ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ในการส่งเสริมให้เกิดนวัตกร ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม รวมทั้งสตาร์อัพให้เพิ่มมากขึ้นในประเทศนั้น กลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องเร่งพัฒนาและบ่มเพาะอย่างจริงจังก็คือ "กลุ่มเยาวชน" เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เริ่มมีความคิดที่แตกต่าง ความกล้าทดลอง และการนำเสนอสิ่งใหม่ที่ต่างไปจากในอดีต ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมในยุคปัจจุบันที่ต้องอาศัยความแตกต่างและความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวขับเคลื่อน นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าในช่วง 2 -3ปีที่ผ่านมา เยาวชนไทยเริ่มมีความตื่นตัวและแสดงออกด้านดังกล่าวได้อย่างดีเยี่ยม สังเกตได้จากเวทีต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้นำเสนอผลงาน ความคิด และความสามารถ การผันตัวเป็นสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการตั้งแต่อายุยังน้อย หรือแม้แต่กระทั่งการเริ่มเรียนในหลักสูตร ด้านนวัตกรรมทั้งในและนอกสถานศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่หลายภาคส่วนควรหันมาให้ความสำคัญและร่วมกันสนับสนุนให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ระดับปฐมวัย – ระดับประถมศึกษา เน้นการสร้างให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจในหัวใจสำคัญของการเป็นนวัตกรภายใต้โปรแกรม STEAM4INNOVATOR ซึ่งจะจัดกิจกรรมในโอกาสต่างๆ เช่น วันเด็กแห่งชาติ มหกรรมวิทยาศาสตร์ ผ่านรูปแบบฐานการเรียนรู้แบบง่ายไม่ซับซ้อน (Learning Station) เพื่อให้เยาวชนกลุ่มนี้มีเข้าเกี่ยวกับกระบวนการคิดเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมซึ่งหัวใจสำคัญอยู่ที่การรู้จักปัญหาและการหาทางแก้ไข ซึ่งสามารถไปต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ฝึกความกล้าแสดงออกต่อไป นอกจากนี้ ยังจะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลในการขยายผล Learning Station ที่เคยทำไปแล้ว สู่การทำนิทรรศการเคลื่อนที่ การสอนผ่านไกด์บุ๊คและสื่อการเรียนการสอน ที่ออกแบบกระบวนการเรียนรู้และการวัดผลทักษะต่างๆ ตามหลักวิชาการที่เหมาะสมกับช่วงวัย โรงเรียนที่มีความสนใจสามารถนำอาร์ตเวิร์ค สคริปต์ เอกสาร ฯลฯ ไปใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนเพิ่มเติมในห้องเรียนได้ อีกทั้งมีแผนร่วมกันส่งเสริมศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งตั้งอยู่ในม.มหิดล ให้เป็นที่เรียนรู้ STEAM4INNOVATOR ของเด็ก ๆ อย่างสนุกและสร้างสรรค์

ระดับมหาวิทยาลัย และอาชีวศึกษา สำหรับในกลุ่มนี้ต้องให้การส่งเสริมและสนับสนุนในระดับที่เข้มข้น เนื่องจากเป็นวัยที่ใกล้ออกไปทำงานจริง โดย NIA มีหลากหลายโปรแกรมเพื่อพัฒนาเยาวชนในกลุ่มนี้ เช่น โครงการ "FOUNDER APPRENTICE" ซึ่งเป็นการจับคู่นิสิต นักศึกษา และผู้ที่จบการศึกษาใหม่รุ่นละประมาณ 30 ราย กับผู้ก่อตั้งธุรกิจนวัตกรรมเพื่อให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ และทดลองทำงานจริง มองเห็นภาพรวมการทำธุรกิจ ได้เรียนรู้ว่าถ้าจะเป็นเจ้าของกิจการต้องดูแลงานส่วนใดบ้าง ทั้งในเรื่องการวางแผนทำตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ การเจรจาการค้า รวมทั้งเรียนรู้หลักสูตรและเนื้อหาเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานจริงในโลกปัจจุบันที่หาไม่ได้จากห้องเรียนทั่วไปเพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งมีที่ปรึกษาให้คำแนะนำใกล้ชิดสร้างความพร้อมในการเติบโตเป็นผู้ประกอบการในอนาคต
ส่วนโครงการต่อมาคือ Thailand Innovation Awards หรือ TIA ซึ่งเป็นการจัดประกวดผลงานนวัตกรรมสำหรับเยาวชน รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างเครือข่ายนวัตกรให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ และมีกูรูที่จะช่วยดึงศักยภาพความเป็นนักคิด และช่วยปูทางการทำธุรกิจนวัตกรรมในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Startup Thailand League ที่เป็นกิจกรรมประกวดโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพสำหรับนักศึกษาทั่วประเทศ โดยจะมีกระบวนการบ่มเพาะเพื่อช่วยพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการก่อนก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพจริง รวมถึงโครงการใหม่ล่าสุด คือกองทุนยุวสตาร์ทอัพ หรือ Youth Startup Fund : ซึ่งเป็นการร่วมมือกันทำงานระหว่าง NIA กับกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้นักศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอกสามารถต่อยอดแนวคิดพัฒนาสู่การเป็นสตาร์ทอัพที่สร้างมูลค่าสูงให้กับประเทศ โดยมีเงินทุนให้เปล่ารายละไม่เกิน 1,500,000 บาท เพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาในการจัดตั้งบริษัท พัฒนาต้นแบบและดำเนินธุรกิจ

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.th และfacebook.com/NIAThailand
