แพทย์หวังคนไทยเข้าถึงสิทธิเบิกจ่าย “โบท็อกซ์” ไม่ใช่แค่สวย...แต่ช่วยรักษาโรค

21 Nov 2019
หากเอ่ยถึง "โบท็อกซ์" หรือ "สารโบทูลินัม ท็อกซิน" คงไม่มีใครไม่รู้จัก โดยเฉพาะในแวดวงความสวย ความงามจนกลายเป็นกระแสความนิยมไปทั่วโลก ต่อเนื่องมายาวนานกว่า 10 ปี ในปัจจุบันสารโบท็อกซ์ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย และมีบทบาทในวงการแพทย์เป็นอย่างมาก ซึ่งองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA) อนุมัติให้สามารถใช้สารโบท็อกซ์ทั้งเพื่อความงามและเพื่อการรักษาโรคต่างๆ ได้
แพทย์หวังคนไทยเข้าถึงสิทธิเบิกจ่าย “โบท็อกซ์” ไม่ใช่แค่สวย...แต่ช่วยรักษาโรค

คุณสุรวุฒิ วูวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เมดิเซเลส จำกัด ผู้นำเข้าโบท็อกซ์เกาหลีสายพันธุ์แท้จากอเมริกา ยี่ห้อ "นิวโรน็อกซ์" กล่าวว่า สารโบทูลินัม ท็อกซิน เอ (Botulinum toxin A) หรือที่เรารู้จักและเรียกติดปากว่า "สารโบท็อกซ์" ถูกคิดค้นมาจากแบคทีเรีย ชื่อ คลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) โดยชาวเยอรมันชื่อ จัสทินัส เคอร์เนอร์ เมื่อปี ค.ศ. 1817 ต่อมาจักษุแพทย์ชาวอเมริกา "อลัน สก็อต" ได้พัฒนาคิดค้นนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยนำมารักษาคนไข้ที่มีอาการตาเหล่ หลังจากนั้นมีการนำ "ท็อกซิน" มาใช้ เพื่อรักษาโรคต่างๆ มากขึ้น เช่น การรักษาอาการใบหน้ากระตุก กล้ามเนื้อตากระตุก และในปัจจุบันได้มีการนำ "โบท็อกซ์" มาใช้ในแวดวงความงาม อาทิ ฉีดเพื่อลดเลือนริ้วรอยบนใบหน้า ฉีดเพื่อปรับรูปหน้าให้เรียว V-Shape และฉีดปรับขนาดน่องที่ใหญ่ให้เรียวขึ้น โดยสารโบทูลินั่ม ท็อกซิน ที่ออกฤทธิ์ดีที่สุดต้องเป็นชนิด เอ

จากกระแสความงามสั่งได้ จึงทำให้สาวๆ และคนทั่วโลกเข้าใจผิดว่า "โบท็อกซ์" ถูกคิดค้นมาเพื่อใช้ในแวดวงความงามอย่างเดียว จึงส่งผลทำให้ "โบท็อกซ์" เป็นสินค้าที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดในแวดวงธุรกิจความงามที่เปรียบเสมือนเค้กชิ้นโต ที่มีมูลค่าสูงถึง 21 ล้านล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกามีการผลิต "โบท็อกซ์" เป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงมาเป็นประเทศเกาหลี

ผศ.นพ.วิษณุ กัมทรทิพย์ อาจารย์หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการฉีดยาโบท็อกซ์รักษาโรคระบบประสาทมานาน 20 ปี เปิดเผยข้อมูลว่า ในปัจจุบันวงการแพทย์ทั้งประเทศไทยและทั่วโลกได้นำสาร "โบท็อกซ์" มาใช้ในการรักษาโรคต่างๆ มากมาย เพราะสาร "โบท็อกซ์" อย่างโบทูลินัม ท็อกซิน เอ คือ ยาชนิดหนึ่ง ที่ถูกคิดค้นขึ้นมา เพื่อรักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งที่มีผลต่อเนื่องมาจากโรคหลอดเลือดสมอง และโรคอื่นๆที่มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เช่น โรคคอบิดเกร็ง โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก ซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปสูญเสียบุคลิกภาพ ขาดความมั่นใจในการดำรงชีวิต รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่มีกล้ามเนื้อหดเกร็งแขนขาจนไม่สามารถใช้งานได้ และเด็กที่มีสมองพิการตั้งแต่กำเนิด จนสูญเสียการทรงตัว ส่งผลให้ต้องเดินเขย่งขา

ปัจจุบันพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคเหล่านี้มากขึ้นปีละเป็นหลักหมื่นถึงเป็นแสนราย ขึ้นกับสาเหตุของโรค อาทิเช่นโรคคอบิดเกร็ง อายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปีขึ้นไป สำหรับสาเหตุของการเกิดโรค คือ 1.พันธุกรรม 2.ความผิดปกติของการทำงานของสมองในส่วนประมวลผลหรือโรคสมองอื่นๆ 3. สัมพันธ์กับอุบัติเหตุ 4. เกี่ยวข้องกับการทำงาน แต่ในบางรายก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างชัดเจน บางรายมีอาการใบหน้ากระตุกอย่างไม่ทราบสาเหตุ บางรายมีอาการเกร็งที่มือ นิ้วมือ จนไม่สามารถเขียนหนังสือได้ ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นกับคนไข้ที่มีพฤติกรรมการใช้อวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา มือ แบบเดิมซ้ำๆ พบบ่อยในกลุ่มนักดนตรี พนักงานออฟฟิศ

