สถานการณ์น้ำมันดิบและ
น้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์วันที่ 22-26 เม.ย. 62 และแนวโน้มสัปดาห์วันที่ 29 เม.ย.-3 พ.ค. 62 โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 73.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 65.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 73.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 83.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 85.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- นาย Mike Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศยุติการผ่อนผันจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน (Waiver) ให้ 8 ชาติ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ตุรกี อิตาลี และกรีซ สิ้นสุดลงภายในวันที่ 1 พ.ค. 62 กล่าวคือ สหรัฐฯ จะไม่ขยายกรอบระยะเวลาผ่อนผัน ให้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านรวมกันไม่เกิน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ระยะเวลา 6 เดือนครั้งใหม่
- อิหร่านขู่ว่าอาจปิดช่องแคบ Hormuz ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญของประเทศผู้ผลิตน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย หากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้จริง อนึ่ง อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบลดลงจาก 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนถูกคว่ำบาตรของสหรัฐฯ มาอยู่ต่ำกว่าระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปัจจุบัน
- บริษัท Shell ในไนจีเรียประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) การส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ท่อขนส่ง Nembe Creek (ปริมาณสูบถ่าย 150,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ 21 เม.ย. 62 อย่างไรก็ดีตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 62 สามารถเพลิงดับไฟได้ ทั้งนี้บริษัท Shell อยู่ระหว่างตรวจสอบและซ่อมแซมความเสียหาย
- Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานซาอุดิอาระเบียผลิตน้ำมันดิบ ในเดือน ก.พ. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 90,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.136 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมันดิบลดลง 277,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 6.977 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- 25 เม.ย. 62 รัสเซียหยุดส่งออกน้ำมันดิบทางท่อ Druzhba (กำลังสูบถ่าย 1 ล้านบาร์เรล) ที่ใช้ขนส่งน้ำมันดิบสู่โปแลนด์ เยอรมนี เชค และรัฐสโลวาเกีย เนื่องจากน้ำมันดิบปนเปื้อน Organic Chloride ที่อาจทำให้โรงกลั่นเสียหาย ทั้งนี้ก่อนปิดระบบท่อขนส่งน้ำมันดิบ 730,000 บาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) คาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันโลกในปี พ.ศ. 2562 มีเพียงพอ และระดับปริมาณสำรองน้ำมันของกลุ่มประเทศ OECD ในเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ 2.87 พันล้านบาร์เรล ยังสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี ทั้งนี้กำลังผลิตน้ำมันส่วนเกิน (Spare Capacity) ยังสูงถึง 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังกลุ่มOPEC และพันธมิตรร่วมมือลดปริมาณการผลิตน้ำมัน
- รัฐบาลสหรัฐฯ ขอความร่วมมือจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบ เช่น ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลังสหรัฐฯ ประกาศยุติผ่อนผัน (Waiver) นำเข้าน้ำมันอิหร่าน ให้ตลาดมีอุปทานเพียงพอ ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียแถลงจีนและประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบอื่นๆ ยังไม่แจ้งความจำนงค์ขอซื้อน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบียเพิ่มเติม หลังวันที่ 1 พ.ค. 62 จากมาตรการคว่ำบาตร
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 460.6 ล้านบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 60 และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 12.20 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์