เร่งตรวจสอบ - แก้ปัญหาความเดือดร้อนจากการก่อสร้างอาคารสูงในซอยสุขุมวิท 59

27 Aug 2019
นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกรณีมีผู้ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากการก่อสร้างอาคารชุดบริเวณปากซอยสุขุมวิท 59 เขตวัฒนา ทั้งที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จนเสร็จสมบูรณ์ แต่เมื่อโครงการก่อสร้าง กลับไม่ปฏิบัติตาม EIA อย่างเคร่งครัด จนส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวว่า สำนักสิ่งแวดล้อม มีแนวทางการดำเนินการตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงผลกระทบเรื่องเสียงและฝุ่นละอองจากโครงการก่อสร้าง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2561 กำหนดให้หน่วยงานอนุญาตก่อสร้างนำมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA ไปกำหนดเป็นเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตด้วย โดยได้ดำเนินการ ดังนี้ 1) ประสานแจ้งสำนักการโยธาและสำนักงานเขตให้เข้มงวดในการกำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด 2) แต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมฝุ่นละอองและเสียงใน EIA ในพื้นที่กรุงเทพฯ และลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านฝุ่นละอองและเสียง หากพบว่าปฏิบัติไม่ครบถ้วนหรือไม่มีประสิทธิภาพจะแจ้งให้ปรับปรุงแก้ไขและรายงานผลมายังสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา และสำนักงานเขต

สำหรับกรณีการควบคุมโครงการก่อสร้างอาคารชุดดังกล่าว ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ใน EIA สำนักสิ่งแวดล้อมได้ประสานสำนักการโยธาและสำนักงานเขตวัฒนา เพื่อให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ในปี 2563 จะขยายผลการติดตามตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA โดยครอบคลุมโครงการก่อสร้างที่ได้รับความเห็นชอบรายงาน EIA ให้มากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองและป้องกันปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องจากผลกระทบจากการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อไป

ด้าน นายสุชัย สกุลรุ่งเรืองชัย ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างและตรวจวัดระดับเสียงโครงการดังกล่าว พบว่าระดับเสียงมีค่ารบกวนเท่ากับ 148 เดซิเบลเอ ซึ่งเกินค่ามาตรฐานกำหนดตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง ค่าระดับเสียงรบกวน สำนักงานเขตฯ จึงออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้บริษัทเอเอช - เอสพีวี 3 จำกัด เจ้าของโครงการ แก้ไขเพื่อระงับเหตุรำคาญภายใน 30 วัน จากนั้นได้ตรวจติดตามผล พบว่าโครงการฯ ยังไม่มีมาตรการป้องกันเหตุรำคาญจากการก่อสร้าง ถือว่าบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงมอบหมายให้ฝ่ายเทศกิจดำเนินคดีกับบริษัทเอเอช – เอสพีวี 3 จำกัด ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินคดี นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ตรวจสอบติดตามผล เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 พบว่า โครงการฯ ดำเนินการก่อสร้างตามปกติและเลิกงานเวลาไม่เกิน 18.00 น. ตามเงื่อนไขที่กำหนดใน EIA ซึ่งกำหนดให้มีค่าระดับเสียงสูงสุด ไม่เกิน 115 เดซิเบลเอ และค่าระดับเสียงเฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมง ไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ ซึ่งไม่เกินมาตรฐานกำหนด อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ จะเร่งรัดดำเนินการตรวจสอบโครงการก่อสร้างดังกล่าวให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA อย่างเคร่งครัดต่อไป