ผศ.นพ.วิษณุ กัมทรทิพย์ ยังกล่าวว่า การรักษาด้วยการฉีดสาร "โบท็อกซ์" คนไข้ที่มีอาการโรคเหล่านี้ ได้ผลเกือบดีถึงดีมากประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ โดยหลังจากแพทย์ฉีดเข้าไปในส่วนที่ต้องการรักษา สารดังกล่าวจะเข้าไปจับที่ปลายประสาท ทำให้เซลล์ประสาทไม่สามารถหลั่งสารสื่อประสาทมาที่กล้ามเนื้อได้ จึงทำให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นคลายตัว ทำให้อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหายเป็นปกติ ซึ่งการรักษาด้วยสาร "โบท๊อกซ์" ในแต่ละครั้งจะอยู่ได้ประมาณ 3-6 เดือน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยกว่าหมื่นบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่ใช้ในการฉีดในแต่ละครั้ง แต่ก็ถือว่าค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทำให้คนไข้ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษา เนื่องจากคนไข้บางกลุ่ม เช่นโรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองพิการในเด็ก ไม่สามารถใช้สิทธิในการเบิกจ่ายได้

ศาสตราจารย์ Dirk Dresslor (เดิร์ก เดรสเลอร์) ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา สาขาความผิดปกติของการเคลื่อนไหว มหาวิทยาลัย Hannover Medical School ประเทศเยอรมันนี เปิดเผยข้อมูลว่า ในประเทศแถบยุโรป อาทิ เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส คนไข้ที่เข้ามารับการรักษาเฉลี่ยอายุประมาณ 35-60 ปีจากสถิติทั่วโลกพบว่าโรคที่คนไข้เข้ารับการรักษาด้วยการใช้สาร "โบท็อกซ์" มากที่สุดในสัดส่วน 100 เปอร์เซ็นต์ แบ่งออกเป็น ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia) 30 เปอร์เซ็นต์ ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งหรือแข็งตัว (Spasticity) 30 เปอร์เซ็นต์ โรคสมองพิการในเด็กที่ส่งผลต่อให้เคลื่อนไหว (Cerebral Palsy) 15 เปอร์เซ็นต์ และอีก 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นโรคอื่นๆ ทั่วไป โดยแพทย์ส่วนใหญ่เลือกใช้การรักษาคนไข้ด้วยการฉีดสาร "โบท็อกซ์" เพราะเป็นการรักษาเฉพาะจุด เห็นผลรวดเร็ว ช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตดี ผลข้างเคียงน้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับการผ่าตัด ปัจจุบันยังนำมาใช้รักษาคนไข้ที่มีอาการปวดไมเกรนเรื้อรัง และคนไข้ที่มีปัญหาเหงื่อออกมากผิดปกติ บริเวณมือ เท้า และรักแร้ อย่างผิดปกติจนส่งผลต่อการใช้ชีวิต ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้สามารถให้ผลการรักษาได้ดีและยาวนานกว่า 6 เดือน

ด้าน นางจิรสุดา จิตรากรณ์ อายุ 38 ปี คนไข้ที่เข้ารับการรักษาอาการใบหน้ากระตุกครึ่งซีก เล่าว่า เมื่อประมาณต้นปี 60 มีอาการหนังตากระตุกแบบไม่ทราบสาเหตุ ค่อยๆ มีอาการทีละน้อย จนระยะหลังมีอาการใบหน้ากระตุก จนใบหน้าเบี้ยวจึงไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า สาเหตุมาจากเส้นประสาทอักเสบจึงให้ยามารับประทาน แต่พอยาหมดก็มีอาการใบหน้ากระตุก รักษาอยู่ประมาณ 6 เดือน แต่ไม่ดีขึ้น ตอนนั้นคุณหมอแนะนำว่า ต้องรักษาด้วยการฉีดโบท็อกซ์เข้ากล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าว ตอนแรกเข้าใจว่าสารโบท็อกซ์ใช้ฉีดเพื่อความสวยงาม ไม่เคยทราบว่าใช้รักษาโรคได้ จึงตัดสินใจเลือกเข้ารับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ซึ่งหลังจากฉีด อาการกระตุกของกล้ามเนื้อก็หายไป โดยคุณหมอแจ้งว่า ยาจะมีฤทธิ์อยู่ได้ 3-6 เดือน ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องประมาณ 3 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งคุณหมอจะฉีดยาให้ 1 ขวด ประมาณ 100 ยูนิต ปัจจุบันไม่มีอาการใบหน้ากระตุกอีกแล้ว ส่วนตัวจึงคิดว่าการรักษาด้วยวิธีนี้เป็นทางเลือกที่ดี เห็นผลรวดเร็ว แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หากเป็นไปได้อยากให้มีการนำเสนอการรักษาด้วยวิธีนี้ เข้าสู่ระบบการเบิกจ่าย เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการรักษาโรคต่างๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะคนไข้ในต่างจังหวัด และผู้ที่มีรายได้น้อย

แพทย์หวังคนไทยเข้าถึงสิทธิเบิกจ่าย “โบท็อกซ์” ไม่ใช่แค่สวย...แต่ช่วยรักษาโรค แพทย์หวังคนไทยเข้าถึงสิทธิเบิกจ่าย “โบท็อกซ์” ไม่ใช่แค่สวย...แต่ช่วยรักษาโรค แพทย์หวังคนไทยเข้าถึงสิทธิเบิกจ่าย “โบท็อกซ์” ไม่ใช่แค่สวย...แต่ช่วยรักษาโรค
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit