ฟิทช์: คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทยยังทรงตัวในขณะที่ฐานะเงินกองทุนยังแข็งแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า ธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยมีผลประกอบการทรงตัวในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 โดยแนวโน้มของคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรที่ยังสนับสนุนโครงสร้างเครดิต แม้ว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อจะต่ำกว่าประมาณการเดิมของฟิทช์ซึ่งสะท้อนถึงบรรยากาศทางธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (business sentiment and consumer confidence) ที่ยังซบเซา แต่เราคาดว่าผลประกอบการของธนาคารจะยังทรงตัวและมีผลกำไรจากการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ส่งผลให้ฐานะของเงินกองทุนจะยังคงแข็งแรงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสนับสนุนให้ธนาคารสามารถรองรับความเสี่ยงเชิงลบรวมถึงผลกระทบจากการเริ่มใช้มาตรการและกฏระเบียบใหม่ เช่น การเริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (IFRS9) ในปี 2563
          อัตราการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อของธนาคารไทยที่ 1% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 นั้นต่ำกว่าระดับคาดการณ์ของฟิทช์ค่อนข้างมาก ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการใช้สินเชื่อที่ต่ำและการอนุมัติให้เงินกู้ยืมอย่างระมัดระวังของธนาคาร แม้ว่าธุรกิจสินเชื่อน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีแต่การที่อัตราการขยายตัวจะสามารถเร่งตัวขึ้นให้ใกล้เคียงกับระดับอัตราการเติบโตคาดการณ์ของฟิทช์ที่ 7% นั้นน่าจะมีความท้าทายอย่างมาก จากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้การเติบโตของสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับต่ำฐานะเงินกองทุนของธนาคารจึงยังคงอยู่ในระดับสูง ในด้านอัตราการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยที่ปรับตัวลดลงเหลือ 3.1% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 จากเดิมที่ 7.8% ในปี 2561 นั้นเนื่องจากยอดขายรถยนต์ที่ชะลอตัวลงและการบังคับใช้มาตรการกำหนดเพดานอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2562 สำหรับการเติบโตของปริมาณสินเชื่อภาคธุรกิจก็ยังคงถูกกดดันจากความล่าช้าของการอนุมัติโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
          ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศไทยขยายตัวในอัตรา 4.1% ในปี 2561 แต่คาดว่าอัตราการขยายตัวจะลดลงเหลือ 3.3% ในปีนี้ในขณะที่จะขยายตัวเล็กน้อยที่อัตรา 3.5% ในปี 2563 โดยมีความเสี่ยงเชิงลบจากความล่าช้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การลดเม็ดเงินลงทุนของบริษัทที่เน้นการส่งออกและสงครามทางการค้าที่อาจทวีความตึงเครียดขึ้น
          คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังคงทรงตัวโดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 3.7% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 และน่าจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับคล้ายเดิมได้ในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ความเสี่ยงเชิงลบอาจมาจากภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์ซึ่งมีภาระหนี้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงซึ่งสินเชื่อรายย่อยเหล่านี้มีความสามารถน้อยในการจ่ายชำระหนี้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวนหรืออ่อนตัวลง อย่างไรก็ตามเราคาดว่าความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์จะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายใต้สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และความเสี่ยงดังกล่าวน่าจะถูกบรรเทาลงได้บางส่วนจากมาตรการดูแลในเชิงป้องกัน (macro-prudential regulations) ของธปท และระดับสำรองหนี้สูญที่อยู่ในระดับสูง โดยอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเฉลี่ยของระบบธนาคารอยู่ที่ 152% 
          ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิไม่รวมรายการพิเศษน่าจะยังทรงตัวต่อไปได้ในระยะสั้น โดยตลาดคาดการณ์ว่าระดับอัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากและการขยายตัวของธุรกิจสินเชื่อที่อยู่ในระดับต่ำก็น่าจะไม่ส่งผลกดดันสภาพคล่องของระบบธนาคาร (การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง หรือ Liquidity Coverage Ratio ของระบบธนาคารไทยอยู่ที่ 173% ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562) ทั้งนี้ฟิทช์คาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมและค่าความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (credit cost) จะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มของผลกำไรของธนาคารในอนาคต
          อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ของธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยอยู่ที่ 1.3% ณ วันที่ 30 มิถุนายน โดยลดลงเพียง 2bps จากปีก่อนหน้า จากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลงมาก อันเนื่องมาจากฐานะเงินกองทุนของธนาคารยังอยู่ในระดับที่แข็งแรงและคุณภาพสินเชื่อที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลงช่วยลดผลกระทบของค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ที่สูงขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน เงินลงทุนในด้านการดำเนินงานและเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงช่วยบรรเทาผลกระทบจากการลดลงของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยโดยเฉพาะจากรายได้เบี้ยประกันภัยที่ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ ทั้งนี้สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ปรับเพิ่มเป็น 46.2% เมื่อเทียบกับ 44.3% ในครึ่งแรกของปีก่อนหน้าโดยระดับค่าใช้จ่ายดังกล่าวน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะสั้น
 
 

ข่าวธนาคารพาณิชย์ไทย+ฟิทช์ เรทติ้งส์วันนี้

ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ แต่งตั้ง เอเดรียน เมซซินาวเออร์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่

บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด (SCB Julius Baer) บริษัทร่วมทุนระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ และ จูเลียส แบร์ (Julius Baer) ประกาศแต่งตั้ง นายเอเดรียน เมซซินาวเออร์ (Adrian Mazenauer) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด คนใหม่ มีผลทันที "บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด" (SCB Julius Baer) บริษัทร่วมทุนระหว่าง "ธนาคารไทยพาณิชย์" ธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกของประเทศ และ "จูเลียส แบร์" (Julius Baer)

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิด... แบงก์ชาติ-แบงก์พาณิชย์มั่นใจระบบสถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็งเพียงพอ — นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย...