ทีเส็บบุกเจาะกลุ่มตลาดไมซ์ ชูแพคเกจการตลาด 4 Ms ในงาน IT&CMA and CTW Asia-Pacific 2019 หวังดึงกลุ่มประชุมธุรกิจเข้าไทยครบทุกเซกเม้นต์ คาดทำรายได้ 5.7 หมื่นล้านในปี 63 ขณะเดียวกัน ทีเส็บร่วมมือกับไมซ์ซิตี้และผู้ประกอบการทั้ง 5 เมือง ออกมาตรการไมซ์เพื่อสิ่งแวดล้อม หวังลดปริมาณขยะลงให้ได้ 50% จนเป็นเมืองไมซ์ยั่งยืน
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยถึงทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ในปี 2563 ว่าองค์กรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับไมซ์ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจไมซ์อย่างยั่งยืน
"จากสถานการณ์โลกท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล สงครามการค้า สภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย ภาวะเงินเฟ้อ ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติ ล้วนส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในระดับโลกขยายเป็นวงกว้าง การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ให้ไปต่อได้ตามเป้าหมายจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหาความร่วมมือในทุกระดับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยต้นทุนต่ำที่สุด สามารถแข่งขันได้ และอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนด้วย"
ในวาระที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงาน IT&CMA and CTW Asia-Pacific 2019 ซึ่งเป็นงานเทรดโชว์ด้านไมซ์ประจำปีที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะเป็นเวทีธุรกิจการจัดประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลระดับภูมิภาค ทีเส็บจึงเห็นเป็นโอกาสดีที่จะนำเสนอกลยุทธ์ส่งเสริมตลาดการประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลในปี 2563 สู่สายตาผู้ประกอบการไมซ์ทั้งในประเทศและนานาชาติที่มาร่วมในงานนี้
กลยุทธ์หลักประกอบด้วยการส่งเสริมตลาดและการขายควบคู่ไปกับความร่วมมือกับพันธมิตรทางด้านการตลาด โดยการนำผู้ประกอบการไมซ์ไทยเจรจาธุรกิจในงานเทรดโชว์หลักด้านไมซ์ทั่วโลก ในส่วนของการสร้างพันธมิตรในปีนี้ จะเพิ่มการมีส่วนร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่นโดยเฉพาะในเมืองที่มีศักยภาพ มีการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น เช่น การจัดกิจกรรม "An Afternoon with MI…" ร่วมกับพันธมิตรระดับผู้บริหารไมซ์ เช่น โรงแรม สถานที่จัดงาน เพื่อร่วมหารือแนวทางพัฒนาสินค้าบริการใหม่ รวมถึงกิจกรรมและสถานที่ใหม่รองรับกลุ่มนักเดินทาง การประชาสัมพันธ์การจัดงานในพื้นที่ ตลอดจนจัดกิจกรรมทางการตลาดหรือแคมเปญส่งเสริมการขายร่วมกัน และความร่วมมือในการดึงการจัดงานใหม่เข้าสู่ประเทศไทย
กลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริมตลาดประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล หรือ ตลาด Meetings & Incentives (MI) ยังคงให้ความสำคัญกับตลาดหลักซึ่งเป็นกลุ่มนักเดินทางไมซ์จาก ASEAN+6 (จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลี,ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) และสหรัฐอเมริกา โดยมียุโรปเป็นตลาดรอง และจะขยายไปยังตลาดใหม่ในประเทศแถบยุโรปตะวันออก
ทั้งนี้ ทีเส็บจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและการขาย 4 Ms ทั้งในรูปแบบการเพิ่มการสนับสนุนและการจัดแคมเปญร่วมกับพันธมิตรกระจายสู่แต่ละกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ แคมเปญสำหรับกลุ่มประชุมที่เดินทางไปยังเมืองที่มีศักยภาพในจังหวัดต่างๆ (Meet Now) กลุ่มการประชุมขนาดใหญ่ (Meet Mega) กลุ่มประชุมตามธุรกิจภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 (Meet Smart) และกลุ่มประชุมที่จัดงานหรือทำกิจกรรมเพื่อการจัดงานอย่างยั่งยืน (Meet sustainable 2020) โดยได้รับสิทธิพิเศษ อาทิ ช่องทางพิเศษ MICE Lane การแสดงทางวัฒนธรรม ของที่ระลึก และงบประมาณสนับสนุนตามเงื่อนไขมูลค่าสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท
ทีเส็บกำหนดเป้าหมายปี 2563 จะมีนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยโดยรวม 1,386,000 คน ทำรายได้ 105,600 ล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณการว่าจะเป็นตลาดธุรกิจประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล 762,000 คน สร้างรายได้ 57,000 ล้านบาท
ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศและความพร้อมของเมืองในการเป็นเจ้าภาพจัดงานนานาชาติ ตลอดจนพัฒนาระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่อย่างเป็นระบบ (MICE Ecosystem) ให้มีจิตอาสาร่วมพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองแห่งไมซ์ที่ยั่งยืน เมืองไมซ์หลักทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น ทีเส็บประกาศความร่วมมือพัฒนา 5 เมืองไมซ์ใน 4 มิติ คือ การพัฒนาศักยภาพ องค์ความรู้ จัดอบรม ส่งเสริมข้อมูล การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่สถานที่หรือผู้จัดงาน การสนับสนุนงาน ผลักดันการจัดงานอย่างยั่งยืน (Sustainable Events) และผลักดันสถานที่จัดงานให้ได้มาตรฐานความยั่งยืน ตลอดจนการติดตามประเมินผล ส่งเสริมการวัดผลการแสดงความยั่งยืนจากธุรกิจไมซ์ที่จับต้องได้
สำหรับแคมเปญแรกที่ 5 เมืองไมซ์ซิตี้ จะผลักดันร่วมกันในปีนี้ คือ "Zero Plastic Events" กำหนดเป้าหมายจำนวนขวดพลาสติกที่ใช้ในห้องประชุมในเมืองไมซ์ซิตี้ ซึ่งมีปริมาณสูงถึง 17,345,674 ขวด ให้ลดลง 50% เหลือ 8,672,837 ขวด ภายใน 1 ปี
ด้วยเหตุนี้ ทีเส็บจึงร่วมกับ 5 เมืองไมซ์ซิตี้ เร่งกระตุ้นการลดใช้ขวดน้ำพลาสติกในการจัดประชุม สัมมนา และนิทรรศการในเมืองไมซ์ซิตี้ ผ่านการรณรงค์ 3 แนวทาง คือ 1) การใช้ขวดแก้ว ซึ่งเหมาะกับการประชุมระยะสั้น 1-2 วัน โดยแนวโน้มการบริโภคในปัจจุบันคือ น้ำ 1 ขวดต่อผู้ร่วมประชุม 2 ท่าน 2) การใช้ขวดน้ำพกพา เหมาะกับการประชุมที่มีระยะเวลามากกว่า 1 วัน สามารถแจกแทนของที่ระลึกและให้นำมาใช้ในการประชุมทุกวัน 3) การใช้ตู้กดน้ำ เหมาะกับการประชุมทุกประเภท แนะนำการนำภาชนะมาใช้เองของผู้เข้าประชุมหรือแก้วน้ำของสถานที่ โดยงดใช้แก้วพลาสติกหรือกระดาษ
"หากการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย จะสามารถลดการใช้ขวดพลาสติกในปริมาณดังกล่าว โดยคำนวณเป็นปริมาณคาร์บอนได้ถึง 638 ตันคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (Tonco2) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ จำนวน 70,226 ต้น และลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 30,000,000 บาท ทีเส็บมั่นใจว่าความร่วมมือนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญของความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยไปสู่ความยั่งยืน และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในฐานะจุดหมายปลายทางไมซ์ชั้นนำแห่งเอเชีย" นายจิรุตถ์ กล่าวสรุป
ด้านการจัดงาน IT&CMA and CTW Asia-Pacific 2019 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 18 และยังได้รับสิทธิ์การจัดงานไปจนถึงปี 2563 นั้น ปีนี้กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 24-26 กันยายน 2562 ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ประมาณการว่าปีนี้จะมีผู้ร่วมงานทั้งสิ้น 3,000 คน จาก 61 ประเทศทั่วโลก โดยทีเส็บได้จัดสร้างคูหานิทรรศการประเทศไทย (Thailand Pavilion) เพื่อผู้ประกอบการไมซ์ไทย จำนวน 69 ราย ร่วมเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อจากนานาชาติ โดยมีบริษัทธุรกิจด้านการโรงแรมระดับชั้นนำทั้งของประเทศไทยและระดับโลก รวมถึงธุรกิจบริการด้านการประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลเข้าร่วม ทั้งนี้พื้นที่รวมคูหานิทรรศการทั้งสิ้น 600 ตารางเมตร
จุดเด่นปีนี้มีพื้นที่นำเสนอนวัตกรรมใหม่ด้านไมซ์ คือ แพลทฟอร์มศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรมไมซ์ - MICE Intelligence Centre เป็นศูนย์กลางความรู้ข่าวสารอุตสาหกรรมไมซ์ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล (Digital File) และหนังสือดิจิทัล (e-Book) รวบรวมไว้ในลักษณะห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library) เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าและเผยแพร่ข้อมูลไมซ์ให้กับพันธมิตร และผู้ประกอบการไมซ์, แอปพลิเคชัน BIzCONNECT เป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมทุกงานไมซ์ที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ทุกประเภทในประเทศไทยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด ตั้งแต่ข้อมูลรายละเอียดและกิจกรรมของแต่ละงานครบครัน การลงทะเบียนและซื้อตั๋วเข้างานที่ง่าย ครบ จบ ในแอปพลิเคชันเดียว รวมถึงโครงการ Thai MICE Connect แพลทฟอร์มรวบรวมฐานข้อมูลสินค้าบริการในทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ทั่วประเทศที่ชัดเจน ถูกต้อง แม่นยำ ครบถ้วน ด้วยการพัฒนาให้เป็น E-Marketplace ของธุรกิจไมซ์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดครั้งแรกของไทย เปิดให้บริการตุลาคมนี้
วางกลยุทธ์ปี พ.ศ. 2537 มุ่งมั่นก้าวสู่เป้าหมายที่ท้าทายยิ่งขึ้น ผลประกอบการปี พ.ศ. 2567 รายได้จากยอดขาย 90.3 พันล้านยูโร อัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี และ อัตรากำไรจากการดำเนินงาน ร้อยละ 3.5 เม็ดเงินลงทุนกว่า 13 พันล้านยูโร บ๊อช ประเทศไทย เติบโตอย่างมั่นคงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน ส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรม บ๊อช จัดสรรเงินทุนกว่า 250 ล้านยูโร กับธุรกิจสตาร์ทอัพ ชตุทท์การ์ทและเรนนิงเงน เยอรมนี กลุ่มบริษัท บ๊อช มุ่งมั่นเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ปี พ.ศ