คน กทม 37.2 % สั่งอาหารไทย / อาหารอีสาน ผ่านแอปพลิเคชัน และจ่ายด้วยเงินสดไม่ถึงครึ่ง 25.7 % เจอปัญหาส่งไม่ตรงเวลา GrabFood - GET - FoodPanda ครองใจชาว กทม

03 Feb 2020
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชัน โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,117 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 21 - 24 มกราคม 2563 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
คน กทม 37.2 % สั่งอาหารไทย / อาหารอีสาน ผ่านแอปพลิเคชัน และจ่ายด้วยเงินสดไม่ถึงครึ่ง 25.7 % เจอปัญหาส่งไม่ตรงเวลา GrabFood - GET - FoodPanda ครองใจชาว กทม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อพฤติกรรมการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชันของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในปัจจุบันคนกรุงเทพมหานครต้องการการความคล่องตัว สะดวก และรวดเร็ว บริการสั่งและส่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชันจึงได้รับความนิยมและได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัว ซึ่งบริการสั่งและส่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชันสามารถอำนวยความสะดวกในช่วงเวลาที่เร่งรีบ ไม่ว่างจากการทำงาน เพียงกดเข้าแอปพลิเคชันก็เลือกร้าน เลือกเมนู และจัดส่งได้เลย ก็สามารถรอทานอาหารได้เลย ในปี 2562 การเติบโตของยอดการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชันเพิ่มมากขึ้นมีจำนวนผู้ให้บริการเพิ่มขึ้น การให้บริการการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชันมีโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดใจผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีการใช้บริการการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชันมากกว่า 20 ล้านครั้ง โดยการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชัน มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้เหตุผลการเลือกใช้แอปพลิเคชันในการจัดส่งอาหารหรือเครื่องดื่ม อันดับหนึ่งคือ มีโปรโมชั่นลดราคาอาหาร ร้อยละ 22.3 อันดับที่สองคือ แอปพลิเคชันใช้งานง่าย ร้อยละ 18.1 อันดับที่สามคือ ความสะดวกสบาย ร้อยละ 12.7 อันดับที่สี่คือ มีร้านอาหารให้เลือกเยอะ ร้อยละ 12.4 อันดับที่ห้าคือ ลดเวลาในการเดินทาง ร้อยละ 10.0

ในหนึ่งเดือนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการใช้บริการการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชัน 3 – 4 ครั้ง เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 29.2 อันดับที่สองคือ 1 – 2 ครั้ง ร้อยละ 22.3 อันดับที่สามคือ 5 – 6 ครั้ง ร้อยละ 20.8 และมีการใช้จ่ายต่อครั้งในเลือกสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชัน 101 – 300 บาท เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 33.8 อันดับที่สองคือ 301 – 500 บาท ร้อยละ 25.4 อันดับที่สามคือน้อยกว่า 100 บาท ร้อยละ 19.2

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการใช้แอปพลิเคชันในการจัดส่งอาหารหรือเครื่องดื่มประเภท อาหารไทย / อาหารอีสาน เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 37.2 อันดับที่สองคือ อาหารฝรั่ง / ฟาสต์ฟู๊ด ร้อยละ 23.7 อันดับที่สามคือ กาแฟ / ชานมไข่มุก ร้อยละ 12.8 อันดับที่สี่คือ อาหารญี่ปุ่น / ซูชิ ร้อยละ 10.8 อันดับที่ห้าคือ ของหวาน เค้ก เบเกอรี่ ร้อยละ 10.7 และมีการชำระค่าสินค้าในการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชันโดย เก็บเงินปลายทาง / เงินสด เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 46.3 อันดับที่สองคือ โอนเงิน/หักบัญชีธนาคาร ร้อยละ 20.3 อันดับที่สามคือ ผ่านบัตรเครดิต/เดบิต ร้อยละ 17.9

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยใช้บริการการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชัน อันดับหนึ่งคือ แกร็บฟู๊ด (Grab Food) ร้อยละ 36.2 อันดับที่สองคือ เก็ท (GET) ร้อยละ 24.6 อันดับที่สามคือ ฟู๊ดแพนด้า (FoodPanda) ร้อยละ 19.1 อันดับที่สี่คือ ไลน์แมน (Line Man) ร้อยละ 15.1 อันดับที่ห้าคือ แซ็ปเดลิเวอรี่ (ZabDelivery) ร้อยละ 4.7การชำระค่าสินค้า การสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชัน อันดับหนึ่งคือเก็บเงินปลายทาง / เงินสด ร้อยละ 46.3 อันดับที่สองคือ โอนเงิน/หักบัญชีธนาคาร ร้อยละ 20.3 อันดับที่สามคือ ผ่านบัตรเครดิต/เดบิต ร้อยละ 17.9 อันดับที่สี่คือ PROMPT PAY (พร้อมเพย์) ร้อยละ 8.1 อันดับที่ห้าคือ Line Pay ร้อยละ 7.0

พบปัญหาที่พบในการใช้งานแอปพลิเคชันในการจัดส่งอาหารหรือเครื่องดื่ม อันดับหนึ่งคือ การจัดส่งไม่ตรงเวลา ร้อยละ 25.7 อันดับที่สองคือ แอปลิเคชันใช้งานยาก ร้อยละ 22.0 อันดับที่สามคือ ราคาอาหารไม่ตรงตามที่ระบุ ร้อยละ 16.3 อันดับที่สี่คือ พนักงานไม่สุภาพ ร้อยละ 15.9 อันดับที่ห้าคือ ค่าจัดส่งราคาแพง ร้อยละ 14.2