู้ดทรัค ให้เติบโตอย่างเป็นรูปธรรม เกิดความเข้มแข็ง และมีความยั่งยืน โดยคาดว่าปีนี้ จะส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการฟู้ดทรัคได้มากกว่า 3,500 ราย และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,260 ล้านบาท" นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย