กองทัพเรือประสบความสำเร็จในการปรับปรุงกองเรือยุทธการให้ทันสมัย ด้วยสองโครงการสำคัญที่ส่งมอบโดย Thales

21 Nov 2019
- ในเดือนมิถุนายน 2562 เรือล่าทำลายทุ่นระเบิด ชุด ร.ล.บางระจัน จำนวน 2 ลำ ผ่านการ ทดสอบการยอมรับขั้นสุดท้ายของกองทัพเรือ (ทร.) และขณะนี้พร้อมสรรพไปด้วยขีดความสามารถในการล่าทำลายทุ่นระเบิดที่ได้รับการอัพเกรดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
กองทัพเรือประสบความสำเร็จในการปรับปรุงกองเรือยุทธการให้ทันสมัย ด้วยสองโครงการสำคัญที่ส่งมอบโดย Thales
  • ในเดือนสิงหาคม ทร. ได้จัดพิธีปล่อยเรือลงน้ำสำหรับเรือตรวจการณ์นอกชายฝั่งชุด ร.ล.กระบี่ ลำที่สอง ซึ่งเป็นเรือที่ได้รับการติดตั้งระบบอำนวยการรบแบบบูรณาการและชุดนำร่อง ของ Thales ซึ่งในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธาน
  • Thales ฉลองครบรอบ 50 ปี ของความร่วมมือกับกองทัพเรือในปีนี้

Thales เป็นพันธมิตรกับกองทัพเรือตลอดช่วง 50 ปี ที่ผ่านมา นับตั้งแต่การลงนามในสัญญาซื้อขายเรดาร์ชุดแรกให้กับเรือฟริเกตชุด ร.ล.ตาปี ด้วยประวัติการดำเนินงานที่เป็นที่ยอมรับ และมีโซลูชั่นที่หลากหลาย ตั้งแต่ระบบเซ็นเซอร์ไปจนถึงระบบอำนวยการรบแบบบูรณาการ สำหรับเรือหลายลำของกองเรือยุทธการ Thales จึงนับเป็นพันธมิตรที่สำคัญของ ทร. และจะร่วมฉลองความสำเร็จในการส่งมอบโครงการสำคัญทั้งสองให้แก่กองทัพเรือในปีนี้

การปรับปรุงและขยายขีดความสามารถในการล่าทำลายทุ่นระเบิดของกองทัพเรือให้ทันสมัย ในวันที่ 11 มิถุนายน 2562 Thales ส่งมอบเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดที่ทันสมัย และผ่านการอัพเกรดด้วยเทคโนโลยีล่าสุดให้แก่กองทัพเรือจำนวน 2 ลำ คือ ร.ล.บางระจัน และ ร.ล.หนองสาหร่าย เรือทั้งสองลำนี้สร้างขึ้นในปี 2523 (ค.ศ.1980) และได้เริ่มทำการอัพเกรดในเดือนเมษายน 2559 หลังจากที่ Thales ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับเหมารายใหญ่สำหรับการอัพเกรดเรือ รวมถึงการติดตั้งระบบปฏิบัติการใต้น้ำครบชุด สัญญานี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของ Thales ในส่วนของระบบปฏิบัติการใต้น้ำ และตลาดโซนาร์ในประเทศไทย

ในฐานะผู้รับเหมาหลัก Thales รับผิดชอบการแก้แบบเรือทั้งหมด รวมถึงการซ่อมแซมและการอัพเกรดเรือให้ทันสมัย การจัดหาอุปกรณ์ และการบูรณาการแพลตฟอร์มต่างๆ ปัจจุบันนี้เรือที่ได้รับการปรับปรุงอัพเกรดทั้ง 2 ลำได้รับการติดตั้งระบบใหม่ๆ รวมถึงระบบควบคุมเครื่องจักร ระบบนำร่อง ขีดความสามารถในการสื่อสารที่อัพเกรดใหม่ระบบโซนาร์ และระบบควบคุมและบัญชาการ (C2) ตลอดจนช่วงสัญญาณที่มีอิทธิพลนานับประการที่ช่วยให้การล่าทำลายทุ่นระเบิดสามารถดำเนินการได้ด้วยความปลอดภัยยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและรวดเร็วขึ้น เพื่อรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ และน่านน้ำอาณาเขตของประเทศไทย

ด้วยความที่เป็นโครงการแบบครบวงจรที่สำคัญยิ่ง Thales จึงได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญของบริษัทฯ จากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เยอรมนี และแอฟริกาใต้ ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจในพื้นที่ เพื่อทำการอัพเกรดเรือทั้งสองลำ ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรหลักของบริษัทฯ ในประเทศไทยที่สนับสนุนกองทัพเรือ Thales ได้ให้การฝึกอบรมและการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์แบบบูรณาการ (ILS) แก่กองทัพเรือ เพื่อให้แน่ใจว่า ทีมงานในประเทศไทยมีทักษะที่จำเป็นเพียงพอที่จะปฏิบัติการได้อย่างราบรื่น ความทันสมัยของเรือชุด ร.ล.บางระจัน จะช่วยยืดอายุการใช้งานของเรือได้นานขึ้นกว่า 15 ปี

การสนับสนุนภารกิจด้านการรักษาความปลอดภัยทางทะเลของ ทร. และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEZ) ด้วยระบบบัญชาการและเฝ้าระวัง (Command and Surveillance Solutions)สำหรับโครงการที่สองที่ส่งมอบให้กับกองทัพเรือเป็นที่เรียบร้อยในเดือนกันยายน 2562 นั้น Thales ได้ติดตั้งระบบบัญชาการและเฝ้าระวังบนเรือตรวจการณ์นอกชายฝั่ง ชุด ร.ล.กระบี่ ลำที่ 2 ของกองทัพเรือ ซึ่งรวมถึงระบบอำนวยการรบ TACTICOS ที่เป็นหัวใจสำคัญ

ร.ล.ประจวบคีรีขันธ์ได้รับการเปิดตัวในพิธีปล่อยเรือลงน้ำในเดือนสิงหาคม ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธาน Thales ส่งมอบงานขั้นสุดท้ายตามสัญญาสำเร็จลงในปลายเดือนกันยายน 2562 เรือชุดนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับการควบคุมชายแดนทางทะเล และเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจด้านการปกป้องทรัพยากรทางทะเลของกองทัพเรือ Thales เป็นผู้เชื่อมโยงระบบและบูรณาการโซลูชั่นต่างๆ แบบครบวงจร อันประกอบด้วยเรดาร์ตรวจการณ์ VARIANT เรดาร์ควบคุมอัคคีภัย และมาตรการสนับสนุนด้านอิเล็กทรอนิกส์ VIGILE นอกจากนี้ Thales ยังได้จัดหา Tactical Data Links และรับผิดชอบการบูรณาการระบบสื่อสารภายในและภายนอกทั้งหมดบนเรืออีกด้วย

ความสำเร็จและการส่งมอบงานได้ตรงตามกำหนดเวลาของทั้งสองโครงการในปีนี้ส่งผลให้ Thales เป็นผู้ประกอบการชั้นนำสำหรับกองทัพเรือ โดย 80% ของเรือในกองเรือยุทธการมีระบบของ Thales ติดตั้งใช้งานอยู่บนเรือ ด้วยความสัมพันธ์ที่ย้อนหลังไปถึงห้าทศวรรษ Thales ได้เข้าสู่ตลาดระบบการปกป้องทางทะเลเป็นครั้งแรกด้วยการจัดหาเรดาร์ WM22 และ LW04 ที่ติดตั้งบนเรือฟริเกตชุด ร.ล.ตาปี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Thales ได้สร้างขีดความสามารถของประเทศไทย รวมถึงให้การฝึกอบรมและการสนับสนุนด้านบริการตามเป้าหมายของประเทศไทย ในการเสริมสร้างขีดความสามารถของอุตสาหกรรมชั้นสูงในประเทศ

" เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เฉลิมฉลองความร่วมมือ 50 ปีกับกองทัพเรือ และเราเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมายาวนานในการเสริมสมรรถนะเรือของกองทัพเรือให้ทันสมัย ความสำเร็จในการส่งมอบเรือล่าทำลายทุ่นระเบิด ชุด ร.ล.บางระจัน และ ร.ล.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นผลเนื่องมาจากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับกองทัพเรือและพันธมิตรในไทย Thales ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยผ่านการฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ต่างๆ บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมงานกับกองทัพเรืออย่างต่อเนื่องในอีกหลายสิบปีข้างหน้า" มร. มาสซิโม มารินซี (Massimo Marinzi) ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของ Thales กล่าว